แบงก์ส่งซิกดบ.ขาขึ้น เตรียมรับแรงกระแทก

24 ม.ค. 2566 436 0

 

          สิ่งที่ต้องติดตามในปี 2566 คือ แนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น จะเป็นปัจจัยกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ปี 2565 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายถึง 3 ครั้ง จากระดับ 0.50% สู่ระดับ 1.25% การประชุมล่าสุดเดือนพฤศจิกายน 2565 ส่วนประชุม กนง.ครั้งแรกปีนี้ วันที่ 25 มกราคมนี้ ทั้งนักวิชาการและนายแบงก์ ส่วนใหญ่ยังมองในมุมดอกเบี้ยขาขึ้นต่อ

          ฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ในฐานะประธานสมาคมสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ให้ความเห็นว่า

          “สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไตรมาสแรกนี้ หลัง กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง และธนาคารพาณิชย์ปรับขึ้นแล้ว การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐเป็นลักษณะการทยอยปรับและอัตราปรับขึ้นไม่สูง เพียงครึ่งหนึ่งของอัตราที่ธนาคารพาณิชย์ปรับขึ้น เพื่อช่วยดูแลภาระลูกหนี้ ดอกเบี้ยธนาคารรัฐไม่ทิ้งห่างธนาคารเอกชนมากจนเกินไป ประเมินว่าสถานการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะไม่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ต้องติดตามว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยมาถึงจุดสูงสุดแล้วหรือยัง จากนี้ไปเป็นการประคองอัตราดอกเบี้ย แล้วอีกสักระยะหนึ่งจะปรับลดลง ภายใต้ปัจจัยบวกเข้ามาจากรายได้ของนักท่องเที่ยว

          เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มยังไม่ได้กลับมามีความสามารถชำระหนี้ ให้กลับเข้ามามีสถานะปกติ โดยเฉพาะช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นนั้น กระทรวงการคลัง ขยายมาตรการปรับลดเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ จาก 0.25% เหลือ 0.125% ของยอดเงินฝากได้รับฝากจากประชาชนออกไปอีก 1 ปี จนถึงสิ้นปี 2566 จะช่วยให้ธนาคารรัฐสามารถช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มได้แน่นอน แต่หลังจากนี้ต้องรอดูความชัดเจนเงื่อนไขที่กระทรวงการคลังกำหนดก่อนว่าเป็นอย่างไร เพื่อให้แต่ละแบงก์รัฐนำไปบริหารจัดการ ช่วยลูกหนี้ให้เหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ของตนเอง ขอให้ลูกค้าของสถาบันการเงินของรัฐเบาใจได้ว่า จะไม่เห็นสถาบันการเงินของรัฐปรับขึ้นดอกเบี้ยอ้างอิงทีละ 0.4% เหมือนกับธนาคารพาณิชย์ เพราะขณะนี้คลังขยายเวลาลดเงินนำส่งให้แล้วครึ่งหนึ่ง แม้ต่อไปแบงก์รัฐอาจขึ้นดอกเบี้ยได้บ้าง แต่จะขึ้นให้สอดคล้องตามภาวะตลาด รวมถึงจะดูแลประชาชนให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ตามนโยบายของกระทรวงการคลัง

          สำหรับ ธอส.ดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นส่วนใหญ่ ล่าสุดจัดทำมาตรการ 23 ช่วยเหลือลูกค้าหนี้เสีย หรืออยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ของธนาคาร ยังได้รับผลกระทบด้านรายได้จากปัญหาโควิด ให้ได้รับความช่วยเหลือนานสูงสุด 2 ปี เลือกได้ 2 แนวทาง ประกอบด้วย เลือกผ่อนชำระเริ่มต้น 1,000 บาท คิดดอกเบี้ย 0% ต่อปี นาน 6 เดือน หรือเลือกผ่อนชำระเริ่มต้น 1,500 บาท อัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี นาน 9 เดือน มาตรการมีถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2566” เอ็มดี ธอส.กล่าว

          ขณะที่ นายชาตรี จันทรงาม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายควบคุมการเงิน และบริหารความเสี่ยง กลุ่มทิสโก้ ระบุว่า ทิศทางดอกเบี้ยไทยทยอยปรับขึ้นต่อเนื่อง การประชุม กนง.วันที่ 25 มกราคมนี้ เป็นรอบการประชุมครั้งแรกของปี 2566 ธนาคารจะรอดูทิศทาง แต่คาดว่า กนง.ยังคงเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย ส่วนธนาคารกับแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก และดอกเบี้ยเงินกู้ ธนาคารจะปรับอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ยปรับใหม่ การประชุมวันดังกล่าว ถ้า กนง.ขึ้นดอกเบี้ย ธนาคารก็ต้องปรับขึ้นตามทั้ง 2 ขา ดอกเบี้ยเงินกู้ธนาคารจะติดตามการขึ้นของธนาคารขนาดใหญ่ ส่วนดอกเบี้ยเงินฝากอาจออกมาในรูปแบบเงินฝากพิเศษมากกว่าดอกเบี้ยเงินฝากทั่วไป

          ขณะที่ อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) ให้มุมมองว่า

          “คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะทยอยขึ้น กนง.มีโอกาสขึ้นถึง 2% จาก 1.25% ในปัจจุบัน เพราะเงินเฟ้อไทยยังยืนอยู่ระดับสูง ดูสถานการณ์ธนาคารกลางทั่วโลก แนวโน้มเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย เนื่องจากเงินเฟ้อยังสูงเช่นกัน ดังนั้น กนง.ต้องรักษาความต่างระหว่างดอกเบี้ย เมื่อเทียบกับประเทศอื่นด้วย นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวและเติบโตได้ ยิ่งจีนเปิดเมือง การท่องเที่ยวมากขึ้น เงินเฟ้อไทยครั้งหลังของปีนี้คงอยู่ระดับสูง แม้ลดลงแต่อยู่ระดับสูง อาจยังไม่เข้ากรอบ 1-3% ที่ ธปท.คาดการณ์ไว้ จึงเป็นจุดคาดหวังว่า กนง.ยังคงขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องอีกระยะ

          การขึ้นดอกเบี้ยส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินของสถาบันทางการเงินเอกชนมากขึ้นเช่นกัน ผ่านการปรับดอกเบี้ยเงินกู้ที่มีอยู่ 2 ส่วน 1.การขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินต้องนำส่งเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูฯ (FIDF fee) ให้แบงก์ชาติในกรอบปกติที่ 0.46% หลังลดอัตราลงที่ 0.23% เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนช่วงโควิดที่ผ่านมา เมื่อสมาคมธนาคารไทยออกประกาศสิ้นสุดมาตรการดังกล่าวเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2565 สถาบันการเงินได้ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นตามที่ 0.40% ทันที มีผลแล้วตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566

          ดอกเบี้ยส่วนที่ 2 คือการปรับดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.หลังจากปี 2565 ขึ้นดอกเบี้ยติดต่อกัน 3 ครั้ง ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ระดับ 1.25% ปี 2566 การประชุมครั้งแรก กนง.วันที่ 25 มกราคมนี้ คาดว่าจะปรับดอกเบี้ยขึ้นอีกที่ 0.25% คาดว่าสถาบันการเงินจะขยับดอกเบี้ยขึ้นตาม แต่อาจจะไม่เท่ากับ กนง.ปรับขึ้นเต็มจำนวน แต่อย่างน้อยดอกเบี้ยต้องถูกปรับระดับเพิ่มขึ้น เพื่อสอดรับกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และเกิดการส่งผ่านในที่สุด”

          นักวิเคราะห์การเงินท่านนี้ยังระบุต่อว่า กลุ่มได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยคือ ต้นทุนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและรายย่อยจะขยับขึ้น ต้องติดตามดูว่าจะมีผลต่อคนระดับล่างมากหรือน้อยอย่างไร เป็นห่วงคนกลุ่มนี้มาก เพราะส่วนใหญ่มีปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง ถ้าดอกเบี้ยขยับขึ้นเขาจะระมัดระวังการใช้จ่าย เชื่อว่าแบงก์ชาติดูแลทุกภาคส่วนอย่างดี

          รวมถึงสถาบันการเงินเข้าใจสถานการณ์ของลูกหนี้ และภาวะเศรษฐกิจ อาจชะลอการขึ้นดอกเบี้ย เพื่อไม่ทำให้เป็นผลกระทบต่อเศรษฐกิจระดับล่างต้องสะดุดได้ ต้องดูว่าคนกลุ่มใดสามารถแบกรับต้นทุนดอกเบี้ยสูงขึ้นได้ ก็สามารถแบ่งเบาภาระตรงนี้ได้เช่นกัน ไม่เช่นนั้น อาจไม่เกิดการสะท้อนภาพต้นทุนทางการเงินสูงจะต้องระมัดระวังการใช้เงิน การส่งผ่านทางนโยบายทางการเงินไปสู่เงินเฟ้ออาจจะไม่เกิดขึ้นเช่นกัน

          ตามความเห็นของผู้รู้จากแบงก์รัฐแบงก์เอกชนข้างบน หลีกไม่พ้นเจอแน่ “ดอกเบี้ยขาขึ้น”

 

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย