เตรียมรับทุนจีนนั่งรถไฟลุยอสังหาฯอีสาน
อสังหาฯอุดรธานีหวังฟ้าเปิดหลังคลายล็อก ลุ้นผังเมืองใหม่ใช้ปี 2565 เอื้อชึ้นโครงการคอนโดฯ ลุ้นยอดขายที่พักโตพรวดแตะ 3,000 หน่วย
นายณัฐวัชร สวนสุจริต อุปนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดอุดรธานี และที่ปรึกษาโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาคอสังหาริมทรัพย์อุดรธานีเจอผลกระทบต่อเนื่อง ตั้งแต่ก่อนโควิด-19 แบงก์เข้มปล่อยกู้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ใช้มาตรการ LTV ทำยอดขายลด 15-20% มาเจอโควิด-19 อีกเกือบสองปี ทำให้โครงการใหม่หยุดชะงัก พอเริ่มคลายล็อกคนต้องการที่พักจริงเริ่มกลับมา เพราะเป็นปัจจัย 4 แต่ยอดขายยังไม่มาก หายไปอีก 35-40 %
ที่ผ่านมาผู้ประกอบการต้องหั่นราคาลงหนัก โดยเฉพาะกลุ่มบริษัทใหญ่ในตลาด เช่น คอนโดฯ 1.99 ล้านบาท เหลือ 1.49 ล้านบาท บ้านเดี่ยว 4.4 ล้านบาท เหลือ 3.95 ล้านบาท เพราะสร้างเสร็จแล้วต้องรีบระบายสต็อก รับเงินสดไปใช้หมุนเวียน ส่วนผู้ประกอบการท้องถิ่นที่บริหารต้นทุนได้ดีกว่า ตั้งราคาขายเหลือ 1-2 ล้านบาท ยังพอประคองตัวไปได้ ส่วนโครงการเปิดใหม่ยังไม่มีใครยื่นขอ คาดหว่าหลังคลายล็อกบริษัทใหญ่คงกลับมาพัฒนาโครงการเดิมที่ค้างอยู่ก่อน ส่วนผู้ประกอบการท้องถิ่นคงรอดูสถานการณ์ตลาดอีกระยะ
นายณัฐวัชรฯ กล่าวอีกว่า ภาคอสังหาริมทรัพย์ต้องการผู้บริโภคที่มีศักยภาพ มีรายได้ที่มั่นคง เนื่องจากส่วนใหญ่การซื้อบ้านยังต้องพึ่งสินเชื่อจากสถาบันการเงิน การเปิดประเทศจะทำให้หลายอาชีพกลับมาเหมือนเดิม ซึ่งจะทำให้ภาคอสังหาริมทรัพย์จะดีขึ้นตามไปด้วย เพราะผู้บริโภคมีกำลังซื้อมากขึ้น ธุรกิจอื่นๆ กลับมาดีขึ้น
คาดในปี 2565 ในจังหวัดอุดรธานี จะเกิดโครงการในรูปแบบต่าง ๆ ขึ้นแบบก้าวกระโดด เช่น ทาวน์โฮม 2 ชั้น ราคา 1.2-2 ล้านบาท หรือการพัฒนาโครงการของรายใหญ่ ถ้าผังเมืองจังหวัดอุดรธานีใหม่ ออกมาบังคับได้ในปี 2565 ที่ได้มีการปรับผังสีใหม่ที่ได้มีการผลักดันมาหลายปี ทำให้เอื้อต่อการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ได้มากขึ้น
รวมทั้งจะเกิดปรากฏการณ์การพัฒนาโครงการแนวดิ่ง หรือประเภทคอนโดมิเนียม จากเดิมที่หยุดนิ่งมาตลอด เพราะวิถีชีวิตแนวดิ่งยังไม่เป็นที่คุ้นเคย แต่ถ้าปรับสีผังเมืองใหม่แล้ว จะเอื้อการลงทุนโครงการคอนโดฯ กลุ่มราคาไม่สูง ทำให้คนสามารถซื้อง่ายขายคล่อง ผ่อนได้ถูกกว่าเช่าอพาร์ทเมนต์ จะดันหน่วยขายที่พักอุดรธานี ที่อยู่ที่ปีละ 1,500-1,700 หน่วย ในปี 2565 จะขี้นไปอยู่ที่ 2,500-3,000 หน่วยเลยทีเดียว แต่ทั้งนี้ต้องดูการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ด้วย
อีกปัจจัยสำคัญคือ การเปิดเดินรถไฟฟ้าจีน-ลาว วันที่ 2 ธันวาคม 2564 นี้ แม้จะถึงแค่เวียงจันทร์ เชื่อว่าจะสร้างการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจหลายแขนงมาสู่แถบนี้ รวมถึงที่อุดรธานีที่เป็นศูนย์กลางของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยเฉพาะการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว จากทุนของจีนที่ปัจจุบันนี้ถือว่าเป็นทุนขนาดใหญ่
ซึ่งกลุ่มทุนจีนเข้าไปลงทุนภาคอสังหาริมทรัพย์ทั่วภูมิภาค อาทิ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำในเมียนมา ตรงข้ามภาคเหนือของไทย ในลาวกระจายในหลายพื้นที่ รวมทั้งบริเวณรอบๆ บึงธาตุหลวงในกรุงเวียงจันทน์ ที่ตั้งเป้าเป็นเมืองเศรษฐกิจและที่อยู่อาศัยของคนจีนในลาว หรือที่สีหนุวิลล์ในกัมพูชา ที่ประกาศจะให้เป็นเสิ้นเจิ้น 2 ทำให้เชื่อว่า ทุนอสังหาริมทรัพย์จีน จะก้าวเข้ามามีบทบาทธุรกิจนี้ในภาคอีสานในอนาคต
“ผมเชื่อว่าจากประสบการณ์ที่อยู่ในวงการอสังหาริมทรัพย์ หลังจากเปิดใช้รถไฟจีน-ลาว อิทธิพลการลงทุนในด้านอสังหาริมทรัพย์ของจีน ประกอบกับนโยบายใหม่ๆ ของจีนต่ออนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และกลุ่มประเทศ CLMV ที่ชัดเจน จึงเชื่อว่าภาคอีสานของไทย ในเวลาอีกไม่นานเกินรอ ความเปลี่ยนแปลงด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ภายใต้อิทธิพลทุนจีน จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน” นายณัฐวัชร กล่าว
รวมทั้งที่อุดรธานี ซึ่งเป็นเมืองผ่าน มีผังเมืองและเส้นทางการคมนาคมที่ดี เชื่อมต่อในจังหวัดอื่นโดยรอบหลายจังหวัด เป็นเมืองศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจ จึงได้รับอานิสงส์จากการเปิดประเทศ และการเปิดเดินรถไฟจีน-ลาว จะทำให้ภาคอสังหาฯ ดีขึ้นตามไปด้วย จากผู้บริโภคมีกำลังซื้อมากขึ้น
ที่มา: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ