อสังหาฯ รอฟื้นครึ่งหลังปี'66 รับรบ.ใหม่
เงินเฟ้อ-ดบ.แทคทีมฉุดดีมานด์ซื้อ-เช่าลด
เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ เว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสด้านอสังหาริมทรัพย์ “ดีดีพร็อพ เพอร์ตี้” ได้เปิดเผยข้อมูลล่าสุดจากรายงาน DDproperty Thailand Property Market Report Q1 2566 ซึ่งวิเคราะห์จากข้อมูลประกาศขาย-เช่าอสังหาฯ บนเว็บไซต์ DDproperty ระบุว่า ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ปรับตัวลดลง 7% จากไตรมาสก่อนหน้า หรือลดลง 9% จากปีก่อนหน้า และอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด หรือไตรมาส 4 ปี 2562 ถึง 23% รวมถึงต่ำกว่าดัชนีราคาปี 2561 ซึ่งเป็นปีฐานถึง 24% สะท้อนถึงแนวโน้มราคาที่อยู่อาศัยยังไม่ฟ้นตัว โดยดัชนีราคาปรับลดลงทุกประเภทรวม
ถึงที่อยู่อาศัยแนวราบที่ได้รับความนิยมตั้งแต่ช่วงโควิดระบาดก็ชะลอลงเช่นกัน โดยดัชนีบ้านเดี่ยวและคอนโดมิเนียมลดลงในสัดส่วนเท่ากันที่ 5% จากไตรมาสก่อนหน้า และลดลง 4% จากปีก่อน ส่วนดัชนีราคาทาวน์เฮ้าส์แม้จะลดลงเพียง 1% ในรอบไตรมาส แต่เทียบปีก่อนลดลงถึง 4%
นายวิทยา อภิรักษ์วิริยะ ผู้จัดการทั่วไป Think of Living และดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (ฝั่ง ดีเวลลอปเปอร์) กล่าวว่า แม้กำลังซื้อต่างชาติโดยเฉพาะจีนที่เป็นกลุ่มลูกค้าหลักเป็นปัจจัยบวก แต่ไม่เพียงพอจะกระตุ้นให้ตลาดอสังหาฯ กลับมาคึกคักดังเดิม เนื่องจากผู้บริโภคในประเทศซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักยังเผชิญความท้าทายหลายประการ ทั้งกำลังซื้อลดลงจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น อีกทั้งมาตรการช่วยเหลือภาคอสังหาฯ อย่างลดค่าโอนกรรมสิทธิ์ต้องจ่าย 1% จากเดิม 0.01% ทำให้ผู้บริโภคต้องวางแผนการซื้อบ้าน อีกทั้งข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยถึงยอดหนี้ครัวเรือน ณ ไตรมาส 3 ปี 2565 มีปริมาณหนี้รวมสูงถึง 14.9 ล้านล้านบาท ซึ่ง 1 ใน 3 เป็นหนี้สินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยแนวโน้มยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องแม้ว่าหนี้ครัวเรือนจะลดลงจากช่วงก่อนหน้าก็ตาม
“แม้ความต้องการซื้อและเช่าที่อยู่อาศัยโดยรวมจะลดลงจากไตรมาสก่อน แต่มีทิศทางเติบโตอย่างน่าสนใจ โดยความต้องการซื้อโดยรวมเพิ่มขึ้น 36% และเพิ่มขึ้นทุกประเภทที่อยู่อาศัยเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด จึงไม่มีแนวโน้มจะเกิดภาวะสินค้าล้นตลาด ขณะที่ความต้องการเช่าเพิ่มขึ้นถึง 124% จากช่วงก่อนโควิด สะท้อนชัดเจนว่าเทรนด์เช่าที่อยู่อาศัยได้รับความนิยมมากกว่าการซื้อ เนื่องจากผู้บริโภคไม่มีเงินเก็บเพียงพอจะซื้ออสังหาฯ และการเช่ายังยืดหยุ่นเหมาะกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคปัจจุบันมากกว่า” นายวิทยากล่าว และว่า ประเด็นการเลือกตั้งที่จะถึงเป็นสิ่งที่น่าจับตา อาจทำให้ผู้บริโภคและนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติชะลอการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยในช่วงต้นปี 2566 เพื่อรอความชัดเจนนโยบายที่เกี่ยวข้องกับภาคอสังหาฯ และแผน กระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ จึงคาดว่าตลาดอสังหาฯจะมีแนวโน้มดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังปี 2566
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน