สินเชื่อบ้านสีเขียวพุ่ง! บ้าน คอนโดฯ แห่ติดแผงโซลาร์-EV ชาร์จ 5ปีทะลัก พลิกโฉมอสังหาฯไทย
“Game Changers อสังหาฯไทย สงครามยูเครน ดันราคาน้ำมันพุ่งทะลุ 130 เหรียญ ขณะไทยปรับค่าเอฟทีไฟฟ้า จุดเปลี่ยนคนซื้อที่อยู่อาศัย ดีเวลลอปเปอร์ แห่นำโซลาร์รูฟท็อป - แท่นชาร์จรถยนต์ EV ชูเป็นจดขายใหม่”
สอดคล้อง SCB เผยยอดสินเชื่อบ้านสีเขียวเร่งตัว เพอร์เฟค - แสนสิริ - บริทาเนีย-เสนา และ ASW แข่งดุชิงตลาดบ้าน-คอนโดฯ คาด 5 ปีทะลักนับแสนหลัง
กระแสตื่นตัวของผู้บริโภคตั้งแต่ ปี 2564 หลังการแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้มิติของการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง นอกจากเทรนด์เรื่องสุขภาพ พบมากกว่า 62% ต้องการบ้านคอนโดมิเนียม ที่มีระบบหลังคาโซลาร์เซลล์ (Solar Rooftop) เพื่อหวังประหยัดค่าไฟฟ้า ขณะ 64% ยังระบุ เทรนด์รถยนต์ไฟฟ้า มีแผนต่อการตัดสินใจซื้อโครงการในอนาคต
บ้านสีเขียวมาแรง
นายสุธีรพันธุ์ สักรวัตร รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานการตลาด ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เปิดเผยว่า จากจำนวนสินเชื่อรายย่อยของธนาคารมูลค่า 4,150 ล้านบาท พบราว 600 ล้านบาท เกิดขึ้นในตลาดบ้านสีเขียว และยานยนต์พลังงานสะอาด โดยมองเป็นตลาดที่น่าสนใจมาก โดยเฉพาะการขอสินเชื่อของลูกค้า วัตถุประสงค์เพื่อการติดตั้งหลังคาโซลาร์รูฟ วงเงินผ่อนเพิ่มต่อเดือนรวมสินเชื่อบ้านราวหลักพันบาทเท่านั้น เช่นเดียวกับความเคลื่อนไหวในฟากผู้ประกอบการที่สนใจตลาดนี้มากขึ้น
สอดคล้อง บริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด ที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ โดย นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการบริษัท ระบุ ปัจจุบันการติดตั้งหลังคาโซลาร์เซลล์บนอาคาร ทั้งที่อยู่อาศัยแนวราบ และอาคารชุดพักอาศัย มีต้นทุนที่ถูกลง เมื่อเทียบกับ 10 ปี ก่อน โดยเฉพาะระบบไฮบริด (Hybrid) ผสมผสานระหว่าง ออน กริดกับการเก็บพลังงานไว้ในแบต เตอรี่เข้าด้วยกัน พบมีต้นทุนค่าติดตั้งราว 169,000 บาทเท่านั้น ใช้ระยะเวลาคืนทุนประมาณ 5 ปี ช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าได้ 945,295 บาท ระยะเวลาใช้งาน 25 ปี หรือ เฉลี่ยปีละ 37,811.8 บาท หรือ 3,150.98 บาทต่อเดือน
ทำให้ผู้อยู่อาศัยยุคใหม่ และผู้พัฒนาอสังหาฯ สนใจมาก หลังประเมิน ราว 20% ของผู้ซื้อและสร้างที่อยู่อาศัย จะเลือกบ้านที่ติดโซลาร์เซลล์ ขณะผู้พัฒนาฯ จะใช้เป็นอุปกรณ์พื้นฐานในการพัฒนาโครงการระยะหน้า เพื่อดึงจุดขายใหม่ด้วย จากปัจจุบัน รัฐปรับค่าเอฟที รอบเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2565 ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 23.38 สตางค์ต่อหน่วย เป็น 4 บาทต่อหน่วย
อีกแง่ กรณีไทยมีนโยบายสนับสนุนคนไทยใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (รถEV) ในประเทศอย่างกว้างขวางผ่านการลดภาษีตั้งแต่ 7 หมื่น ถึง ไม่เกิน 1.5 แสนบาทต่อคัน ทำให้ราคารถถูกลงเข้าถึงได้ง่าย และวิกฤติสงครามรัสเซีย-ยูเครนนั้น ได้ส่งผลให้ราคาพลังงานทั่วโลกปั่นป่วน นำมันดิบ ทำสถิติพุ่ง 130 เหรียญ/บาร์เรล นั่นคือ จุดเปลี่ยนที่ทำให้โครงสร้างพื้นฐานของโครงการที่อยู่อาศัยยุคหน้าอาจต้องเปลี่ยนไป
เพอร์เฟค 5ปี5หมื่นหลัง
‘ฐานเศรษฐกิจ’ ตรวจสอบกลยุทธ์รับโอกาสครั้งใหญ่ ในกลุ่มผู้พัฒนาโครงการ ล่าสุด บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) ประกาศวางเป้าหมายการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป จำนวน 30,000 หลัง และ 50,000 หลัง สำหรับการติดตั้งเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในบ้าน หลังจับมือพันธมิตรทั้ง SCB, SCG และ อีวีโลโม ซึ่ง นายวงศกรณ์ ประสิทธิ์วิภาต กรรมการผู้จัดการบริษัท ระบุว่า เดิมบริษัทกังวลเรื่องต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แต่ปัจจุบัน เทรนด์ของผู้บริโภคเปลี่ยนชัดเจน อยากประหยัดค่าใช้จ่ายระยะยาว และใส่ใจเรื่องโลกร้อนมากขึ้น ซึ่งทั้งการติดตั้งโซลาร์ และเครื่องชาร์จรถ EV ตอบโจทย์ คาดปีนี้ ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าของไทยอาจทะลุ 2 หมื่นคัน หรือ 15 เท่าในอีก 15 ปีข้างหน้า บริษัทมองเป็นโอกาสทางธุรกิจ ซึ่งจะเป็นในรูปแบบราคาติดตั้งพร้อมราคาบ้านใหม่ ขณะเดียวกันก็เข้าไปเสนอลูกค้าในโครงการเก่า และชุมชนข้างเคียงอีกด้วย
“สงครามรัสเซีย ทำให้ราคาน้ำมันแพงมาก และแม้สงครามจะจบราคาก็น่าจะยืนอยู่อีกสักระยะ ทำให้ความสนใจรถ EV ในคนไทยเพิ่มขึ้น ขณะการติดตั้งโซลาร์จะเริ่มจากบ้านเดี่ยวสร้างใหม่ระดับไฮเอนด์ แบรนด์เพอร์เฟค มาสเตอร์พีซ และ เลคเลเจ้นด์ 5 ปี 30,000 หลัง ท้าทายไม่น้อย”
แสนสิริ ช่วยลูกค้าประหยัด
ขณะอีกหนึ่งค่าย บมจ.แสนสิริ ระบุว่า ปีนี้บริษัทจะเดินหน้าติดตั้ง Solar Roof ในบ้านเดี่ยวทุกหลัง ทุกโครงการใหม่ ในทุกระดับราคา 100% รวม 1,825 หลัง แบ่งเป็น บ้านเดี่ยวระดับราคาต่ำกว่า 8 ล้านบาท เช่น สราญสิริ อณาสิริ คณาสิริ ฯลฯ จะติด Solar Roof ขนาด 1.38 kWp รวมจำนวน 1,300 หลัง และบ้านเดี่ยวระดับราคา 8 ล้านบาทขึ้นไป เช่น เศรษฐสิริ บุราสิริ เดมี่ บูก้าน นาราสิริ ฯลฯ จะติด Solar Roof ขนาด 1.84 kWp รวมจำนวนทั้งสิ้น 525 หลัง ส่วนในระยะ 3 ปี(2565-252567) วางเป้าหมาย ติดตั้งรวม 12,000 หลัง ประเมินอายุการใช้งานของแผง Solar Roof 25 ปีต่อหลัง จะช่วยลูกบ้านประหยัดค่าไฟฟ้ารวมกันได้มากถึง 1.6 พันล้านบาท พร้อมเดินหน้า ติดตั้ง EV Charger ในโครงการบ้านเดี่ยวระดับบน (ราคา 8 ล้านบาทขึ้นไป) ทุกหลังให้ได้ 100% ภายใน 3 ปีอีกด้วย
ด้านบมจ.บริทาเนีย หลังจากบริษัทแม่ ออริจิ้น เข้าร่วมทุนกับบริษัท GUNKUL เพื่อรุกธุรกิจพลังงานสะอาดในโครงการที่อยู่อาศัย ล่าสุด นางศุภลักษณ์ จันทร์พิทักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ระบุว่า จะติดโซลาร์รูฟในโครงการใหม่ขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่โครงการรวม 30-50 ไร่ มียูนิตพักอาศัยรวม 100-200 หลัง ในแถบกรุงเทพฯและปริมณฑล โดย’โซลาร์ วิลเลจ’ เป็นโมเดลสำคัญที่เกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าด้วย เริ่มนำร่องทดลองใช้พื้นที่ส่วนกลาง อาคารสโมสร ของบ้านภายใต้แบรนด์ ‘แกรนด์ บริทาเนีย’ เพื่อดูผลตอบรับก่อนขยายการติดตั้งไปยังพื้นที่หรือบ้านในแบรนด์อื่นๆ
เสนาติดโซลาร์ทุกหลัง
ขณะผู้เล่นรายใหญ่ บมจ.เสนา ซึ่งวางเป้าอันดับ 1 หมู่บ้านโซลาร์เซลล์ ในแง่ผู้พัฒนาอสังหาฯรายเดียวที่ทำธุรกิจหมู่บ้านที่ติดโซลาร์ทุกหลังแบบครบวงจร พบว่าปี 2565 มีการเตรียมงบประมาณลงทุนด้านพลังงานมากขึ้นที่ 600 ล้านบาท เตรียมพร้อมยื่นขอสิทธิ์ให้กับลูกบ้านผ่านโครงการโซลาร์ภาคประชาชน หลังประเมินโอกาสทางธุรกิจ การใช้ชีวิตหลังสถานการณ์โควิด 19 ที่มีความจำเป็นต้องอยู่อาศัยในบ้านเพื่อเรียนและทำงาน จะเป็นจุดเปลี่ยนให้ผู้บริโภคหันมาให้ความสนใจ โดยเฉพาะกลุ่มคนระดับกลาง พนักงานประจำ ที่ซื้อทาวน์เฮ้าส์ราคาไม่แพง เนื่องจากเป็นคนที่มีรายได้ไม่มากนัก ฉะนั้น การประหยัดค่าไฟฟ้าในช่วงการใช้ไฟกลางวันได้ จึงเป็นที่สนใจ โดยล่าสุด บมจ.เสนา เพิ่งเปิดโครงการ เสนาวีว่า ฉลองกรุง-ลาดกระบัง บนเนื้อที่โครงการ 15 ไร่เศษ ใกล้นิคมอุตสาหกรรม เป็นทาวน์โฮมติดโซลาร์ผ่านการร่วมทุนกับญี่ปุ่น ฮันคิว ฮันชิน
ทั้งนี้ ยังพบความเคลื่อนไหว ของ บมจ.แอสเซทไวส์ โดยประกาศ กำลังติดตั้งแผงโซลาร์โครงการ KAVE Town Space และ KAVE Town Shift และจับมือพันธมิตร Haup Car นำร่องให้บริการรถพลังงานไฟฟ้าที่ Mingle Mall โครงการ KAVE Town Space, KAVE Town Shift และสำนักงานขาย Modiz Rhyme, KAVE AVA อีกด้วย
ที่มา: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ