เลือกบ้านมือสองยังไง? ไม่ให้เจ็บภายหลัง

2,965 0

สำหรับคนหนุ่มสาวที่มีงานทำเป็นหลักแหล่งแล้ว เป้าหมายต่อไปก็คือ การมีบ้านเป็นของตัวเอง แต่เนื่องจากตลาดอสังหาริมทรัพย์ทุกวันนี้ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ราคาค่าอสังหาริมทรัพย์พุ่งสูงขึ้นทุกวัน ทำให้เป็นเรื่องยากที่คนรุ่นใหม่จะสู้ราคาบ้านมือหนึ่งไหว ด้วยเหตุนี้เอง การซื้อบ้านมือสองจึงเป็นอีกทางเลือกสำหรับคนรุ่นใหม่ที่ต้องการมีบ้าน แต่ก่อนตัดสินใจ อยากให้ลองนำวิธีการตรวจสอบบ้านมือสองที่แนะนำนี้ไปใช้ดู เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการเจ็บใจในภายหลัง

1.ทำเลดี
ที่ตั้งของบ้านพักอาศัย ถือเป็นสิ่งที่สำคัญอันดับแรกที่ควรจะใช้พิจารณา โดยทำเลที่ตั้งที่ดีควรมีระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็น ระบบไฟฟ้า น้ำประปา เครือข่ายการสื่อสาร ตั้งอยู่ใกล้ที่ทำงานที่ท่านเดินทางได้สะดวกรวดเร็ว หรืออย่างน้อยที่สุดก็ต้องมีระบบขนส่งสาธารณะ เช่น รถเมล์ รถไฟฟ้า และทางด่วน ที่ช่วยให้เดินทางไปทำงานได้สะดวกสบาย มีสภาพแวดล้อมที่ดี ไม่อยู่ใกล้โรงงานหรือสถานประกอบการที่ปล่อยควันพิษของเสียและมีเสียงรบกวน ที่สำคัญที่สุดก็คือจะต้องมีความปลอดภัย ไม่อยู่ในย่านที่อันตรายและเสี่ยงภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน ข้อดีของการเลือกบ้านมือสอง คือ ช่วยเพิ่มโอกาสให้คุณสามารถเลือกซื้อบ้านในทำเลที่ตั้งที่ดีได้ในราคาประหยัด หรือถูกลง

2.ตรวจสอบสภาพบ้าน
เพื่อให้มั่นใจว่าบ้านมือสองอยู่ในสภาพดี ควรมีการตรวจสอบสภาพบ้าน โดยเริ่มตั้งแต่บริเวณรอบนอกของบ้าน ดูว่ามีคนพักอาศัยอยู่ก่อนแล้วหรือไม่ ติดสัญญาเช่าหรือเปล่า ผู้เช่าดูแลบ้านได้ดีหรือไม่ อย่างไร หากเป็นบ้านมือสองที่ถูกทิ้งร้างไว้ต้องตรวจสอบโดยละเอียดตั้งแต่บริเวณหน้าบ้านหรือรั้วบ้าน ลานจอดรถและลานซักล้าง ดูพื้นดินหรือซีเมนต์ว่าอยู่ในสภาพดีหรือเปล่า มีสภาพทรุดโทรม หรือว่ามีแอ่งน้ำขัง น้ำรั่วซึมหรือไม่ มีต้นไม้ใหญ่ที่มีรากชอนไชไปทั่วบริเวณไหม หากข้างบ้านมีการขุดบ่อน้ำ หรือสระไว้ ดูให้ดีว่าพื้นดินของบ้านมือสองที่ตรวจสอบนั้นมีโอกาสที่น้ำจะท่วม หรือดินทรุดหรือไม่ จากนั้นให้เริ่มดูในตัวบ้าน ระบบน้ำประปามีการเสื่อมสภาพน้ำรั่วซึมหรือไม่ ถ้าปิดวาล์วน้ำแล้วแต่มิเตอร์วิ่งอยู่ แสดงว่ามีโอกาสอย่างมากที่จะมีน้ำรั่วซึม ตรวจสอบระบบไฟฟ้าว่ายังดีหรือได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะสายไฟและแผ่นฉนวนกันไฟฟ้าต่างๆ โครงสร้างของตัวบ้านยังดีไม่เอนเอียง และทรุดโทรมแต่อย่างใด

3.ราคาบ้านถูกกว่าตลาด
ราคาซื้อขายบ้านมือสองจะมีราคาที่เกี่ยวข้อง 3 ราคาด้วยกัน นั่นก็คือ ราคาบ้านและที่ดินตามการประเมินของกรมที่ดิน ซึ่งสามารถตรวจสอบราคาเบื้องต้นได้ในเว็บไซต์ของกรมที่ดิน ราคาต่อไปคือราคาประเมินของเอกชน ซึ่งจัดทำขึ้นจากบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หรือจากธนาคารสถาบันทางการเงินต่างๆ เพื่อใช้ประกอบพิจารณาการปล่อยให้กู้เช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ ส่วนราคาสุดท้ายคือซื้อขายจริงตามท้องตลาด ซึ่งเราสามารถตรวจสอบได้ด้วยการสำรวจพื้นที่จริงและสอบถามจากผู้คนในบริเวณดังกล่าว รวมทั้งการตรวจสอบจากเว็บไซต์ต่าง ๆ อย่าง http://www.taladnudbaan.com ซึ่งมีการประกาศลงขายบ้านมือสอง ที่ทำให้เราพอทราบราคาคร่าวๆ ว่า บ้านมือสองในทำเลที่ตั้ง ประเภทและขนาดที่เรากำลังจะซื้อนั้นควรจะมีราคาตามท้องตลาดอยู่ที่ประมาณเท่าไหร่ จากนั้นจึงเป็นการต่อรองราคากับผู้ขายเพื่อให้ได้ราคาที่ต่ำกว่าท้องตลาดให้ได้มากที่สุดต่อไป

4.ยื่นกู้ดอกเบี้ยต่ำ
โดยปกติสถาบันทางการเงินมักจะให้กู้เป็นวงเงินประมาณ 90% ราคาประเมิน และหากเป็นกรณีบ้านมือสอง จะประเมินตามสภาพของตัวบ้าน ดังนั้นผู้กู้จะต้องพิจารณาสถาบันทางการเงินที่จะทำการกู้ ว่าสถาบันการเงินแต่ละแห่งนั้นมีวงเงินให้กู้สูงสุดเท่าใด ระยะเวลาการกู้และผ่อนชำระยาวนานเพียงใด รวมทั้งมีดอกเบี้ยในการปล่อยกู้สินเชื่อให้เช่าซื้อบ้านมือสองเป็นจำนวนเท่าใด ทั้งนี้ผู้ที่ทำงานเป็นพนักงานประจำในบริษัท หรือองค์กรต่างๆ รวมทั้งหน่วยงานราชการ ควรจะสอบถามไปยังฝ่ายสวัสดิการ หรือการเงินของหน่วยงานตนเองว่ามีข้อตกลงเกี่ยวกับสิทธิดอกเบี้ยราคาถูกเป็นพิเศษกับธนาคารหรือสถาบันทางการเงินไว้หรือไม่ ซึ่งจะช่วยให้มีโอกาสกู้เงินเพื่อซื้อบ้านมือสองได้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าปกติทั่วไป

ในการตรวจสอบสภาพตัวบ้านมือสอง หากเป็นไปได้เพื่อความแน่ใจคุณควรจะขอคำปรึกษา หรืออาจจ้างช่างผู้เชี่ยวชาญในการก่อสร้างและตกแต่งบ้านไปช่วยในการตรวจสอบสภาพบ้านมือสองว่าน่าซื้อหรือไม่ ก่อนจะตัดสินใจซื้อ เพื่อให้ได้บ้านมือสองที่ดีและเหมาะสมกับตนเองต่อไป

Click icon to remove from or add to favorite list
Click to choose and click "Compare" button