รายงาน: วัสดุก่อสร้างลุ้นไตรมาส4ตลาดฟื้นชูกลยุทธ์ออนไลน์-คุมต้นทุนรักษาเงินสด

09 ส.ค. 2564 581 0

         จากสถานการณ์ในปัจจุบัน ที่ยังคงมีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างต่อเนื่องและกระจายเป็นวงกว้าง เพิ่มระดับของความรุนแรงในตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งแตะระดับ 20,000 คนต่อวัน และมีผู้เสียชีวิตเกินกว่า 200 คนต่อวันไปแล้ว และที่น่ากังวลที่สุด คือ การเข้ามาของสายพันธุ์ใหม่ “เดลต้า” จะทำให้สถานการณ์โควิด-19 เลวร้ายลงไปอีก! ซึ่งในปัจจุบัน รัฐบาลได้ประกาศการล็อกดาวน์ใน 29 จังหวัดเป็นพื้นที่สีแดงเข้มเพิ่มเติมต่อไปถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2564

          แน่นอนว่า การล็อกดาวน์เพิ่มขึ้น ย่อมมีผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยภาคเอกชน ผ่านทางคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้มีความเห็นล่าสุด ในการหั่นเป้าการเติบโตทางเศรษฐกิจปี 2564 ติดลบ 1.5% ถึง 0.0% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 0-1.5% ภายใต้ความรุนแรงของสถานการณ์โควิด-19 และมาตรการเพิ่มเติมของรัฐบาล

          ซึ่งเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา การปิดแคมป์คนงาน 1 เดือน (28 มิ.ย.-28 ก.ค. 64) ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมก่อสร้างคิดเป็นเม็ดเงินราว 36,200 ล้านบาท ซึ่ง ศูนย์วิจัย กสิกรไทย ชี้ว่า มูลค่าการลงทุนอุตสาหกรรมก่อสร้างภาพรวมในปีนี้ อาจหดตัวที่ -3.8% (เมื่อเทียบกับปี 63 ที่ขยายตัว 1.2%) หรือมีมูลค่าราว 1.27 ล้านล้านบาท

          สัญญาณ “วัสดุก่อสร้าง-สินค้าตกแต่งบ้าน” กำลังซื้อยังไม่แผ่ว!

          มองในเรื่องของธุรกิจวัสดุก่อสร้าง แม้หลายฝ่ายจะมองว่า ปีนี้ยอดขายจะซบเซา แต่ “ส่อง” ผลประกอบการแล้ว ก็ไม่แย่อย่างที่คิด เริ่มจากกลุ่มผู้ค้าสมัยใหม่ (Modern Trade) อย่างบริษัทโฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ HMPRO และ บริษัท สยามโกลบอล เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ GLOBAL ผลประกอบการในครึ่งแรกของปี 64 ออกมาดี

          เริ่มจากนายคุณวุฒิ ธรรมพรหมกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ฯ กล่าวว่า แม้สถานการณ์ยอดขายในไตรมาส 2 โดยรวม จะได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อที่ ลดลง แต่ยอดขายสาขาเดิมของทั้งธุรกิจโฮมโปรในประเทศ และธุรกิจเมกาโฮม ยังสามารถเติบโตได้เมื่อเทียบกับช่วงปีก่อนหน้า เนื่องจากฐานรายได้ที่ต่ำในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมาจากการปิดบางสาขาชั่วคราว รวมถึงในช่วงต้นเดือน เมษายน บริษัทฯ มีการจัดงาน HomePro Super Expo ผ่านช่องทาง E-commerce และทุกสาขาทั่วประเทศ แทนการจัดงานในรูปแบบเดิม

          ส่งผลให้กำไรสุทธิในไตรมาส 2 ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่เท่ากับ 1,432.59 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 489.91 ล้านบาท หรือ 51.97% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยบริษัทฯ มีรายได้รวมอยู่ที่ 16,954.30 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,572.42 ล้านบาท หรือ 17.89%

          ขณะที่ ผลของกำไรสุทธิในครึ่งปีแรก ทำได้ 2,795.06 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 585.86 ล้านบาท หรือ 26.52% เป็นผลมาจากรายได้รวมที่สามารถทำได้ 32,786.86 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,080.08 ล้านบาท หรือ 10.37%

          โดยกลยุทธ์ครึ่งปีหลัง  โฮมโปร เพิ่มความสำคัญให้กับสินค้าเพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะปัจจุบัน โดยมีการเพิ่มสินค้าในกลุ่มป้องกันและฆ่าเชื้อโรค รวมไปถึงสินค้าที่เกี่ยวข้องกับ WFH และ Cooking at Home

          ด้านนางสาวชุติกาญจน์ ศรีแสงจันทร์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายบัญชีและการเงิน บริษัท สยามโกลบอลเฮ้าส์ฯ ระบุถึงกลยุทธ์ในช่วงครึ่งปีหลังว่า ยังให้ความสำคัญกับการจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ คาดว่าฐานของรายได้ที่ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์จะอยู่ที่ 2% พร้อมกับ การกระตุ้นตลาดด้วยการออกแคมเปญส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง

          “เรายังมองว่าไตรมาส 3 ตลาดชะลอตัวลง จากการปิด 9 สาขาตามมาตรการล็อกดาวน์ แต่ยอดขายยังเติบโตในครึ่งปีหลังอยู่ จากดีมานด์ใช้สินค้าที่ยังคงมีอยู่ และเมื่อมีการคลายล็อกดาวน์ สาขาที่ปิดอยู่กลับมาเปิดปกติ จะหนุนให้ยอดขายพลิกฟืนกลับมา

          คอตโต้ ให้น้ำหนักควบคุมต้นทุน

          นายนำพล มลิชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี เซรามิกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ COTTO กล่าวคาดว่า ผลประกอบการในช่วงไตรมาส 3/64 จะลดลงประมาณ 10% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และต่ำลงกว่าช่วงไตรมาส 2/64 เนื่องจากบริษัทได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ภายในประเทศที่รุนแรงมากขึ้น

          “ช่วงครึ่งปีหลัง ผลประกอบการยังประเมินได้ยาก เนื่องจากภาคก่อสร้างยังมีสถานการณ์ไม่แน่นอนสูง เพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 กระจายตัวเป็นวงกว้าง แต่ช่วงครึ่งปีแรก บริษัททำรายได้รวมแล้วได้ดีกว่า 5,613 ล้านบาท เติบโต 12% มีกำไรสุทธิแล้วราว 364 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 119% พร้อมคาดหวังว่าในช่วงไตรมาส 4/64 สถานการณ์จะเริ่มกลับมาดีขึ้น จึงยังมั่นใจว่าผลประกอบการทั้งปีนี้จะเป็นเติบโตได้เล็กน้อย”

          ทั้งนี้ แนวทางที่ คอตโต้ ยังให้ความสำคัญในครึ่งปีหลัง คือ ควบคุมต้นทุนการผลิตได้ แม้ในช่วงครึ่งปีแรก ต้นทุนการขนส่งจะปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 5-8% จากราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นและราคาก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มขึ้น 13% แต่กระทบต่อบริษัทไม่มากนัก เนื่องจาก บริษัทมีการลงทุนด้านเครื่องจักรที่ลดการใช้พลังงานมาโดยตลอด

          ด้านนายสาธิต สุดบรรทัด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ผลิตภัณฑ์ตราเพชร จำกัด (มหาชน) หรือ DRT กล่าวว่า ช่วงที่ล็อกดาวน์และชะลองานภาคก่อสร้างลงในช่วงที่ผ่านมา ก็อาจจะมีผลกระทบต่อลูกค้าโครงการอสังหาฯ บ้าง แต่ระยะสั้น แต่เราได้ใช้เวลาดังกล่าว ผลิตสินค้าเพิ่มปริมาณสต๊อก รองรับคำสั่งซื้อลูกค้าทุกกลุ่มที่จะกลับมาฟืนตัวแรงในเดือนสิงหาคมกันยายนนี้ ภายหลังสถานการณ์คลี่คลายในทางที่ดีขึ้น รวมถึงใช้โอกาสนี้เร่งเคลียร์สินค้าบางรายการที่ยังคงค้างการจัดส่งในช่องทางอื่นๆ และผลิตสินค้าเพื่อเตรียมความพร้อมหากการก่อสร้างกลับมาเป็นปกติ ซึ่ง DRT คงเป้าหมายการเติบโตทั้งปีที่ 5%”

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย