แบงก์ชาติดึงบสย.ค้ำประกัน

15 ก.ค. 2563 694 0

          นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.หารือกับกระทรวงการคลังเพื่อให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันเงินกู้ที่ปล่อยให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของธนาคารพาณิชย์หลังจากสิ้นสุดสินเชื่อดอกเบี้ยต่า หรือซอฟต์โลนตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ใน 2 ปีแล้ว ซึ่งจะทำให้สินเชื่อที่ช่วยเหลือเอสเอ็มอีมีระยะเวลายาวขึ้นและเป็นหลักประกันความเสี่ยง จะได้ปล่อยกู้ได้ง่ายขึ้น รวมทั้งจะขยายการยื่นขอซอฟต์โลนจากเดิมจะสิ้นสุดในเดือน ธ.ค.นี้ ออกไปได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 6 เดือน

          สำหรับซอฟต์โลน ธปท.วงเงิน 5 แสนล้านบาทนั้น ขณะนี้ได้ปล่อยสินเชื่อให้ธนาคารพาณิชย์ไปปล่อยกู้ต่อให้เอสเอ็มอีไปแล้วกว่า 1.03 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 20% ของวงเงินทั้งหมด และการขยายต่ออายุยื่นรับซอฟต์โลนเพิ่มเติม เพื่อหวังให้ซอฟต์โลนเข้ามาเป็นเครื่องมือช่วยเหลือการฟื้นฟูระยะต่อไปหลังจากโควิด-19 คลี่คลาย และยังให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีเงินทุนทำธุรกิจ เช่น ผู้ประกอบการโรงแรมที่จากนี้ต้องการฟื้นฟูเป็นอย่างมาก ซึ่งที่ผ่านมาสถาบันการเงินได้ปล่อยสินเชื่อช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรวมทุกมาตรการทั้งซอฟต์โลน ธปท. ซอฟต์โลนธนาคารออมสินและสินเชื่อจากสถาบันการเงินเองไปแล้วกว่า 2.4 แสนล้านบาท

          นอกจากนี้ ธปท.ยังรับนโยบายมาจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่มีความเป็นห่วงความสามารถชำระหนี้หลังจากนี้ โดยธปท.ต้องเร่งออกปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับความสามารถชำระหนี้ของลูกหนี้ที่ลดลง เพราะจากนี้ไปการใช้ชีวิตของคนจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

          ขณะที่ธปท.ยืนยันพร้อมออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนเพิ่มเติม หากเกิดเหตุไม่คาดคิดและมาตรการที่ออกมาไม่เพียงพอ ซึ่งขณะนี้กำลังศึกษาอยู่ในหลากหลายวิธี และต้องแยกลูกหนี้เป็นกลุ่ม ๆ เพราะลูกหนี้แต่ละรายปัญหาไม่เหมือนกัน

          ขณะเดียวกัน ธปท.ยังเป็นกังวลต่อสถานการณ์การว่างงานที่จะมีมากขึ้น โดยเฉพาะภาคบริการที่อาจยังไม่กลับมา และภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่เริ่มปรับเปลี่ยนใช้แรงงานหุ่นยนต์ทดแทนกำลังคน ซึ่งเป็นปัญหาต่อโครงสร้างการจ้างงาน รวมทั้งความเสี่ยงนักศึกษาจบใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานในปีนี้ค่อนข้างยากลำบาก ทำให้ต้องเน้นไปที่การเพิ่มทักษะแรงงานให้เป็นที่ต้องการของความต้องการตลาดในช่วงหลังโควิด-19 ถือเป็นเรื่องสำคัญ

          อย่างไรก็ตามมีแรงงานบางกลุ่มที่เดินทางกลับภูมิลำเนาและไม่ได้กลับมาทำงานในเมืองอีก เพราะหางานยากขึ้น ซึ่งมองว่าแรงงานกลุ่มนี้จะมีประโยชน์และส่งผลดีต่อชนบท เนื่องจากแรงงานที่กลับไปต่างจังหวัดส่วนใหญ่จะเป็นคนรุ่นใหม่จะกลับมาทำการเกษตรแบบยุคใหม่ ทำให้เศรษฐกิจชุมชนดีมากขึ้น

          “แม้เศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่าสุดแล้วในไตรมาสสองที่ผ่านมา แต่ยังมีความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า ซึ่งมีหลายปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่หดตัวรุนแรง และจากการหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจไปก่อนหน้านี้ ทำให้หลังจากนี้เศรษฐกิจจะไม่เหมือนเดิม ทำให้ต้องประสานความร่วมมือทั้งนโยบายการเงิน นโยบายการคลัง และระบบสถาบันการเงินเข้าช่วยเหลือ และมองว่านโยบายการคลังจะเป็นพระเอก เสริมด้วยนโยบายการเงินและระบบสถาบันการเงินที่มีความเข้มแข็ง”

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย