เทคนิคดูแลบ้านหลังโดนน้ำท่วม ฉบับเข้าใจง่าย สำหรับคนเพิ่งผ่านวิกฤต

41 0

เจอฝนตกหนัก น้ำท่วมใหญ่ จนสร้างความเสียหายให้กับบ้านและทรัพย์สินแบบไม่ทันตั้งตัว ถือเป็นสิ่งที่บั่นทอนกำลังใจผู้อยู่อาศัยไม่น้อย แต่ชีวิตยังต้องดำเนินต่อไป หลังน้ำลด เราต้องลุกขึ้นมากู้บ้านแสนรักให้กลับคืนมาเร็วที่สุด “ตลาดนัดบ้านมือสอง” เลยรวบรวมเทคนิคดูแลบ้านหลังโดนน้ำท่วม แบบเข้าใจง่าย สำหรับคนเพิ่งผ่านวิกฤตมาฝากกัน



1.ประเมินสถานการณ์และความปลอดภัย

ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยไว้ก่อน ดังนั้นอย่าเพิ่งใจร้อนรีบเข้าไปในบ้านหลังน้ำลดทันที เพราะอาจมีอันตรายจากไฟฟ้ารั่ว โครงสร้างบ้านที่ไม่มั่นคง หรือสัตว์มีพิษหลบซ่อนอยู่ โดยสิ่งที่ควรทำคือ

• ตรวจสอบระบบไฟฟ้าเบื้องต้น ตัดไฟฟ้า หากพบสายไฟชำรุด

• สวมใส่รองเท้าบูทยาง ถุงมือยาง เพื่อป้องกันเชื้อโรคในการเข้าไปตรวจสอบบ้าน

• ถ่ายรูป/วิดีโอ สภาพบ้านและความเสียหาย เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการเคลมประกัน (หากมี)



2. ไล่ตะกอนและฆ่าเชื้อโรค

น้ำท่วมมักพัดพาเอาโคลน ตะกอน สิ่งสกปรก และเชื้อโรคเข้ามาในบ้าน ดังนั้นขั้นตอนนี้จึงสำคัญมาก ต้องล้างทำความสะอาดบ้านอย่างละเอียด เพื่อสุขอนามัยที่ดี และป้องกันเชื้อราในระยะยาว โดยวิธีการที่ควรทำคือ

• เปิดประตูหน้าต่างเพื่อระบายอากาศ ให้อากาศถ่ายเทอย่างทั่วถึง

• กำจัดสิ่งของที่เปียกชื้น ไม่สามารถใช้งานได้แล้วออกจากบ้าน เช่น เฟอร์นิเจอร์ พรม ผ้าม่าน

• ใช้ไม้กวาดยาง กวาดน้ำ ขจัดคราบโคลนออกจากพื้นผิวต่าง ๆ

• ผสมน้ำยาฆ่าเชื้อโรค เช็ดทำความสะอาดพื้น ผนัง เพดาน ซ้ำอีกครั้ง แนะนำว่าควรเลือกใช้น้ำยาทำความสะอาดและฆ่าเชื้อที่เหมาะสม สามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญได้



3. ไล่ความชื้น ป้องกันเชื้อรา

ความชื้นถือเป็นสาเหตุหลักของเชื้อราและกลิ่นอับ ดังนั้นหลังน้ำลด ควรไล่ความชื้นให้หมดจด ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการดูแลบ้านหลังน้ำท่วม และหากพบเชื้อราบนผนังหรือพื้นผิวต่าง ๆ ควรรีบขจัดออกโดยเร็วที่สุด

วิธีการคือ



• ใช้พัดลม เครื่องเป่าลม หรือเปิดเครื่องปรับอากาศ ช่วยไล่ความชื้นออกจากบ้าน

• เปิดตู้เสื้อผ้า ลิ้นชัก ให้อากาศถ่ายเท

• ผึ่งแดด เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ยังสามารถใช้งานได้



4. ตรวจสอบและซ่อมแซม

หลังจากบ้านสะอาดและแห้งแล้ว ถึงเวลาสำรวจความเสียหายอย่างละเอียด เพื่อวางแผนซ่อมแซม หากบ้านได้รับความเสียหายหนัก ควรปรึกษาช่างผู้เชี่ยวชาญ เพื่อประเมินความเสียหายและวางแผนซ่อมแซมอย่างถูกวิธี

• ระบบไฟฟ้า ตรวจสอบระบบไฟฟ้า สายไฟฟ้า สวิตช์ ปลั๊กไฟ หากพบความเสียหาย ควรให้ช่างไฟฟ้าผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ดำเนินการ

• ระบบประปา ตรวจสอบท่อประปา ก๊อกน้ำ ว่ามีการรั่วซึมหรือไม่

• โครงสร้างบ้าน สำรวจรอยร้าว ผนังแตกร้าว เพดานรั่วซึม พื้นทรุด



5. ป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ!

การป้องกันย่อมดีกว่าแก้ไขเสมอ หลังจากฟื้นฟูบ้านเรียบร้อยแล้ว ลองพิจารณาวิธีป้องกันน้ำท่วมเพื่อรับมือกับเหตุการณ์ในอนาคต

• ยกระดับพื้นบ้าน อาจเป็นการลงทุนที่สูง แต่ก็นับว่าคุ้มค่าในระยะยาว

• สร้างกำแพงกั้นน้ำ กำแพงคอนกรีต กำแพงอิฐบล็อก หรือแนวกระสอบทราย ช่วยชะลอน้ำท่วม

• ติดตั้งวาล์วป้องกันน้ำย้อนกลับ ซึ่งเป็นวิธีที่ดีในการป้องกันน้ำเน่าเสียจากท่อระบายน้ำไหลย้อนกลับเข้าบ้าน

• จัดเตรียมอุปกรณ์ฉุกเฉินให้พร้อม เช่น ไฟฉาย ถ่านไฟฉาย ยาสามัญประจำบ้าน น้ำดื่ม



การดูแลบ้านหลังน้ำท่วม อาจใช้เวลาและความอดทน แต่เชื่อเถอะว่า บ้านที่กลับมาแข็งแรงและปลอดภัย จะช่วยเยียวยาจิตใจให้เราผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้อย่างเข้มแข็ง สำหรับคนที่กำลังมองหาบ้านมือสอง อย่าลืมใส่ใจเรื่องประวัติการโดนน้ำท่วมเป็นพิเศษ ลองสอบถามข้อมูลจากเจ้าของบ้านเดิม หรือเพื่อนบ้านใกล้เคียง รวมถึงสังเกตร่องรอยการซ่อมแซม เช่น คราบน้ำ รอยเชื้อราบนผนัง หรือเลือกซื้อบ้านมือสองจากบริษัทรับซื้อขายบ้านมือสองที่น่าเชื่อถือ ก็เป็นอีกทางเลือกที่ปลอดภัยกว่า

แท็ก:
คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย