อสังหาฯ รายเล็ก-กลาง เสริมจุดแกร่งต้องแม่นยำดาต้าเบส แบงก์แนะ บริหารกำไร-สต๊อก แข่งบริษัทใหญ่
อสังหาริมทรัพย์
ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กับเรื่องการพัฒนาฐานข้อมูล (ดาต้า) เป็นสิ่งสาคัญที่ไม่สามารถมองข้ามได้ ยิ่งในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจของประเทศไทย ยังคงเติบโตได้ไม่เต็มที่ และด้วยการต้องยึดติดกับเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้าน คู่ค้าในแต่ละประเทศด้วยแล้ว ความสมบูรณ์ของดาต้า วิสัยทัศน์ของผู้บริหารบริษัท อสังหาฯ และบุคลากร มีส่วนสาคัญ ในการจะ Run ธุรกิจ ให้สามารถเดินหน้าฝ่าวิกฤต ยิ่ง การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นตัวแปรใหญ่ ที่บั่นทอนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลก แม้ว่า ขณะนี้ จะมีความชัดเจนในเรื่อง “วัคซีน” แต่ใช่ว่าจะครอบคลุมไปได้ทั่วโลก แต่ที่แน่นอน พฤติกรรม (ไลฟ์สไตล์) ของลูกค้า ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสาคัญ ตอบสนองต่อการเกิดขึ้นของโควิด-19 โดยเฉพาะในเรื่องความถี่จาก การใช้โซเชียลมีเดียในการเสาะหาข้อมูลข่าวสารที่ทะลักเข้ามา
ซึ่งก่อนหน้า ความก้าวล้ำของเทคโนโลยี ได้เป็นคลื่นที่ “ดิสรัปชัน” ต่อทุกภาคธุรกิจ รวมถึงภาคอสังหาฯผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ได้เร่งปรับตัว เพื่อรับการ เปลี่ยนแปลง เพราะเทคโนโลยี จะมีส่วนสำคัญในการ “กระตุ้นดีมานด์” ของผู้ซื้อที่อยู่อาศัย ยิ่งในยุคโควิด-19 ด้วยแล้ว ความต้องการของผู้บริโภค จะมีการปรับเปลี่ยนอย่างฉับไว
แน่นอน รายใหญ่ย่อมได้เปรียบและเหนือผู้ประกอบการรายกลางและรายเล็ก ทั้งเรื่องกำลังเงิน บิ๊กดาต้า บุคลากร วอลุ่มของการขยายโครงการที่มาก ทำให้สเกลของการลงทุน มีผลต่อต้นทุนทางธุรกิจที่ลดลง
ดังนั้น อสังหาฯรายกลางและเล็ก ต้องปรับตัวให้เข้าถึง “เครื่องมือ” เพื่อการปรับตัวให้ธุรกิจ “รอด”!
หรือแม้แต่ ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับตลาดอสังหาฯประเภททรัพย์ “มือสอง” ตัวแทนนายหน้าค้าอสังหาฯ (โบรกเกอร์) ทั้งที่อยู่ภายใต้องค์กร หรือ ทำงานอิสระ ก็ต้องมองเรื่อง ดาต้า เพราะนั่นหมายถึง โอกาสในการเข้าถึงผู้ซื้อและผู้ขาย หรือการบริหารห้องชุด หรือบ้าน ให้เกิดผลตอบแทนที่ดีขึ้น
ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทเอกชนที่ก้าวสู่การเป็น “เซ็นเตอร์” ด้านดาต้าเบส โดยมองเห็นโอกาสในการเจาะกลุ่มลูกค้าบริษัทอสังหาฯ ตัวแทนนายหน้าฯ เพื่อให้เข้าถึงดาต้าเบสที่มีการจัดและประมวลผลของข้อมูล กลายเป็น โซลูชัน ที่ตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า ทั้งในฟากของเจ้าของโครงการ นายหน้าฯ รวมถึงภาคสถาบันการเงิน เชื่อมต่อกับ “ผู้ซื้อ” ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย เปิดเผยถึงความต่างของบริษัท อสังหาฯรายกลางและเล็ก กับผู้ประกอบการรายใหญ่ว่า มีหลายประเด็น เช่น ผลกำไรที่ได้จากการดำเนินธุรกิจ ถ้าไม่มากก็มีผลต่อการลงทุน เนื่องจากเงินทุนมีจำกัด หากโครงการมีปัญหาเพียงแค่ 1 โครงการ ก็จะส่งผลกระทบต่อแผนที่จะต้องดำเนินการ ดังนั้น ความแม่นยำของฐานข้อมูล(ดาต้าเบส)เป็นสิ่งสำคัญ
“อย่างเรื่องราคาที่ดินก็เป็นดาต้าที่ดี เราจะเห็นความประหลาดที่ว่า ราคาที่ดินมีแต่ขึ้น ถ้าเราซื้อมาแล้วทำโครงการ ขายดี ทำดี ที่ดินจะซื้อใหม่ก็จะแพงทันที อย่างช่วงปลายปี 2562 เหมือนราคาที่ดินจะชะลอตัว แต่ไปๆ มาๆ ราคาปรับขึ้น แม้จะเป็นช่วงโควิด-19 ก็ตามและรัฐบาลจะมีโปรโมชัน ลดหย่อนเรื่องจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเหลือร้อยละ 90 ราคาที่ดินก็ไม่ลดลง ยังไม่หลั่งน้ำตา หลายคนก็ไปปลูกอ้อย ปลูกกล้วยกัน ซึ่งปัจจุบันข้อมูลจะมีให้เราเห็น อย่างของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ จะเป็นภาพใหญ่ ย้อนไป 20 ปีที่ผมทำธุรกิจอสังหาฯ ตอนนั้นตาบอดเลย นั่งเทียนในการหาข้อมูล ซึ่งวิธีในอดีตไม่น่าจะใช้ได้แล้ว” นายพรนริศกล่าวและฉายภาพต่อว่า
การจะพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียม บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ บ้านแฝด เพื่อขายอย่างเดียว อาจจะไม่ใช่แนวทางที่จะเกิดขึ้นทั้งหมดระหว่างปี 2564-2565 เนื่องจากโครงข่ายรถไฟฟ้าในหลายสายจะเสร็จ การลงทุนที่จะ เกิดขึ้นคงไม่มีแต่เรื่องที่อยู่อาศัย สุดท้ายโครงการใน เชิงพาณิชย์จะเป็นสิ่งที่ต้องขึ้น”
ด้านนายกณิศ อ่ำสกุล เจ้าหน้าที่อาวุโส Business Risk And Macro Research ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวยอมรับว่า ผู้พัฒนาอสังหาฯ ขนาดย่อมและกลาง มีความสามารถในการแข่งขันที่โดดเด่น น้อยกว่าขนาดใหญ่ โดยจากค่าเฉลี่ยย้อนหลังไป 3 ปี ของผู้พัฒนาอสังหาฯ (ปี 2560-2562 ของผู้พัฒนาบ้านจัดสรรและอาคารชุด) อัตราการเติบโตของกำไร อสังหาฯรายใหญ่ (L) ลดลง -4% ขนาดกลาง (M) -10% และขนาดเล็ก (S) -13%
ขณะที่อัตราหมุนเวียนสินค้าคงคลัง จะพบว่า รายใหญ่ ใช้เวลาประมาณ 920 วัน ขนาดกลาง 1,300 วันและรายเล็กนานถึง 1,370 วัน
ส่วนที่สำคัญ คือ เรื่องอัตราส่วนที่บอกถึงความ สามารถในการทำกำไรของบริษัทอสังหาฯ รายใหญ่ 13% รายกลาง 5% ส่วนรายเล็กเพียง 0.5%
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่า ความต้องการซื้อ ที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หายไปถึง 1 ใน 3 ซึ่งผู้บริโภคแต่ละกลุ่มมีเหตุผลของการเลื่อนการซื้อที่อยู่อาศัยออกไปที่แตกต่างกัน เช่น ที่มีรายได้ต่ำกว่า 40,000 บาทต่อเดือน ให้เหตุผลต้อง สำรองเงินไว้ใช้กับสินค้าที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตและมากกว่า 40,000 บาท มองว่า การลงทุนกับอสังหาฯในเวลานี้ ให้ผลตอบแทนไม่ดีนัก
“ยิ่งในช่วงที่เกิดระบาดของโควิด-19 จำนวนผู้เข้าชมเว็บไซต์ของผู้พัฒนาอสังหาฯรายใหญ่เพิ่มขึ้น +40 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งแนวทางปรับตัวของผู้พัฒนาอสังหาฯ ชั้นนำ จำเป็นต้องศึกษาพฤติกรรมว่า ทำอย่างไรให้ ผู้บริโภคเข้าชมโครงการผ่านช่องทางออนไลน์ได้ เช่น การโฆษณาผ่าน Influencer พัฒนาระบบ Virtual Visits ให้ผู้บริโภคสามารถรับชมโครงการได้อย่างเสมือนจริง ยกระดับระบบหลังบ้าน ให้ผู้บริโภคสามารถชำระเงินและดำเนินการเรื่องเอกสารได้อย่างครบถ้วน”
พื้นที่ EEC เหมาะรองรับเป็น
‘ดาต้าเซ็นเตอร์’
นายอาดัม เบลล์ หัวหน้าแผนกพื้นที่อุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ ซีบีอาร์อี ประเทศไทย ให้ความเห็นถึงธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ว่า แม้จีนจะเป็นศูนย์กลางของ ตลาดดาต้าเซ็นเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกแต่ก็ยังมีผู้เล่นหลักรายอื่นๆ ซึ่งได้แก่ ออสเตรเลียญี่ปุ่นสิงคโปร์และฮ่องกง ซึ่งสำหรับประเทศไทยเองก็พร้อมที่จะเติบโตในตลาดนี้ และเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทยประกอบกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีและสิทธิประโยชน์พิเศษอื่น ที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาษีของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จะช่วยจูงใจนักลงทุนด้วยทำเลที่ตั้งที่เป็นศูนย์กลางของประเทศไทย ทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะขยายการให้บริการพื้นที่ดาต้าเซ็นเตอร์ไปยังประเทศที่อยู่โดยรอบ นอกจากนี้ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่ได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐนั้นยังตั้งอยู่ห่างจากสายเคเบิลใต้ทะเลเพียง 30 กิโลเมตร และอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลมากกว่า 100 เมตรซึ่งช่วยลดความเสี่ยงจากน้ำท่วม
จากข้อมูลของแผนกวิจัยซีบีอาร์อีพบว่า ผู้เล่น รายใหญ่ อาทิ เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) ต่างกำลังคาดการณ์ว่า ความปกติใหม่หรือวิถีแบบ New Normal จะยังคงขับเคลื่อนการเติบโตด้านความต้องการดาต้าเซ็นเตอร์ การร่วมทุนของเฟรเซอร์สฯ กับ เอสทีเทเลมีเดีย โกลบอล ดาต้าเซ็นเตอร์ จะทำให้มีพื้นที่ 30,000 ตารางเมตร (ตร.ม.) ในเฟสแรกสำหรับกลุ่มลูกค้าอย่างผู้ให้บริการคลาวด์ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซและสถาบันการเงิน นอกจากนี้ บริษัท เคที คอร์ปอเรชั่น ของเกาหลีใต้ ยังวางแผนที่จะค่อยๆ เข้าสู่ตลาดไทย ภายในครึ่งหลังของปี 2564 และให้บริการด้วยมาตรฐานระดับสูงแก่บริษัทคลาวด์ทั่วโลก”
‘ไอคอน เฟรมเวิร์ค’ คัดระบบ
ช่วยอสังหาฯขนาดย่อม
นายวรรณเทพ หรูวิจิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ไอคอน เฟรมเวิร์ค จำกัด ผู้พัฒนาระบบ Real Estate Management Platform เพื่อรองรับการ ทำงานของธุรกิจอสังหาฯโดยเฉพาะ ภายใต้ชื่อ ICON REM (Real Estate Management) กล่าวว่า ภายใต้ความเปราะบางของเศรษฐกิจในปัจจุบัน ที่ส่งผลกระทบในทุกภาคส่วน บริษัทฯได้เตรียมความพร้อมกับภาคธุรกิจอสังหาฯในปี 2564 ซึ่งได้เปิดตัวระบบใหม่เพื่อผู้พัฒนาอสังหาฯขนาดย่อมโดยเฉพาะ ซึ่งเหมาะกับผู้ประกอบการที่มีอัตราการขยายโครงการจำนวนที่ไม่มากต่อปี ก็สามารถมีระบบสำหรับบริหารงานขาย จอง โอน รับเงิน ที่มีมาตรฐานภายใต้ชื่อระบบ “ICON REM Lite ระบบบริหารงานขายแบบครบวงจร เพื่อธุรกิจอสังหาฯ ขนาดย่อม ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้องค์กร โดยไม่ต้องลงทุนด้านเซิร์ฟเวอร์ และบุคลากรด้าน IT แต่ต้องการระบบบริหารจัดการที่มีมาตรฐาน ถูกต้องและตรวจสอบได้ เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต เช่น
Customer Portal บริการลูกบ้านผ่าน Line OA เพียงแค่ Add Friend ก็จะช่วยให้ลูกบ้านได้รับการ บริการ จะชำระเงิน/ใบเสร็จรับเงินออนไลน์ แจ้งซ่อม บริการสำหรับ Visitor เข้า-ออกโครงการผ่านระบบ QR Code ก็สะดวกสบาย เหมือนมีธนาคารหรือช่างประจำอยู่ที่บ้านเลย
Real-Time Executive Dashboard รายงานเชิงลึกสำหรับผู้บริหาร ที่ผ่านการประมวลผลและสรุป ให้อยู่ในรูปแบบและมุมมองที่ง่ายต่อการตัดสินใจ สามารถนำมาวิเคราะห์ และวางแผนเชิงกลยุทธ์ ช่วยให้การตัดสินใจมีความรวดเร็ว แม่นยำมากยิ่งขึ้น
และ Customer Experience Management ระบบบริหารจัดการความพึงพอใจลูกค้า ที่จะช่วยสำรวจความพึงพอใจของลูกค้าจากช่องทางต่างๆ พร้อมทั้งสรุปผลข้อมูล ให้ผู้พัฒนาอสังหาฯ สามารถนำไปปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการได้ทันที
“ตลอดระยะเวลา 13 ปีที่บริษัทฯได้เปิดดำเนินการและพัฒนาระบบ CRM เป็นรายแรกของประเทศไทย มีบริษัทอสังหาฯใช้งานระบบของบริษัทฯกว่า 70 ราย โดยที่บริษัทฯ เป็นผู้ดูแลระบบการบริหารงานขายแบบครบวงจรครอบคลุมตั้งแต่งานขาย งานโอน งานก่อสร้างและงานด้านบัญชี ซึ่งเมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2563 ได้เปิดตัวระบบ ICON Digital Mortgage ระบบ ขอสินเชื่อออนไลน์อัตโนมัติ เพื่อสร้างความสะดวกสบายให้กับผู้บริโภค ลดขั้นตอนความยุ่งยากด้านเอกสาร ในการขออนุมัติสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย หรือระบบการ Lean System ในธุรกรรมและธุรกิจอสังหาฯสามารถติดตามสถานะการพิจารณาการขอสินเชื่อได้แบบ Real Time”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัทอสังหาฯในต่างจังหวัดยังมีอยู่กว่า 1,000 บริษัท ธุรกิจเหล่านี้ แม้จะเปิด เพียง 2-3 โครงการต่อปี ก็ยังมีความต้องการระบบที่มีมาตรฐานให้กับองค์กร ขณะที่บริษัทรายใหญ่แต่ละองค์กรรูปแบบหรือวิธีการที่ต้องการข้อมูลจากการใช้ระบบของบริษัท จะมีความต่างกัน เช่น บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ให้น้ำหนักตรวจสอบ (สกรีน) ข้อมูลลูกค้า เป้าหมาย เป็นการมองในเชิงคุณภาพของลูกค้ามากกว่าปริมาณ หรือแม้แต่โครงการร่วมทุน (เอพี+ ญี่ปุ่น) ทางพันธมิตรจะมีความเชี่ยวชาญในเรื่องของการออกแบบโครงการ แต่ในส่วนของ ไอคอน จะมาเสริม ในเรื่องการบริหาร Cost ก่อสร้างให้เหมาะสมกับการออกแบบ
“อาจจะมีคำถามว่า แล้วระบบที่ทางบริษัทให้ บริการ จะการันตีถึงโอกาสที่เจ้าของโครงการจะได้รับความน่าเชื่อถือจากสถาบันการเงินหรือไม่นั้น จริงๆ ในต่างประเทศ เช่น ในประเทศจีน ตัวระบบที่เกี่ยวกับ อสังหาฯนั้น จะไม่ถูกโยงกับเครดิตบูโร แต่สถาบัน การเงินของจีนจะมองเรื่องของ Transaction เงินของลูกค้าเป็นอย่างไร”
เสริมจุดแกร่งดีเวลลอปเปอร์
รายเล็ก,รายใหม่
นายสรังสี นันทพิศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์ต ออฟ ลิฟวิ่ง พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ซึ่งมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ ในการดำเนินธุรกิจ การซื้อขายอสังหาฯมือสองเป็นหลัก (โบรกเกอร์) ของ คนไทย กล่าวว่า จากสถานการณ์ตลาดบ้านมือสองที่มีการเปลี่ยนแปลง การแข่งขันที่รุนแรง ประกอบกับผลจากโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อธุรกิจ ทำให้บริษัทฯต้องขยายขอบข่ายเพิ่มไลน์ธุรกิจใหม่ โดยเข้าไปรับงานขายโครงการที่อยู่อาศัย ทั้งประเภทโครงการบ้านจัดสรรและโครงการคอนโดฯมือหนึ่งเพิ่มเติม (Project Sale) ซึ่งรูปแบบจะมีความแตกต่างกับการขายบ้านมือสอง ตรงที่การบริหารโครงการใหม่ จะให้ความสำคัญในเรื่อง การวิจัย (Research) และการศึกษาความเป็นไปได้ของทั้งโครงการ (Feasibility) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุน เช่นการใช้ Big Data เพื่อให้เกิดความถูกต้องและแม่นยำในการวิเคราะห์กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ของโครงการที่บริษัทเข้าไปมีส่วนรวมใน การบริหาร ทำให้ช่วยลดค่าใช้จ่ายในเรื่องค่าการตลาด ต้นทุนบริหารและระยะเวลาในการปิดโครงการได้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยสามารถนำมาใช้งานได้ตั้งแต่เริ่มแนวคิดการพัฒนาโครงการ, กลุ่มของผู้ซื้อโครงการ
ทั้งนี้ บริษัทได้มีความร่วมมือกับ Data Tech Academy ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในด้านการบริหารข้อมูลในการพัฒนาระบบ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของการสร้างความได้เปรียบในธุรกิจโบรกเกอร์ คือ เรื่องของความลึก ของข้อมูล เป็นเครื่องมือที่ช่วยในการขายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“ความได้เปรียบของเราคือ เรายืดหยุ่นและ คล่องตัวมากกว่า ทำให้สามารถแทรกเข้าไปตลาดการบริหารสำหรับลูกค้าโครงการที่มีขนาดกลางและเล็ก หรือมีงบประมาณจำกัดได้ ซึ่งแบรนด์กลุ่มอินเตอร์แบรนด์ จะไม่เข้ามาจับกลุ่มลูกค้ารายใหม่มากนัก เนื่องมาจาก งบประมาณ และ Scale ของลูกค้าไม่ได้ใหญ่มากพอ ซึ่งการนำข้อมูลเข้ามาขับเคลื่อนองค์กรให้กับลูกค้านั้น จะนำมาใช้ ตั้งแต่ต้นน้ำของกระบวนการทำงานทางด้าน อสังหาฯ ตั้งแต่ช่วย ผู้พัฒนาฯ กำหนด และนิยาม กลุ่มเป้าหมายที่ละเอียดมากยิ่งขึ้น และเข้าใจพฤติกรรมผู้จะซื้อได้เป็นอย่างดี รวมถึงขั้นตอนในกระบวนการต่อๆ มาไม่ว่าจะเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ซื้อ เช่น มี AI มาช่วยในการสร้าง Chatbot เพื่อตอบคำถามแก่ลูกค้าอย่างรวดเร็ว และอาจจะรวมถึงการสร้าง Solution ใน Life Style สมัยใหม่ ที่ทำให้ลูกค้าเกิด Customer Experience อีกระดับหนึ่ง”
ส่องดีมานด์ผ่านตลาดอสังหาฯออนไลน์
ยุค New Normal
นายภูวนัย ภัทรโภคิณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ผู้ก่อตั้ง บริษัท ลิฟวิ่ง อินไซเดอร์ จำกัด กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อาจส่งผลกระทบเชิงลบ ต่อหลายภาคธุรกิจจนถึงขั้นที่อาจต้องยุติหรือเลิกกิจการไปเป็นจำนวนมาก แต่ในส่วนของแพลตฟอร์มออนไลน์อสังหาฯ กลับดำเนินไปในทิศทางที่ตรงข้ามและสามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยภาพรวมตลาดแพลตฟอร์มออนไลน์ในตอนนี้ นอกจากจะเห็นการพัฒนาเพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้คนมากขึ้นแล้ว ในอนาคตอาจจะเห็นอะไรที่ออกมาแก้ Pain Point ของผู้คนได้อีกเป็นจำนวนมากอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ ด้วยฐานข้อมูลของ แพลตฟอร์มออนไลน์ Livinginsider ที่มีตัวเลขยอดการเข้าใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเฉลี่ย 1 ล้าน คนต่อเดือน และมีการ เข้าดูอสังหาฯหน้าต่างๆ ในเว็บไซต์รวมกันมากกว่า 4 ล้านครั้งต่อเดือน ได้กลายเป็น ดาต้า ที่ใหญ่และสามารถบ่งชี้ถึงพฤติกรรมของผู้ใช้ออนไลน์และเป็นประโยชน์ ต่อกลุ่มธุรกิจอสังหาฯ โบรกเกอร์ ภาคสถาบันการเงิน เอเยนซีโฆษณา หรือ บริษัทผู้ผลิตสินค้าต่างๆได้เป็น อย่างดี
โดยข้อมูลจาก Livinginsider จะพบว่า ระหว่างโควิด-19 ต่อเนื่องมา การเข้าคลิกหาข้อมูลที่อยู่อาศัยเพื่อเช่าตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา (Search For Rent) สูงอย่างต่อเนื่อง จนไปถึง 2 ล้านเพจวิว ขณะที่การ หาข้อมูลเพื่อซื้ออสังหาฯ กลับอยู่ในช่วงขาลง ขณะที่ผู้ที่เข้ามาหาอสังหาฯในเมือง ก็จะมองหาคอนโดฯเป็นหลักสูงถึงทะลุ 3 ล้านเพจวิว ส่วนการมองหาบ้านในเมือง แม้จะไม่สูงเท่า แต่ระดับการค้นหาเกือบ 1 ล้านเพจวิว เนื่องจากปริมาณของบ้านในเมืองจะสร้างน้อยกว่า คอนโดฯ
ซึ่ง 10 ทำเลที่มีการค้นหาคอนโดฯในเมืองในปี 2563 จะมีการเปลี่ยนแปลงจากปีที่ผ่านมา แต่อันดับ 1 ยังคงเป็นทำเล อ่อนนุช อุดมสุข และพระโขนง แต่ อันดับ 2 กลับมาเป็น พระราม 9 เพชรบุรีตัดใหม่ ส่วนอันดับ 3 ทำเลสุขุมวิท อโศก ทองหล่อ หล่นลงมาจากอันดับ 2 ขณะที่อันดับ 4 และ 5 ยังคงเหมือนในปี ที่ผ่านมา ได้แก่ รัชดาภิเษก ห้วยขวาง สุทธิสาร บางนา สรรพาวุธ ลาซาล เป็นต้น
สิ่งที่น่าสนใจ คือ การค้นหาในทำเลใหม่ๆ (New Entry) ข้อมูล ณ เดือนตุลาคม 63 พบว่า คอนโดฯ เส้นแนวรถไฟฟ้า BTS จะมียอดการเข้ามาค้นหาจำนวนมาก ได้แก่ อันดับ 1 BTS ห้าแยกลาดพร้าว, BTS พหลโยธิน 24, BTS เสนานิคม, BTS ม.เกษตรศาสตร์ และ BTS รัชโยธิน เป็นต้น...
ดังนั้น หากผู้ประกอบการสามารถเข้าถึง หรือ มีบิ๊กดาต้า ที่พร้อมนั่น ก็คือ โอกาสและความสำเร็จ ในการพัฒนาโครงการได้อย่างแม่นยำ เพื่อรองรับกับ การเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค ซึ่งปัจจุบันจะเป็น Gen คนรุ่นใหม่ ที่อาจจะไม่มีความจงรักภักดีในแบรนด์มากเท่ากับ Gen ที่ผ่านมา
ที่มา: ผู้จัดการรายวัน 360 องศา