รถไฟฟ้า สายสีแดง เลื่อนยาว
ร.ฟ.ท.ยอมรับสภาพรถไฟฟ้าสาย สีแดง “ตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต” เลื่อนเปิดหวูดยาว ออกวิ่งไม่ทัน ม.ค. 64 พิษโควิด-19 ซัดงานระบบติดหล่ม เอกชนคู่สัญญาขอขยายเวลา 620 วัน จาก มิ.ย.นี้ไปปลายปีหน้า บอร์ดหวั่นงบฯก่อสร้างบานไม่หยุด ฉุดแผนโครงการอื่นรวน สั่งทำรายละเอียดแจงอีกรอบ คมนาคมยื้ออนุมัติค่าก่อสร้างเพิ่ม 1.1 หมื่นล้าน ลั่นหากไม่ได้ภายใน เม.ย. รับเหมาจ่อฟ้องเรียกค่าชดเชย “อิตาเลียนไทยฯกรุงธน” คว้างานสร้างรถไฟไทย-จีน 1.9 หมื่นล้าน
แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้งานก่อสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต กำลังประสบปัญหาเงินค่าก่อสร้างที่จะต้องจ่ายให้กับผู้รับเหมา ซึ่งอยู่ระหว่างรอการอนุมัติการขยายกรอบวงเงินเพิ่มเติมอีก 11,000 ล้านบาท จากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ล่าสุดกระทรวงคมนาคมกำลังตรวจสอบ รายละเอียด หากไม่ได้รับการอนุมัติภายในเดือน เม.ย.นี้ อาจจะทำให้ผู้รับเหมายื่นขอชดเชยหรือฟ้องร้องได้ เพราะมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากดอกเบี้ยเงินกู้ การจ้างแรงงาน
“กระทบมากสุดสัญญาที่ 1 สถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุง จะต้องจ่ายให้ผู้รับเหมาประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท ขณะนี้งานก่อสร้างคืบหน้าแล้ว 98.62% ที่ผ่านมามีการทยอยจ่ายตามการตรวจรับงาน ส่วนสัญญาที่ 3 งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมจัดหา ตู้รถไฟมีความคืบหน้า 73.53% ยังพอมีเงินสำรองจ่ายแต่เหลือไม่มากนัก ขณะที่ สัญญาที่ 2 งานโครงสร้างและสถานีเสร็จสมบูรณ์แล้ว”
นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. เปิดเผยว่า เงินค่าก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นรออนุมัติเพื่อจ่ายให้ผู้รับเหมานั้น หากไม่ทันในเดือน เม.ย.นี้จะต้องนำเงิน ร.ฟ.ท.จ่ายไปก่อน ยังไม่รู้ว่าจะนำมาจากส่วนไหน อย่างไรก็ตาม คาดว่ากระทรวงคมนาคมจะนำเรื่องเสนอ ครม.จะอนุมัติทันในเวลาที่กำหนดไว้
“ปัญหาของสายสีแดง ยังมีเรื่องงานสัญญาที่ 3 งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมตู้รถไฟฟ้าบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน วงเงิน 32,399.99 ล้านบาท ที่มีกิจการร่วมค้ามิตซูบิชิ- ฮิตาชิ-สุมิโตโมคู่สัญญา ยื่นขอขยายเวลา ออกไปอีก จะกระทบต่อแผนการเปิดให้บริการ จากเดิมตั้งเป้าในเดือน ม.ค. 2564 อาจจะขยับไปเป็นกลางปีหรือปลายปี 2564 แทน”
ทั้งนี้กำหนดการเปิดบริการจะต้องปรับแผนใหม่ รอการอนุมัติจากคณะกรรมการ (บอร์ด) พิจารณาเห็นชอบการขยายสัญญาที่ 3 ก่อน หลังจากที่ประชุมบอร์ดวันที่ 16 เม.ย.ที่ผ่านมายังไม่อนุมัติตามที่เสนอ โดยบอร์ดเห็นว่า ข้อมูลที่นำเสนอมายังไม่ละเอียด และเหตุผลที่มาขอยังไม่เพียงพอให้ทำข้อมูลเสนอใหม่ในครั้งต่อไป
“สัญญา 3 ล่าช้ามาจากงานสัญญาที่ 1 ที่สร้างช้าติดรื้อย้ายสาธารณูปโภค ขับไล่ผู้บุกรุก ส่งผลให้การก่อสร้างห้องควบคุมระบบ ยังไม่สามารถก่อสร้างได้ รวมถึงผลกระทบจากโควิด-19 ที่ทำให้ซัพพลายเออร์ไม่สามารถขนส่งจากญี่ปุ่นมาไทยได้”
แหล่งข่าวจาก ร.ฟ.ท.กล่าวว่า ร.ฟ.ท.ขอขยายเวลาสัญญาที่ 3 จากเดิมสิ้นสุด วันที่ 3 มิ.ย. 2563 ออกไปอีก 620 วัน ไปสิ้นสุดช่วงปลายปี 2564 มีปัญหาเรื่องการจ่ายระบบไฟฟ้าในการทดสอบการเดินรถ ติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ แผนผังแนวเส้นทาง การประสานงานในพื้นที่สัญญาอื่น ซึ่งบอร์ดยังไม่อนุมัติให้ไปทำข้อมูลมาใหม่ครบถ้วน หากขยายเวลาให้แล้วจะไปกระทบกับงานอื่น ๆ หรือไม่ เพราะการขยายเวลาทำให้ผู้รับเหมาขอสงวนสิทธิ์ที่จะขอค่าชดเชยด้วย จะทำให้กรอบวงเงินของโครงการเพิ่มเติมจากเดิมที่ยื่นขออนุมัติไป 11,000 ล้านบาท
นายวรวุฒิกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ที่ประชุมบอร์ดยังอนุมัติผลประมูลรถไฟไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. วงเงิน 179,413 ล้านบาท จำนวน 2 สัญญา รวมมูลค่า 19,751 ล้านบาท ได้แก่ สัญญาที่ 3-3 ช่วงบันไดม้า- ลำตะคอง มี บจ.กรุงธน เอ็นจิเนียริ่ง เสนอราคาต่ำสุด 9,838 ล้านบาท และสัญญาที่ 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ที่มี บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เสนอราคาต่ำสุด 9,913 ล้านบาท ส่วนสัญญาที่ 3-5 ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา มี บจ.นภาก่อสร้าง เสนอราคาต่ำสุด 7,750 ล้านบาท บอร์ดยังไม่เห็นชอบ รอกรมบัญชีกลางตรวจสอบคุณสมบัติ คาดว่าจะเสนอให้บอร์ดเห็นชอบได้ ในครั้งต่อไป
ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ