ใกล้สิ้นปี คนทำงานคำนวณภาษีอย่างไรให้คุ้มค่ามากที่สุด

1,717 0

ใกล้สิ้นปี คนทำงานก็จะต้องเริ่มคิดเรื่องภาษีกันแล้ว ซึ่งหากมีการเตรียมการอย่างดี ก็จะเป็นประโยชน์กับตัวเองอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีต่างๆ ที่จะช่วยบรรเทาภาระภาษีให้น้อยลง และยังทำให้ไม่ต้องชำระภาษีเพิ่ม หรือต้องเสียเบี้ยปรับโดยใช่เหตุ ส่งผลให้ประหยัดเงินได้มากขึ้น แถมบางกรณีอาจได้เงินคืนไม่น้อยทีเดียว

เทคนิคการวางแผนภาษีให้คุ้มค่ามากที่สุด

• รู้ประเภทเงินได้และค่าใช้จ่ายของตัวเอง
รายได้ที่นำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีมีอยู่ 8 ประเภท โดยแบ่งตามอาชีพและต้นทุนในการประกอบอาชีพที่แตกต่างกัน เพื่อความเป็นธรรมในการคำนวณและจ่ายภาษี แต่มีหลายกรณีที่เงินได้ของบุคคลถูกจัดว่าเป็นเงินได้หลายประเภท ซึ่งขึ้นอยู่กับลักษณะสัญญาการจ้างงานหรือข้อตกลงทางธุรกิจที่มี เพราะฉะนั้นควรทำความเข้าใจประเภทของเงินได้ของตัวเอง หลักเกณฑ์ที่ใช้ในการจำแนกประเภทของเงินได้ เพื่อสามารถหักค่าใช้จ่ายได้อย่างคุ้มค่าที่สุด
8 ประเภทเงินได้
1. รายได้จากการจ้างแรงงาน
2. รายได้จากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือการรับทำงานให้
3. รายได้จากทรัพย์สินทางปัญญา
4. รายได้ที่เป็นดอกผลหรือผลตอบแทน
5. รายได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน การผิดสัญญาเช่าซื้อ การผิดสัญญาซื้อขายเงินผ่อน
6. รายได้จากวิชาชีพอิสระ
7. รายได้จากการรับเหมาพร้อมอุปกรณ์และสัมภาระ
8. รายได้จากการประกอบธุรกิจ หรือรายได้อื่นๆ นอกจากที่ระบุไว้ในประเภทที่ 1-7

โดยรายได้ทั้ง 8 ประเภทนี้จะมีการหักค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกัน เช่น รายได้จากการจ้างแรงงาน จะสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 50% หรือไม่เกิน 100,000 บาท (หากมีเงินได้ประเภทที่ 1 และ 2 ให้นำเงินได้ทั้งสองประเภทรวมกัน แต่หักได้ไม่เกิน 100,000 บาท) รายได้จากทรัพย์สินทางปัญญาหักได้ 50% ไม่เกิน 100,000 บาทหรือตามจริง เป็นต้น

• รู้ค่าลดหย่อน เพื่อนำมาใช้ลดภาษี โดยสิทธิลดหย่อนแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ
- สิทธิลดหย่อนขั้นพื้นฐานของชีวิต เช่น ค่าดูแลพ่อแม่และบุตร
- สิทธิลดหย่อนเพื่อการออมและลงทุน เช่น กองทุนประกันสังคม, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.), กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.), กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF), กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และประกันชีวิต เป็นต้น
- สิทธิลดหย่อนเพื่อการบริจาคเงินให้องค์กรการกุศลหรือสนับสนุนการศึกษา
นอกจากสิทธิลดหย่อนเหล่านี้ในแต่ละปีภาครัฐอาจมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการให้สิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี เพราะฉะนั้นจึงควรติดตามข่าวสารอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ไม่พลาดใช้สิทธิลดหย่อนเพิ่มเติมต่างๆ

• เรียนรู้วิธีการคำนวณภาษี
หลักการคือให้นำรายได้ทั้งปี มาหักค่าใช้จ่ายตามประเภทรายได้ และหักค่าลดหย่อนต่างๆ จากนั้นเงินสุทธิที่ได้ให้นำมาคำนวณภาษีในอัตราก้าวหน้า หากมีรายได้สุทธิต่อปีไม่เกิน 150,000 บาทจะได้รับการยกเว้นภาษี โดยเป็นวิธีที่ใช้สำหรับผู้มีรายได้ประเภทเงินเดือนเป็นหลัก สำหรับผู้ที่มีรายได้ประเภทอื่นๆ จะต้องคำนวณอีกวิธีหนึ่งเพื่อเปรียบเทียบกัน โดยนำรายได้ทั้งปีก่อนหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน หรือที่เรียกกันว่า ‘รายได้พึงประเมิน’ มาคูณด้วยอัตราภาษี 0.5% หากวิธีใดต้องจ่ายเงินภาษีสูงกว่าให้เสียภาษีด้วยวิธีนั้น

• รู้ช่องทางการยื่นภาษี
เมื่อคำนวณแล้วพบว่าอาจได้รับเงินคืนภาษี ต้องกรอกรายละเอียดและลงลายมือชื่อผู้ขอคืนอย่างชัดเจน รวมทั้งเตรียมเอกสารที่ต้องแนบเป็นหลักฐานให้เรียบร้อยก่อน โดยควรยื่นแบบแสดงรายการตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมกราคม เพราะจะทำให้ได้เงินคืนภาษีเร็ว เนื่องจากยังเป็นช่วงที่คนยื่นน้อย และถ้าไม่อยากเสียค่าปรับ 1.5% ต่อเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ ก็อย่ายื่นแบบแสดงรายการช้าเกินกว่าเดือนมีนาคมเป็นอันขาด

รู้อย่างนี้แล้วควรเตรียมเอกสารและตรวจสอบสิทธิลดหย่อนภาษีของตัวเองเสียแต่เนิ่นๆ เพื่อการจ่ายภาษีอย่างคุ้มค่า และประหยัดเงินได้มากที่สุด

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย