เดินหน้าดึงเศรษฐีต่างชาติ ใช้สูตร อีอีซี จูงใจภาษี 17%

14 มิ.ย. 2564 464 0

          คลังรับโจทย์นายกฯ ดึงเศรษฐีต่างชาติ 4 กลุ่มปักหลักชีวิตในไทย จูงใจภาษีเงินได้ 17% สูตรเดียวกับ อีอีซี สุพัฒน์พงษ์ ควงสภาพัฒน์ นัดถก คลัง-มหาดไทย เตรียมแก้กฎระเบียบ 17 ฉบับ ปลดล็อก วีซ่า 10 ปี-ใบอนุญาตทำงาน-ภาษีเงินได้ ประเด็นร้อนให้สิทธิต่างชาติถือครองที่ดินยังไม่เคาะ

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธาน เมื่อ 4 มิ.ย. 2564 เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสู่ประเทศไทย การดึงดูดผู้พำนักระยะยาว เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ การลงทุนและการจ้างงาน กำหนดเป้าหมาย 4 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มประชากรโลกที่มีความมั่งคั่งสูง 2) ผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ 3) กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย และ4) กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ

          โดยทั้ง 4 กลุ่มจะได้สิทธิประโยชน์ อายุวีซ่า 10 ปี (รวมผู้ติดตาม หรือ คู่สมรสและบุตร) ได้รับอนุญาตให้ทำงานโดยไม่ต้องขอใบอนุญาตทำงาน (มีสิทธิพิเศษในการทำงานในประเทศไทย เช่น วิทยากร หรือที่ปรึกษา สูงสุดสัปดาห์ละ 20 ชั่วโมง) ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับรายได้จากต่างประเทศ กำหนดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากรายได้ในประเทศไทย ในอัตราคงที่ 17% สิทธิในการเป็นเจ้าของ/เช่าอสังหาริมทรัพย์ระยะยาว (รวมที่ดิน) ในพื้นที่ที่กำหนด

          สภาพัฒน์ถกรองนายกฯ

          นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กล่าวว่า ช่วงเย็นวันที่ 11 มิ.ย.นี้ สภาพัฒน์นัดหารือกับ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อพิจารณาเงื่อนไขการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพและมีรายได้สูงเข้าพำนักระยะยาวในประเทศไทย โดยที่ประชุม ศบศ. เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.ที่ผ่านมา ยังไม่ได้ข้อสรุปในเรื่องดังกล่าว เป็นเพียงข้อเสนอ ยังไม่ได้มีการเห็นชอบอะไรมาก ฉะนั้นจะต้องมีการประชุมหารือกันในรายละเอียดร่วมกับรองนายกรัฐมนตรี

          การทำเรื่องนี้จะต้องพิจารณาให้ละเอียด เพราะเป็นเรื่องภายในประเทศด้วย จะต้องมีการออกแบบให้ดี เพื่อให้มาตรการออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ซึ่งตอนนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็กำลังดูผลกระทบในเรื่องมาตรการจูงใจคิดอัตราภาษีรายได้บุคคลธรรมดาชาวต่างชาติอัตราคงที่ 17% ว่าผลกระทบมีอะไรบ้าง ก็จะมาคุยกันในวันที่ 11 มิ.ย.นี้ แต่ก็ยังบอกไม่ได้ว่าจะได้ข้อสรุปในเรื่องดังกล่าวเลยหรือไม่”

          คลังรับโจทย์ดึงต่างชาติ

          แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กระทรวงการคลังได้รับคำสั่งจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ให้มาเร่งพิจารณาเพื่อดำเนินการตามมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน โดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้าสู่ประเทศไทย ซึ่งหลังจากมีการหารือในที่ประชุม ศบศ. เมื่อ 4 มิ.ย. ต่อมาทางสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบแล้ว เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.ที่ผ่านมา

          “ขณะนี้ยังเป็นเพียงการเสนอไอเดีย ยังไม่ได้ตกลงอะไรกัน แต่กระทรวงการคลังก็ต้องมาคิดต่อ ว่าจะให้สิทธิประโยชน์กับชาวต่างชาติเป็นกลุ่มคนทำงานด้านไหน ที่เราอยากดึงเข้ามา เช่น กลุ่มคนทำงานที่มีทักษะด้านดาต้าเซ็นเตอร์ รถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น คือต้องอยู่ในธุรกิจที่เป็นอนาคต ไม่ใช่ธุรกิจโลกเก่า ขณะที่การดึงชาวต่างชาติเข้ามา นอกจากการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีเงินได้คงที่ 17% ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำกว่าที่ฮ่องกงซึ่งเก็บ 18% แต่ก็ต้องดูมาตรการอื่น ๆ ประกอบด้วย ต้องมองทั้งสภาพแวดล้อม ไม่ใช่เฉพาะการจูงใจด้านภาษีอย่างเดียว”

          ภาษีต่างชาติ 17% สูตรอีอีซี

          แหล่งข่าวจากทีมปฏิบัติการเชิงรุกทาบทามบริษัทเอกชนไทยและต่างประเทศ ที่มี ม.ล.ชโยทิต กฤษดากร” เป็นหัวหน้าทีม เปิดเผยว่า หลังจากนี้ ทางรองนายกฯสุพัฒนพงษ์และทีมปฏิบัติการเชิงรุก จะต้องมีการหารือและรับฟังความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลักอย่างกระทรวงการคลัง และกระทรวงมหาดไทย ถึงรายละเอียดต่าง ๆ เช่น กรณีกระทรวงคลัง ก็ต้องหารือเรื่องการคิดอัตราภาษีเงินได้ชาวต่างชาติ 17% ว่ามีความเหมาะสมและผลกระทบอย่างไรบ้าง ทั้งนี้ เชื่อว่าทางกระทรวงการคลังจะไม่มีปัญหา

          เนื่องจากข้อเสนอเก็บภาษีเงินได้ต่างชาติ 17% (ไม่มีการหักค่าลดหย่อนใด ๆ) ทางทีมปฏิบัติการเชิงรุกได้ศึกษาข้อมูล และใช้สูตรเดียวกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่กำหนดอัตราภาษีผู้เชี่ยวชาญต่างชาติที่ทำงานในอีอีซี 17% (ครอบคลุมถึงบิดา มารดา คู่สมรส และบุตร) ซึ่งก็มองว่าเป็นอัตราที่จูงใจแข่งขันกับเพื่อนบ้านได้ด้วย

          นัดถก มท. ปมถือครองที่ดิน

          แหล่งข่าวกล่าวว่า นอกจากนี้ ทีมปฏิบัติการเชิงรุกจะต้องนัดหารือกับ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ทั้งเรื่องข้อกำหนดการจัดทำวีซ่าระยะยาว การตรวจคนเข้าเมือง การออกใบอนุญาตทำงาน และอื่น ๆ รวมถึงประเด็นเรื่องการให้สิทธิให้ต่างชาติกลุ่มนี้ เป็นเจ้าของ/เช่าอสังหาริมทรัพย์ระยะยาว ซึ่งในส่วนเรื่องของการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินและอสังหาฯนั้น ในที่ประชุม ศบศ.ยังไม่ได้เห็นชอบ เนื่องจากมีรายละเอียดและข้อกังวลหลายส่วน จึงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมให้รอบคอบ

          อย่างไรก็ดี ข้อเสนอของทีมปฏิบัติการเชิงรุกให้สามารถซื้อหรือถือครองที่ดินเฉพาะในพื้นที่กำหนดเท่านั้น ซึ่งต้องมีการพิจารณาถึงความเหมาะสม ซึ่งก็ต้องเป็นจังหวัดหรือพื้นที่ที่เศรษฐีต่างชาติชื่นชอบที่จะมาใช้ชีวิตด้วย

          แหล่งข่าวกล่าวว่า ในแง่ของกระบวนการนั้น หลังจากนี้ทางสภาพัฒน์จะเป็นเป็นผู้รวบรวมจัดทำข้อมูล เพื่อนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งคาดว่าจะเป็นการผลักดันในส่วนของสิทธิประโยชน์วีซ่าระยะยาว ใบอนุญาตทำงาน และกำหนดอัตราภาษีเงินได้ของชาวต่างชาติ 17% ซึ่งหลังผ่านความเห็นชอบจาก ครม.ก็จะต้องมีการออกประกาศ แก้ไขกฎระเบียบต่าง ๆ 16-17 ฉบับ ส่วนเรื่องการให้ต่างชาติถือครองที่ดิน นายกรัฐมนตรีให้มีการหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม ซึ่งเรื่องนี้จะต้องมีการออกพระราชกำหนดแก้กฎหมาย ดังนั้นจึงอาจจะเป็นสเต็ปต่อไป

          วันสต็อปเซอร์วิส ต่างชาติ

          แหล่งข่าวกล่าวว่า สำหรับข้อเสนอการจัดตั้งหน่วยบริหารผู้พำนักระยะยาว(LTR service unit) ลักษณะเป็นองค์กรเอกชนที่เข้ามารับสัมปทาน เพื่อเป็นหน่วยงานธุรการอำนวยความสะดวก ให้คำปรึกษาและตัวแทนบริการแบบวันสต็อปเซอร์วิส ตั้งแต่เรื่องการขอวีซ่า ใบอนุญาตทำงาน การโอนเงิน การหาโรงเรียนให้ลูก เรียกว่าตั้งแต่เข้ามาอยู่เมืองไทยจนเสียชีวิต เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตในประเทศไทย ทั้งนี้ ไม่ใช่ตัวแทนขายหรือโบรกเกอร์ขายที่ดินให้ต่างชาติ

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย