ไฮสปีดเทรนเชื่อม3สนามบิน ลุ้นเดดไลน์บัตรส่งเสริมBOI

23 ก.พ. 2567 530 3

 

   “พฤษภาคม” เส้นตาย รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน หลังโครงการยืดเยื้อนานถึง 4 ปีก่อสร้าง ไม่คืบหน้า เปิด 4 ข้อเสนอ “เอเชีย เอรา วัน” ขอแก้ไขสัญญาร่วมทุน เปิดทางหากเจรจาไม่สำเร็จ อาจนำไปสู่การตัดเงื่อนไข ต้องได้บัตรส่งเสริมการลงทุน จึงจะออกหนังสือให้เริ่มงานก่อสร้าง (NTP) จากสัญญาร่วมทุน ได้หรือไม่ วัดใจบริษัทจะทำต่อหรือเลิกทำ เหตุเป็นโครงการหลักส่งผลกระทบต่อโครงการลงทุนใน EEC ต่อเนื่อง ทั้งสนามบิน อู่ตะเภา กับเมืองการบินภาคตะวันออก

    โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ- อู่ตะเภา) มูลค่า 224,544 ล้านบาท แม้จะมีการลงนามในสัญญาร่วมทุนระหว่าง การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กับบริษัท เอเชีย เอรา วัน ในฐานะเอกชนคู่สัญญามาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564

    แต่จนแล้วจนรอด โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินก็ยังไม่มีการตอกเสาเข็มเพื่อเริ่มการก่อสร้างงานโยธาได้ ทั้ง ๆ ที่ คณะกรรมการส่งเสริม การลงทุน (BOI) มีมติให้การส่งเสริมการลงทุนกับบริษัท เอเชีย อารา วัน ไปตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563 แต่บริษัทได้ขอขยายเวลาการออกบัตร ส่งเสริมมาแล้วถึง 2 ครั้ง โดยครั้งล่าสุด BOI ได้รับพิจารณาอุทธรณ์ของบริษัท เอเชีย เอรา วัน เป็นครั้งที่ 3 และมีมติให้ขยายเวลาการออกบัตรส่งเสริมให้จนถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2567 ถือเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่จะยกเลิกการส่งเสริมการลงทุนโครงการนี้

    ทั้งนี้การรับบัตรส่งเสริมการลงทุนของ บริษัท เอเชีย เอรา วัน ถือเป็นเงื่อนไขสำคัญในการที่ ร.ฟ.ท.จะออกหนังสือให้เอกชนเริ่มงาน (NTP หรือ Notice to Proceed) ซึ่งถือเป็นหมุดหมายสำคัญในการเริ่มก่อสร้างโครงการ โดยระบุไว้ในสัญญาร่วมทุนที่ว่า จะต้องมีบัตรส่งเสริมการลงทุน มาแสดง ร.ฟ.ท.จึงจะออก NIP ได้ ดังนั้นการไม่มายื่นเอกสารการดำเนินการของบริษัทเพื่อออก “บัตรส่งเสริม การลงทุน” จึงเป็นเหตุให้โครงการไม่มีความคืบหน้าทางด้านงานโยธามาตลอดระยะเวลา 4 ปีเต็ม

     ขยายออกบัตรครั้งสุดท้าย

     นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ของบริษัท เอเชีย เอรา วัน ได้รับการขยายเวลาการออกบัตรส่งเสริมการลงทุน เป็นรอบที่ 3 จาก คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ไปแล้ว จนถึงเดือนพฤษภาคม 2567 “ถือเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว” หากโครงการรถไฟความเร็วสูงโครงการนี้ยังไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ หรือโครงการเลยกรอบระยะเวลาที่จะต้องลงทุนไปมาก “มันก็ไม่สามารถไปต่อได้”

     “รถไฟความเร็วสูงจะช่วยให้โปรเจ็กต์ อื่น ๆ อย่างกรณีสนามบินการเดินทางไปอู่ตะเภา ไปภาคตะวันออกจากกรุงเทพฯถึงภายใน 1 ชั่วโมง เป็นเรื่องการพัฒนาระบบขนส่ง การเข้าถึงในพื้นที่ภาคตะวันออกได้ง่ายขึ้น ถ้าไม่มีรถไฟความเร็วสูงก็จะต้องใช้เวลาการเดินทางมากขึ้น ถึงใช้ถนนใช้มอเตอร์เวย์ก็ใช้เวลา 2-3 ชั่วโมง มันจึงเป็นระบบคมนาคมขนส่งที่ทำให้การเดินทางเชื่อมต่อสะดวกขึ้น”

     ที่ผ่านมา สกพอ.หารือกับ บริษัท เอเชีย เอรา วัน มาตลอดว่า “ติดขัดอะไรจะทำต่อมั้ย” เขาก็แจ้งว่า กำลังเจรจาเพื่อขอแก้ไขสัญญาร่วมทุน อย่างเมื่อสัปดาห์ที่แล้วบริษัทก็ยื่นข้อสนอเข้ามา มีประเด็นที่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงข้อความในสัญญาบางอย่าง ภาระหน้าที่บางอย่างที่บริษัททำไม่ได้ เนื่องจากว่า โปรเจ็กต์มันอาจจะไม่มีความเป็นไปได้ของโครงการ สถานการณ์ปัจจุบันไม่เหมือนกับตอนที่บริษัทชนะประมูลมา ทั้งจากสถานการณ์โควิด-19 ดังนั้นบริษัทก็เลยพยายามอยากจะปรับในบางส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องการปฏิบัติตามสัญญาร่วมทุน

     “ทั้งหมดนี้เราเจรจากันมาตลอด แต่ก็ยังสรุปไม่ได้ แต่ละฝ่ายไม่คืบเพราะที่ผ่านมาเราบอกว่า มันยังไม่ถึงขนาดนั้น ประเด็นก็คือ ตอนชนะประมูล เราก็มีกติกาเขียนไว้ในสัญญา เขาก็บอกว่า ทำได้ ทำได้หมดเลย พอมาถึงตอนนี้สถานการณ์มันเปลี่ยนทั้งสภาพเศรษฐกิจ ผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19 ก็จะมาแก้ไขสัญญาร่วมทุน” นายจุฬากล่าว

      กระทบสนามบิน - เมืองการบิน

      ต่อข้อถามที่ว่า การขยายเวลาขอรับบัตรส่งเสริมการลงทุนครั้งนี้ ถือเป็นการขีด “เส้นตาย” ให้ บริษัท เอเชีย เอรา วัน เริ่มต้นงานก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินหรือไม่นั้น นายจุฬากล่าวว่า “ยังไม่ถึงขนาดนั้น” เนื่องจากในกระบวนการก็ต้องมาหารือกันว่า สิ่งที่บริษัทต้องการคืออะไร ก็จะมีการเจรจากัน มีคณะบริหารสัญญา เข้าคณะกรรมการเข้าบอร์ดรถไฟ แต่การที่บริษัทไม่มีรายได้ จากช่วงที่เกิดโควิด-19 ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ขอแก้สัญญา เพราะผลการศึกษาของบริษัทก่อนที่จะเข้าร่วมการประมูลได้ทำไว้ตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด-19

     “ถ้าเราแก้ไขสัญญาตามที่บริษัทอยากจะได้ เขาก็ไปต่อ แต่เขาก็ไม่ได้บอกว่า ถ้าเขาไม่ได้เขาจะไม่ไปต่อ ที่ขอแก้สัญญาก็จะมีเรื่องเกี่ยวกับแอร์พอร์ตลิงก์ การจ่ายเงินค่าตอบแทนให้เร็วขึ้นเมื่อก่อสร้างเสร็จ หรือถ้ามีการก่อสร้างบางส่วนมีความก้าวหน้าแล้วให้ทยอยจ่ายเลย ซึ่งมันจะทำให้รัฐจ่ายเงินในภาพรวมมันลดน้อยลง 20% หรือประมาณ 20,000 ล้านบาท ดังนั้นบริษัทต้องเจรจากับการรถไฟฯว่า จะรับเงื่อนไขนี้เหล่านี้ได้หรือไม่” นายจุฬากล่าว

     ส่วนผลกระทบโครงการที่ล่าช้าออกไปนั้น นายจุฬากล่าวว่า จะส่งผลกระทบต่อแผนการดำเนินงานการลงทุนของโครงการอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ในแง่ของจำนวนผู้โดยสารที่จะเข้ามาใช้บริการก็จะไม่เป็นไปตามแผนที่ศึกษากันไว้

     “การที่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินไม่เริ่มทำซักทีก็จะกระทบกับโครงการต่อเนื่องอื่น ๆ อย่างที่คาดการณ์ว่า สนามบินเมื่อมีรถไฟเชื่อมเข้ามาปริมาณคนเข้ามาใช้บริการผ่านสนามบินอู่ตะเภา ก็จะเพิ่มมากขึ้น เพราะนั่งรถไฟความเร็วสูงไปอีกชั่วโมงเดียวก็ถึงกรุงเทพฯแล้ว ในส่วนตรงนี้ก็หายไป การบริการที่จะเปิดในสนามบินอู่ตะเภาก็จะหายไป ภาคบริการการท่องเที่ยวหายไป หรือกรณีที่มีการพัฒนาโดยรอบตามสถานีรถไฟความเร็วสูงที่วางเอาไว้ก็หายไปด้วยราคาที่ดินที่หลายคนที่คิดว่ารถไฟมาแล้ว มันจะมีมูลค่าสูงขึ้นก็อาจจะไม่เป็นไปตามนั้น มันกระทบกับการเติบโตเศรษฐกิจในพื้นที่ตามเส้นทางรถไฟ กระทบการเติบโตทางกายภาพของเมือง เพราะพอเกิดโครงการนี้ก็มีการลงทุนมารองรับ อย่างคอนโดฯหรือโครงการพัฒนาที่ดินต่าง ๆ” นายจุฬากล่าว

      เปิดข้อเสนอเอเชีย เอรา วัน

       มีรายงานข่าวเข้ามาว่า ข้อเสนอบริษัท เอเชีย เอรา วัน ขอแก้ไขสัญญาร่วมทุน ประกอบไปด้วย 1) แอร์พอร์ตลิงก์ ขอผ่อนจ่ายนานกว่าที่เคยตกลงกันไว้ หรือจาก 1 งวด 10,671 ล้านบาท เป็น 7 งวด โดย 1-6 งวดละ 1,067 ล้านบาท และงวดที่ 7 ส่วนที่เหลือจ่ายพร้อมดอกเบี้ย 2) เงินค่าตอบแทนที่รัฐต้องจ่ายในปีที่ 6 หลังจากเริ่มวิ่งเดินรถไฟความเร็วสูงแล้ว ขอทยอยจ่ายได้หรือไม่ หรือสร้างไปจ่ายไป 3) การโอนทรัพย์สินจะให้เป็นของรัฐบาลเลย ในลักษณะส่วนที่ได้ก็ส่งมอบให้ รัฐจะได้ Asset คืนมาจากการจ่ายเงิน และ 4) อยากให้รัฐเตรียมการในกรณีที่อาจมีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง ขอให้ช่วยหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำมาช่วย

      การขยายระยะเวลาการยื่นเอกสารเพื่อขอรับบัตรส่งเสริมการลงทุน ในส่วนของการรถไฟฯ และ สกพอ.นั้น “ไม่เห็นด้วย” ขณะที่ทาง BOI เห็นว่า ยังสามารถเจรจากันต่อได้ การที่ไม่เห็นด้วยนั้นเพราะจะทำให้กระทบกับโครงการอื่น รถไฟความเร็วสูงเชื่อมติดไปกับ สนามบินอู่ตะเภา เป้าหมายของสนามบินก็คือ รองรับนักท่องเที่ยว “เป็นความล่าช้าที่เกิดขึ้นมา 4 ปีแล้ว ไม่ใช่ 2-3 เดือน” เพราะการยื่นเอกสาร บริษัท เอเชีย เอรา วัน ขอยืดมาเป็นปีแล้ว ดังนั้นการที่ BOI ยอมขยายระยะเวลาการยื่นเอกสารเพื่อรับบัตรส่งเสริมการลงทุน วัตถุประสงค์ก็คือ ต้องยื่นเอกสารรับบัตรส่งเสริมในเวลาไม่เกินวันที่ 22 พ.ค. เพราะ “ถ้าบริษัทไม่ยื่น โครงการก็ไปต่อไม่ได้”

     ถึงตอนนั้น สกพอ. กับการรถไฟฯ จะมาพิจารณาต่อไปว่า สามารถที่จะออก “หนังสือให้เอกชนเริ่มดำเนินงาน (NTP) ได้หรือไม่” ตรงนี้อาจต้องมองไปที่ตัวเจตนาว่า จะทำหรือไม่ทำ “เราก็จะตัดในตัวสัญญาเรื่องบัตรส่งเสริมออกเพื่อที่จะกำหนดวันให้บริษัทเริ่มทำได้ก็คือ การบริหารสัญญาตามปกติ เหมือนกับว่า เราต้องดูพฤติกรรมว่า บริษัทจะได้ใช้ความพยายามที่จะดำเนินการให้มันเกิดความก้าวหน้าหรือไม่ สกพอ.ต้องบริหารสัญญาเองก็ต้องรู้ว่า จะเอายังไง เพราะมันเป็นเรื่องการดำเนินโครงการ ซึ่งการรถไฟฯเองก็เสียประโยชน์เหมือนกัน

    “ตามสัญญาร่วมทุนเราจะเห็นโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะเดินหน้าได้ก็ต่อเมื่อมีการออกบัตรส่งเสริมการลงทุน แต่หากบัตรส่งเสริมไม่ได้แล้วเพราะมันเป็นข้อกฎหมาย ข้อนั้นจะต้องสละไปได้หรือไม่ (แก้ไขสัญญาร่วมทุนในข้อนี้) ถ้าบริษัทไม่ยื่นเอกสารตามเวลาที่กำหนด บริษัทก็แค่จะไม่ได้รับส่งเสริมการลงทุนตอนที่คุณมีรายได้จากการเดินรถไฟเข้ามา ตอนนี้จึงอยู่ที่ว่า จะทำต่อหรือไม่ทำโครงการต่อ ไม่ใช่เรื่องว่า จะเอาสิทธิประโยชน์จากใคร จาก BOI หรือ EEC จะยื่นที่ EEC หรือยื่น BOI ใหม่” แหล่งข่าวกล่าว

     BOI รอ “เอรา วัน” ยื่นเอกสาร

    ด้าน นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวว่า หลังจากที่ทาง สกพอ.ได้แนะนำให้ บริษัท เอเชีย เอราวัน จำกัด ซึ่งเป็นผู้ดำเนินโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มายื่น “อุทธรณ์” ต่อ BOI เพื่อขอให้ “ทบทวนคำสั่ง” ไม่อนุมัติให้ขยายเวลาในการส่งเอกสารประกอบการออกบัตรส่งเสริมเป็นครั้งที่ 3 ทาง BOI ได้พิจารณารายละเอียดของเอกสารและเชิญบริษัท เอเชีย เอรา วัน มาหารือเพื่อให้ข้อมูลเพิ่มเติม อีกทั้งยังได้ประชุมร่วมกับ สกพอ. และ ร.ฟ.ท. ในประเด็นความตั้งใจที่ของ บริษัท เอเชีย เอรา วัน ที่จะลงทุน “เพียงแต่บริษัทต้องการขอเวลาเพื่อหาทางออกเรื่องเงื่อนไขในสัญญาร่วมกับหน่วยงานเจ้าของโครงการ ก่อนที่จะยื่นขอออกบัตรส่งเสริม” ดังนั้น BOI จึงเห็นว่า การขยายเวลาในการออกเอกสารเพื่อออกบัตรส่งเสริมครั้งที่ 3 จะช่วยให้ทั้ง สกพอ.กับ ร.ฟ.ท.มีระยะเวลาพอสมควรในการเจรจาหาข้อสรุปร่วมกัน (ในการแก้ไขสัญญาร่วมทุน) จึงได้ขยายระยะเวลาให้บริษัทอีก 4 เดือนนับจากวันที่ 22 มกราคม จนถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2567

    “การขยายเวลาส่งเอกสารเพื่อออกบัตรส่งเสริมของ BOI ไปจนถึงเดือนพฤษาคมนั้น หลักเกณฑ์วิธีการไม่มีอะไรเพิ่มเติมเป็นพิเศษ บริษัท เอเชีย เอรา วัน ต้องยื่นเอกสารมาเพื่อขอออกบัตรส่งเสริมเท่านั้น ต่อคำถามถึงข้อเสนอของบริษัทล่าสุดในระหว่างการหารือเพื่อพิจารณาอุทธรณ์ อาทิ การขอรับการสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำกรณีโครงการขาดสภาพคล่อง การให้สร้างไปแล้วรัฐก็จ่ายค่าชดเชยไปแบบคู่ขนานนั้น น่าจะเป็นเงื่อนไขที่บริษัทอยู่ระหว่างเจรจา ขอแก้ไขสัญญากับ ร.ฟ.ท. และ สกพอ. เพราะ BOI ไม่ได้มีการกำหนดเงื่อนไขพิเศษอะไรให้กับบริษัทในการขยายระยะเวลาการส่งเอกสารเพื่ออกบัตรส่งเสริม ส่วนเรื่องซอฟต์โลนเพิ่งได้ยินเป็นครั้งแรก และเรื่องนี้ไม่ใช่หน้าที่ของภาครัฐที่จะต้องดำเนินการ” นายนฤตม์กล่าว

 

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย