เซ็นทรัลพัฒนา เดินหน้าลงทุน ยึดเมืองศักยภาพสูงผุด มิกซ์ยูส

26 มี.ค. 2564 824 0

          “เซ็นทรัลพัฒนา” หนุนรัฐเร่งฟื้นเศรษฐกิจ ลั่นวิกฤติเป็นโอกาส ประกาศเดินหน้าลงทุน ปลุกจ้างงานกว่า 1 หมื่น อัตรา ปักหมุดเมืองศักยภาพสูง “อยุธยาศรีราชา-จันทบุรี"ปั้นมิกซ์ยูสแลนด์มาร์กใหม่มูลค่า 1.39 หมื่นล้าน ต่อยอดโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ มั่นใจกำลังซื้อขยับ กางแผนตลาดเข้มกระตุ้นใช้จ่าย

          ปัจจัยบวกจาก “วัคซีน” ป้องกันโควิด-19 รวมทั้งการแพร่ระบาดที่เริ่มคลี่คลาย ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก แม้จะยังไม่สามารถวางใจได้ 100% แต่แนวโน้มในปีนี้ เชื่อว่าสถานการณ์ต่างๆ จะปรับตัวดีขึ้นเป็นสัญญาณบวกต่อผู้ประกอบการในการเดินหน้าธุรกิจเป็นหนึ่งในฟันเฟือง หนุนภาครัฐฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย โดย “เซ็นทรัลพัฒนา” ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ รายใหญ่ของไทย ประกาศเตรียมเปิดให้บริการ 3 โครงการมิกซ์ยูส ได้แก่  เซ็นทรัล ศรีราชา, อยุธยา และ จันทบุรี รวมมูลค่าโครงการกว่า 13,900 ล้านบาท

          นางสาววัลยา จิราธิวัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน)  กล่าวว่า เซ็นทรัลพัฒนามุ่งขยายการลงทุน ต่อเนื่องเพื่อเป็นสปริงบอร์ด (Springboard) หนุนเศรษฐกิจและประเทศฟื้นตัว ทั้งเป็นการต่อยอดโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐที่มีการพัฒนาในวงกว้างทุกมิติ สอดรับยุทธศาสตร์การพัฒนา โครงการของเซ็นทรัลพัฒนาซึ่งเน้นเมืองศักยภาพสูงที่เชื่อมต่อการพัฒนาเมกะโปรเจคโครงสร้างพื้นที่ต่างๆ ของรัฐ ภายใต้โมเดล ที่เรียกว่า “Fully-Integrated Mixed-Use Developments” คือการเข้าไปเป็นแลนด์มาร์ก ใหม่ หรือ ศูนย์กลางการใช้ชีวิตอย่างครบวงจร ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ พร้อมทั้งชูอัตลักษณ์ของจังหวัดนั้นๆ ไปด้วยในตัว

          นับเป็นการยกระดับอีโคซิสเต็ม (Ecosystem) ด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ของเมือง ซึ่งในปี 2564 ต่อเนื่องปี 2565 เตรียมเปิดบริการ 3 โครงการขนาดใหญ่รวมมูลค่ากว่า 13,900 ล้านบาท ได้แก่ เซ็นทรัล อยุธยา มูลค่า 6,200 ล้านบาท  กำหนดเปิด 27 ต.ค. เซ็นทรัล ศรีราชา มูลค่า 4,200 ล้านบาท เปิดบริการ 25 ก.ย. และเซ็นทรัล จันทบุรี มูลค่า 3,500 ล้านบาท เปิดบริการไตรมาส 2 ปี 2565 คาดช่วยสร้างอัตราการจ้างงานกว่า 10,000 ราย กระจายรายได้และความเจริญ เป็นฟันเฟือง ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

          “เซ็นทรัลพัฒนาไม่เคยหยุดนิ่ง แม้ปีที่ผ่านมา และปีนี้จะยังมีความท้าทายจากวิกฤติโควิด แต่เราคิดบวกและเชื่อมั่นว่าในวิกฤตยังมีโอกาสในการลงทุนเสมอ ผู้ประกอบการและภาครัฐต้องช่วยกัน เดินไปด้วยกัน เพื่อสร้างการเติบโตไปพร้อมๆ กัน”

          ซินเนอร์ยีธุรกิจเสริมแกร่งมิกซ์ยูส

          ทั้งนี้ การพัฒนาโครงการของเซ็นทรัลพัฒนาเป็นมากกว่าการขยายสาขาศูนย์การค้า โดยวาง 3 กลยุทธ์แห่งความสำเร็จ  กลยุทธ์แรก บุกเบิกเมืองด้วยโมเดล Fully-Integrated Mixed-Use Developments ที่แข็งแกร่งกว่า 40 ปี ซึ่งการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่มิกซ์ยูส จะมีศูนย์การค้าเป็นแกนกลางนำสู่การพัฒนาองค์ประกอบต่างๆ อาทิ ที่พักอาศัย โรงแรม อาคารสำนักงาน เพื่อสร้างแรงกระเพื่อมให้ทุกจังหวัด และเชื่อมโยงเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันระหว่างธุรกิจในเครือ

          จะเห็นว่า โครงการคอนโดมิเนียมของเซ็นทรัลพัฒนามีจุดแข็งที่อยู่ติดศูนย์การค้าทำให้หลายโครงการ “sold out” ได้อย่างรวดเร็ว อาทิ ระยอง อาคารแรก, เชียงใหม่ อาคาร 1-2, โคราช อาคารแรก ขณะนี้ได้เปิดโครงการเพิ่มใน 3 จังหวัด ขณะที่โครงการหาดใหญ่มีการตอบรับเป็นอย่างดี ปัจจุบัน ธุรกิจที่พักอาศัยของเซ็นทรัลพัฒนามีกว่า 18 โครงการใน 10 จังหวัด นอกจากนี้ เตรียมพัฒนาโรงแรมแบรนด์ใหม่

          นางสาววัลยา ยกตัวอย่างเมืองศักยภาพทั้ง 3 โครงการสอดรับไปกับแนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ เช่น  เซ็นทรัล อยุธยา  เป็นการสร้าง Complete Tourism Ecosystem ให้จังหวัด ช่วยยกระดับการท่องเที่ยวของอยุธยาทั้งระบบ และส่งเสริมการเป็นฮับสู่ภาคเหนือ และอีสาน ส่วน เซ็นทรัล ศรีราชา ยกระดับให้เป็นศูนย์กลางการใช้ชีวิตที่ล้ำสมัยรองรับ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) และ นิวเอสเคิร์ฟ(New S-Curve) ของเมืองไทย

          ขณะที่ เซ็นทรัล จันทบุรี ผลักดันศักยภาพและเจียระไนจันทบุรีที่เป็นเหมือน “Hidden Gem” ของประเทศ เป็นจุดเชื่อมต่อจาก เขตเศรษฐกิจ เป็น อีอีซี พลัส2 (EEC Plus 2) ตามแผนพัฒนาเมืองรองของภาครัฐ

          ชูอัตลักษณ์เมืองปลุกเที่ยวไทย

          กลยุทธ์ที่สอง “Customer-Centric Design Thinking and Marketing” เป็นแนวคิดการพัฒนาทุกองค์ประกอบโครงการเน้นความโดดเด่นของวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ของเมือง ให้เป็นศูนย์กลางการใช้ชีวิตครบวงจร และท่องเที่ยว

          นายชนวัฒน์ เอื้อวัฒนะสกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพัฒนาธุรกิจ กล่าวเสริมว่า เมืองเศรษฐกิจทั้งอยุธยา ศรีราชา และจันทบุรี สามารถเข้าไปเติมเต็มโดย “เซ็นทรัล อยุธยา” มุ่งยกระดับความเรืองรองของเมือง UNESCO World Heritage ให้ทั่วโลกได้รู้จัก ส่งเสริมให้ “อยุธยาของคนไทย” เป็นสปอตไลท์ระดับโลก ไปพร้อมเจาะกำลังซื้อคนอยุธยารุ่นใหม่ (Young Affluent & Urban Vibes) ซึ่งมี กำลังซื้อสูงเดิมเข้ามาช้อปย่านชานเมืองกรุงเทพฯทั้งรองรับประชากรจังหวัดใกล้เคียง อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท สุพรรณบุรีประชากรแฝงจากนิคมอุตสาหกรรม 5 แห่ง ซึ่งเป็นบริษัทกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และไฮเทค มีโครงการอสังหาริมทรัพย์กว่า 56 โครงการ 5,700 ยูนิต ราคาเฉลี่ย 1.5-3 ล้านบาท

          “ในเชิงการท่องเที่ยวจะทำให้อยุธยาเป็นจุดหมายใหม่แบบ Short-Trip Destination และส่งเสริมให้เที่ยวอยุธยานานขึ้น 2 วัน 1 คืน พร้อมดึงศักยภาพของเมืองแบบเกียวโตโมเดล หรือ เมืองแฝดเกียวโต-อยุธยา โดยดึงเอกลักษณ์ของการเป็นเมืองมรดกโลก ประวัติศาสตร์ อาหาร สินค้าพื้นถิ่น ซึ่งเซ็นทรัล อยุธยา จะช่วย บุกเบิกโมเดิร์น คอมเมิร์ซ ดิสทริค”

          ดักโอกาสอีอีซี

          บิ๊กโปรเจคอย่าง “เซ็นทรัล ศรีราชา” และ “เซ็นทรัล “จันทบุรี” นับเป็นโอกาสำคัญใน พื้นที่เศรษฐกิจอีอีซี ภายใต้แผนสร้างเมือง New S-Curve  วางเป้าหมายผลักดันศักยภาพศรีราชาเป็นศูนย์กลางแห่งอีอีซี จากศักยภาพเมืองดาวรุ่งอุตสาหกรรม และมีจีดีพี อันดับ 2 ของประเทศ กลุ่มเป้าหมายหลากหลายและมีกำลังซื้อสูง

          ส่วน “เซ็นทรัล จันทบุรี” เป็นการบุกตลาดบลูโอเชี่ยน เป็น The Hidden Gem of EEC Plus 2 สร้างเศรษฐกิจและวิถีท้องถิ่นแข็งแกร่งระดับประเทศ กลุ่มเป้าหมายมีกำลังซื้อสูงเช่นกัน จากเมืองที่กำลังเติบโต ทั้งด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว

          ชูเครื่องมือดิจิทัลบุกตลาด

          สำหรับกลยุทธ์ที่สาม “Tenant-Centric Business Partnership” เซ็นทรัลพัฒนามองการลงทุนกับคู่ค้าในระยะยาว สร้างความได้เปรียบ ทางการแข่งขัน ด้วยการสร้างศูนย์การค้าที่ตรงใจ คนในแต่ละโลเคชั่น เป็นทางเลือกของแต่ละจังหวัด

          การตลาดยุคใหม่ยังมุ่งใช้เครื่องมือดิจิทัลสร้างการเข้าใจลูกค้าเชิงลึก และทำการตลาดแบบเจาะตรง (Targeted Marketing)  จากฐาน ข้อมูลกลุ่มเซ็นทรัลทั้งเดอะวัน การพัฒนา โปรเจค เดอะวันบิซ (The 1 Biz) เพื่อช่วยให้ร้านค้า ขายได้ดีขึ้น และช่วยให้แต่ละแบรนด์สามารถทำซีอาร์เอ็มที่ตรงกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น

          “ช่วงสถานการณ์ยังได้พัฒนาโปรแกรมที่ยืดหยุ่นสำหรับช่วยเหลือร้านค้าผู้เช่า พันธมิตรสำคัญให้ขับเคลื่อนธุรกิจไปด้วยกันได้ ผ่าน Flexible Leasing Programme โดย ลดภาระผ่อนคลายความกังวลเรื่อง ผลประกอบการในช่วงเปิดร้านใหม่ หรือ ในช่วงปีแรก การช่วยเหลือให้เข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำกับพันธมิตรธนาคารต่างๆ ช่วย บิสสิเนสแมทชิ่งกับนักลงทุนท้องถิ่น”

          ภาพรวมธุรกิจเซ็นทรัลพัฒนา ปี 2563 มีรายได้รวม 32,062 ล้านบาท กำไร 9,557 ล้านบาท ปัจจุบันบริหารศูนย์การค้า 34 แห่ง มีพื้นที่ ให้เช่ารวม 1.8 ล้านตร.ม.

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย