'บีเอ-บีทีเอส'รุกอู่ตะเภา เคลียร์พื้นที่ตอกเสาเข็ม

29 ธ.ค. 2563 1,254 0

          “กัปตันพุฒิพงศ์” เผยความคืบหน้า อู่ตะเภา “UTA” ลุยสำรวจพื้นที่ เร่งคัดเลือกผู้ออกแบบ อาคารผู้โดยสาร-ศูนย์กลางการขนส่งทางบก ยันเดินหน้า แผนงานตามกำหนด คาดตอกเข็มต้นปี 65 “บีทีเอส” เผยดึงพันธมิตรระดับโลกออกแบบสนามบิน ศึกษาพัฒนาธุรกิจนอนแอร์โร พื้นที่ 1 พันไร่ ปั้นเมืองการบิน

        โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน ภาคตะวันออกเป็น “โปรเจคแห่งปี” ที่หลายฝ่ายจับตามองความคืบหน้า เพราะเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐาน หลักสำคัญของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)  เพื่อยกระดับสนามบินอู่ตะเภาเป็น “สนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลักแห่งที่ 3” เชื่อมสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิด้วยรถไฟความเร็วสูง

          ตามแผนดำเนินการของบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ UTA ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการฯ จะเริ่มก่อสร้างในต้นปี 2565 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี พร้อมเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ในปี 2568 และครบอายุสัญญาร่วมทุนในปี 2615 มูลค่าการร่วมลงทุน 290,000 ล้านบาท

          นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)หรือ BA กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ในฐานะคณะผู้บริหาร บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ UTA ว่า ความคืบหน้าโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก บริษัทฯ เข้าสำรวจพื้นที่เพื่อเตรียมการแล้ว หลังจากจัดส่งแผนแม่บทตามที่กำหนดในสัญญาร่วมลงทุนโครงการ เพื่อกำหนดตำแหน่งและจุดเชื่อมโยงของโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ตามที่กำหนดในสัญญาร่วมลงทุน

          เริ่มก่อสร้างต้นปี 65

          สำหรับงานที่จะเริ่มดำเนินการตามแผนในปี 2564 กำลังคัดเลือก ผู้ออกแบบอาคารผู้โดยสาร รวมถึงศูนย์กลางการขนส่งทางบก ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะออกแบบเมืองการบินด้วย เพื่อให้แนวคิดของทั้งโครงการสอดคล้องกัน โดยคาดว่าใช้เวลา 4-5 เดือน เพื่อให้ได้รายละเอียดของงานออกแบบ

          การคาดการณ์จำนวนผู้โดยสาร บริษัทฯ ได้คำนึงถึงปัจจัยด้านโควิด-19 แล้ว โดยได้ศึกษาและใช้ข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการบิน อาทิ องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) รวมถึงหน่วยงานภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจมาประยุกต์ใช้ในการปรับการคาดการณ์จำนวนผู้โดยสาร ซึ่งจะนำไปปรับใช้ออกแบบอาคารผู้โดยสารและวางแผนสิ่งอำนวยความสะดวกของโครงการ

          “บริษัทฯ ยังคงดำเนินงานตามแผนงานที่กำหนดไว้ ซึ่งคาดว่าจะมีการออกหนังสือการส่งมอบพื้นที่เพื่อเริ่มการก่อสร้างในต้นปี 2565 ส่วนเรื่องการลงทุนในระยะแรก บริษัทฯ ได้ยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนโครงการสนามบินพาณิชย์ และมีแผนที่จะยื่นคำขอสำหรับโครงการอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการลงทุน”

          ยื่นแผนแม่บท ส.ค.63

          รายงานข่าวจากบริษัทบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด ระบุว่า เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.2563 ได้ประกอบพิธีอัญเชิญเสามงคลเพื่อเป็นปฐมฤกษ์ในการสร้างอาคารสำนักงาน ณ พื้นที่สร้างอาคารสำนักงานใหญ่ของบริษัทฯ ตั้งอยู่เลขที่ 99 หมู่ 14 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพฯ โดยก่อสร้างเป็นอาคาร 3 ชั้น มีกำหนดเปิดทำการในปี 2564

          ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 17 ส.ค.2563 บริษัทฯ ได้ส่งแผนแม่บทโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกให้ สกพอ.นับเป็นความคืบหน้าสำคัญที่แสดงถึงเจตนารมณ์ของบริษัทฯ ในการเดินหน้า เต็มที่ในการพัฒนาโครงการสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งเป็นแกนหลักสำคัญต่อการพัฒนาอีอีซีและยกระดับประเทศเป็นศูนย์กลางการบินภูมิภาค

          สำหรับแผนแม่บทจะแสดงจุดเชื่อมโยงโครงการกับโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคสำคัญเพื่อให้ สกพอ.ประสานงานกับหน่วยงานรัฐ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาโครงการได้เต็มที่ โดยมีรายละเอียดสำคัญ คือ การยืนยันแนวเส้นทางของรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน, การแสดง แนวเส้นทางระบบโครงข่ายถนนเชื่อมต่อสู่สนามบินและเมืองการบิน, การแสดงข้อมูลของรันเวย์ที่ 2 ที่กองทัพเรือเป็นเจ้าของโครงการ และการแสดงแนวเส้นทางของระบบสาธารณูปโภคไฟฟ้า ประปา และระบบเชื้อเพลิงเข้าสู่สนามบิน

          ดึงระดับโลกร่วมออกแบบ

          นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และกรรมการ บริษัทอู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด กล่าวว่า หลังจากส่งแผนแม่บทให้ สกพอ.เป็นที่เรียบร้อย ต่อไปจะ ดำเนินการตามแผนแม่บท ซึ่งประกอบไปด้วย การลงพื้นที่สำรวจอย่างละเอียด รวมไปถึงจัดทำแผนปฏิบัติงานและดำเนินการออกแบบท่าอากาศยานอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ให้เห็นภาพการพัฒนาอย่างละเอียด

          “สกพอ.มีเวลาให้เราออกแบบทำแผน 365 วัน ตอนนี้เราก็อยู่ระหว่างดำเนินการในรายละเอียดของแผน ยังเดินหน้าตามแผนแม่บทกำหนดไว้ทุกอย่าง ขณะนี้ได้พันธมิตรเพิ่มเติมเข้ามาช่วยออกแบบดีไซน์ภายในท่าอากาศยาน ซึ่งเป็นนักออกแบบระดับโลกมีชื่อเสียงระดับโลก จะเข้ามาช่วยออกแบบอาคารให้สวยงาม ทันสมัย ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการ โดยคาดว่าต้นปี 2564 จะแถลงข่าวความคืบหน้าของการดำเนินงาน”

          ทั้งนี้ เมื่อดำเนินการจัดทำแผนรายละเอียดการพัฒนาตามแผนแม่บทกำหนดไว้แล้วเสร็จ จะได้รับหนังสืออนุญาตเริ่มงานก่อสร้าง (NTP) ในช่วงต้นปี 2565 ใช้เวลาก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกราว 3 ปีแล้วเสร็จ เพื่อเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ต้นปี 2568 หลังจากนั้นจะใช้เวลา 47 ปีในการบริหาร และครบกำหนดสัญญาร่วมทุนต้นปี 2615

          “บีทีเอส"ศึกษานอนแอร์โร

          นอกจากการลงรายละเอียดออกแบบท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกแล้ว ขณะนี้บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) พันธมิตรใน UTA ยังอยู่ระหว่างศึกษาแผนพัฒนาในส่วนของกิจการที่นอกเหนือธุรกิจการบิน (นอนแอร์โร) เพื่อวางรูปแบบการพัฒนา โดยคาดว่าจะใช้พื้นที่ต่อยอด ธุรกิจนอนแอร์โรราว 1 พันไร่ มูลค่าหลักแสนล้านบาท ประกอบด้วย อสังหาริมทรัพย์ แอร์พอร์ตซิตี้ ฟรีเทรดโซน และคาร์โก้

          ทั้งนี้ การศึกษาธุรกิจนอนแอร์โร คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในต้นปี 2565 เพื่อให้ทันต่อการรับหนังสือ NTP และเริ่มเดินหน้าเข้าพื้นที่ก่อสร้าง โดยแผนดังกล่าว บีทีเอสได้รับมอบหมายจาก UTA ให้ทำการศึกษา แต่ยังไม่ได้รับมอบหมายให้เข้าไปลงทุน ดังนั้นเมื่อศึกษาแล้วเสร็จจะต้องนำเสนอ และหารือร่วมกับ UTA เพื่อพิจารณารูปแบบการลงทุน และรายงานแผนดังกล่าวไปยัง สกพอ.เพื่อพิจารณาอนุมัติ

          กองทัพเรือเร่ง“อีเอชไอเอ”

          รายงานข่าวจาก สกพอ.ระบุว่า ความคืบหน้าการเตรียมพื้นที่ก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ขณะนี้กองทัพเรือทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ของรันเวย์ที่ 2 ครบถ้วน โดยรันเวย์มีระยะทาง 3,500 เมตร มูลค่าก่อสร้าง 1.7 หมื่นล้านบาท คาดการณ์ว่าจะผ่านการอนุมัติ EHIA และเริ่มงานก่อสร้างไม่เกินปลายปี 2564

          สำหรับโครงการพัฒนาสนามบิน อู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โดยกองทัพเรือเปิดให้ยื่นข้อเสนอวันที่ 21 มี.ค.2562 แต่การคัดเลือกต้องสะดุดเพราะบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด (กลุ่มซีพี) ยื่นฟ้องศาลปกครองว่า คณะกรรมการคัดเลือกโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกกระทำการไม่ชอบในกฎหมาย กรณีไม่รับซองข้อเสนอกล่องที่ 6 ด้านข้อเสนอทางเทคนิคและแผนธุรกิจ และข้อเสนอกล่องที่ 9 ด้านราคา เพราะเอกชนยื่นเอกสารไม่ทันเวลา 15.00 น.

          สำหรับการพิจารณาของศาลได้อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 10 ม.ค.2563 ให้สิทธิ์บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด ร่วมประมูลต่อ โดยประกาศผลข้อเสนอด้านราคาเมื่อวันที่ 30 ม.ค.2563 ให้กิจการร่วมค้าบีบีเอสยื่นข้อเสนอการเงิน 3.05 แสนล้านบาท ได้สิทธิพัฒนาและมีพันธมิตร คือ บริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 45% ,บริษัทบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 35% และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 20% และมีผู้บริหารสนามบินนานาชาตินาริตะเป็นพันธมิตรพัฒนาสนามบิน

 

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย