ลุ้นรบ.ใหม่แก้กฎเอื้อต่างชาติซื้อบ้าน
กระตุ้นตลาดอสังหาฯหลังคนไทยยังรีรอ
ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (DDproperty) เว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสด้านอสังหาริมทรัพย์ ออกบทวิเคราะห์เกี่ยวกับกำลังซื้อต่างชาติกับการฟื้นตัวตลาดอสังหาฯ ระบุว่า กำลังซื้อต่างชาติเริ่มกลับมา เห็นได้ชัดหลังจากจีนประกาศเปิดประเทศเมื่อต้นปีนี้ ขณะที่กำลังซื้อผู้บริโภคไทยส่วนใหญ่ยังไม่กลับมา จากปัญหาอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น และความไม่ชัดเจนทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง กำลังซื้อต่างชาติจึงกลายเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปีนี้ ทั้งนี้ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์รายงานสถานการณ์การโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างชาติไตรมาสแรก 2566 ทั่วประเทศพบว่ามีหน่วยโอนขยายตัว 79.2% มูลค่าการโอนเพิ่มขึ้น 67.6% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บริษัท เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จำกัด คาดการณ์ว่าปีนี้สัดส่วนต่างชาติซื้อห้องชุดในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลอาจกลับมาที่ระดับ 15% ของมูลค่าทั้งหมด เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปี 2562 ก่อนเกิดโควิด มีมูลค่า 14.6% สะท้อนกำลังซื้อของต่างชาติอาจไม่ได้มีบทบาทสำคัญต่อการฟื้นตัวของตลาดอสังหาฯไทย ผู้พัฒนาอสังหาฯจึงคาดหวังรัฐบาลใหม่จะออกมาตรการกระตุ้นตลาดเอื้อให้ชาวต่างชาติซื้อที่อยู่ไทยได้อย่างถูกกฎหมายมากขึ้น ไม่ผ่านตัวแทนหรือนอมินี
ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ได้เก็บข้อมูลจากผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นดีดีพร็อพเพอร์ตี้ ระหว่างเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2566 ถึงความต้องการซื้อที่อยู่ในหัวเมืองท่องเที่ยวหลัก ได้แก่ กทม., เชียงใหม่, ภูเก็ต, ชลบุรี และนครราชสีมา หลังกำลังซื้อต่างชาติกลับมาพบว่าระดับราคาที่อยู่ 1-3 ล้านบาทเป็นที่ต้องการที่สุดทั้ง 5 จังหวัด พื้นที่ กทม. เดือนพฤษภาคม ความต้องการ เพิ่มขึ้น 13% จากเดือนก่อนหน้า ส่วนช่วง 5 เดือนแรก เพิ่มขึ้น 3% จากเดือนมกราคม โดยความต้องการคอนโดเพิ่มขึ้น 6% ขณะที่บ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์ทรงตัว ส่วนเชียงใหม่ปรับขึ้น 14% จากเดือนก่อนหน้า แต่ลดลง 28% เทียบเดือนมกราคม จากปัญหาฝุ่นควัน และตลาดท่องเที่ยวเริ่มชะลอ ขณะที่ภูเก็ตทรงตัว หากนับ 5 เดือนแรก พบว่าลดลง 13% ยกเว้นคอนโดที่ความต้องการซื้อเพิ่มขึ้น 10% ส่วนชลบุรี เดือนพฤษภาคมเติบโต 9% จากเดือนก่อนหน้า จากทำเลมีความโดดเด่นทั้งดานท่องเที่ยวและด้านอุตสาหกรรม อยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และนครราชสีมา ภาพรวมความต้องการที่อยู่ช่วง 5 เดือนแรก ลดลง 27% และปรับลดลงทุกประเภท โดยทาวน์เฮาส์ลดลงมากที่สุด 55% จากเดือนมกราคม
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน