บิ๊กเนมดัมพ์ราคา บ้าน-คอนโด ราคา3ล. ตลาดยังต้องการสูง
กลุ่มลูกค้าหน้าใหม่-เก็งกำไรลงทุน-คนชั้นกลางมีเงิน โผล่กู้ชีพอสังหาฯ ไล่ช็อปของถูก หลังบิ๊กเนมระบายสต๊อก ลดแลกแจกแถม หลังโควิดป่วนตลาดรุนแรง กลุ่มลูกค้าระดับล่าง วัยสร้างตัวหายวับ
ช่วงสถานการณ์วิกฤติ ไรรัสโควิด-19 ทุบซ้ำรุนแรง ตลาดอสังหาริมทรัพย์ ผู้ประกอบการ ต่างนำสต๊อกที่มีออกขาย แบบลดราคาต่ำๆ แถมของสมนาคุณแบบกระหน่ำ เพราะมองว่า หากยังมีของจำนวนมากอยู่ในมือ ในภาวะไม่ปกติจะเสี่ยงกับการแบกภาระต้นทุน โดยเฉพาะดอกเบี้ย
สวนทางกับกลุ่มเรียลดีมานด์ระดับล่าง เงินเดือน ไม่เกิน 3 หมื่นบาท หายไปจากตลาด ยอมรับว่าหลายคนยังต้องการที่อยู่อาศัย เมื่อมานั่ง ทบทวน หากตัดสินใจซื้อในช่วงนี้อาจเสี่ยง จึงเป็นเหตุให้สินค้า ระดับราคาตั้งแต่กว่า 2 ล้านบาทลงมา แทบขายไม่ได้ แม้ ผู้ประกอบการต่างนำโครงการทุกระดับออกมาจัดแคมเปญลด-แลก-แจก-แถมดุเดือดสนั่นเมืองก็ตาม ท่ามกลางวิกฤติ กลายเป็นโอกาสของขาช็อป รอจังหวะของถูก เลหลัง สามารถเลือกของดี ทำเลโดนใจ ทำกำไรจากการปล่อยเช่าลงทุนในระยะยาว ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า ซึ่งผู้ประกอบการอาศัยคนกลุ่มนี้ระบายสต๊อกโครงการ
“ฐานเศรษฐกิจ” รับคำยืนยันจากผู้บริโภค จำนวนหนึ่งว่า ช่วงนี้เป็นจังหวะของคนรอซื้อของถูก สำหรับบ้านและคอนโดมิเนียม อีกทั้งยังสามารถต่อรองกับผู้ประกอบการได้ ไม่ว่าจะเป็นการขอส่วนลดเพิ่มเติม หรือของแถมตามที่ต้องการ
จากการให้สัมภาษณ์ของ นายปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจพฤกษา เรียลเอสเตทแวลู บริษัทพฤกษาเรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) ระบุ ช่วงสถานการณ์ไม่ปกติ เศรษฐกิจชะลอตัว ดอกเบี้ยเงินฝากต่ำ ทองคำ ตลาดหุ้นผันผวนสร้างความเสียหายต่อนักลงทุนมหาศาล ขณะที่อสังหาริมทรัพย์ แม้จะได้รับผลกระทบ แต่มองว่าเป็นสินทรัพย์ที่มีความมั่นคง มีมูลค่า ให้ผลตอบแทนสูง 5-7% หากซื้อปล่อยเช่าทำกำไรระยะยาว ซึ่งส่งผลดีมากกว่าการฝากธนาคาร และการลงทุนรูปแบบอื่นที่ล้วนมีความเสี่ยง
อย่างไรก็ตามบริษัทยอมรับว่าช่วงสถานการณ์โควิด-19 มีลูกค้าเรียลดีมานด์ระดับล่าง ตั้งแต่ 3 หมื่นบาทต่อเดือนลงมาที่มีกำลังซื้อคอนโดมิเนียมในราคา ไม่เกิน 2 ล้านบาท หายไปจากตลาด ขณะกลุ่มเงินเย็นคนชั้นกลาง มีเงินฝากอยู่ในธนาคาร กลุ่ม คนมีรายได้ 5 หมื่น-1 แสนบาทขึ้นไป ที่ไม่ได้รับผลกระทบ ติดต่อซื้อจำนวนมาก โดยเฉพาะบ้านและคอนโดฯระดับราคา 3 ล้านบาทขึ้นไป กลับกลายเป็นกลุ่มสินค้าขายได้ เพียงแต่ต้องอยู่ในทำเลที่ดีอย่างรถไฟฟ้า สำหรับสินค้าที่ บริษัทนำออกขาย ลดราคา 10% ส่วนใหญ่80-90% เป็นบ้านและคอนโดฯพร้อมอยู่ มูลค่า 10,000 ล้านบาท ราคาเฉลี่ย 3 ล้านบาท ยอมรับว่าค่อนข้างประสบความสำเร็จ กับลูกค้ากลุ่มรอช็อปของถูก ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้จะเข้ามาทดแทนกลุ่มเรียลดีมานด์ระดับล่าง ที่หายไป
ขณะการขายแม้ช่วงนี้อยู่ภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.)ฉุกเฉิน ลูกค้าไม่สะดวกออกจากบ้านเยี่ยมชมโครงการดูสินค้า แต่บริษัทใช้ช่องทางดิจิทัล ดึงลูกค้าเข้าระบบ ล่าสุดมีลูกค้าจากเชียงใหม่และอีกหลายจังหวัด ติดต่อซื้อโครงการ อาทิ โครงการพลัมคอนโด ทำเลติดมหาวิทยาลัยรังสิต ขณะนี้เหลือ 500 หน่วย และทำเลติดมหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตรังสิต เหลือ 1,000 หน่วย เป็นต้น ทั้งนี้มองว่า ในช่วงไตรมาสที่ 2 การแข่งขันน่าจะรุนแรงขึ้น
เช่นเดียวกับ นายอุทัย อุทัยแสงสุข ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ยอมรับว่า ช่วงไตรมาสที่ผ่านมา มีลูกค้าบางส่วนประสบปัญหาทางการเงิน จากวิกฤติโรคระบาดที่เกิดขึ้น ทำให้มีการยกเลิกยอดขาย ยอดโอนกรรมสิทธิ์ไปบ้าง แม้พยายามแก้ปัญหาให้ลูกค้าแล้ว เช่น ในกลุ่มคอนโดฯ มีการทิ้งดาวน์ อยู่ที่ 15-20% ซึ่งมากกว่าช่วงปกติ แต่อย่างไรก็ตาม กลับมีกลุ่มลูกค้าใหม่เกิดขึ้นไม่น้อย จึงทำให้ยอดขายในช่วงไตรมาสแรกทะลุ 1 หมื่นล้านบาท ส่วนหนึ่งก็มาจากการเพิ่มขึ้นของลูกค้ากลุ่มดังกล่าว
“ต้องยอมรับว่า กลุ่มคนที่มีเงิน มีเครดิตยังมีอยู่เยอะในตลาด เพียงแต่บางคนเดิมที กังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจ จึงเลือกที่จะเก็บเงินไว้ดีกว่า แต่พอขอราคาถูกลง มีแคมเปญจูงใจ ก็พร้อมจะตัดสินใจจากอำนาจในการซื้อที่มีอยู่สูง โดยเฉพาะกลุ่มเรียลดีมานด์ ต้องการบ้าน 3-5 ล้านบาท ของในตลาดมีการแข่งขันกันสูงมาก”
สำหรับในตลาดแนวราบนั้น นายสมนึก ตันฑเทอดธรรม กรรมการผู้จัดการบริษัท เอ็น.ซี.เฮ้าส์ซิ่ง จำกัด (มหาชน) ระบุว่า แม้ขณะนี้ การซื้อ-ขายจะไม่ค่อยคักคึก เนื่องจากคนระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการออกนอกบ้าน ตามมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 ของรัฐบาล จึงกลายเป็นข้อจำกัดในการเดินทางเข้าเยี่ยมชมโครงการต่างๆ ของลูกค้าที่มีความต้องการ แต่อย่างไรก็ตาม ยอดขายช่วงเดือน มกราคม-มีนาคม ยังใกล้เคียงเป้าหมาย อยู่ที่ 700-800 ล้านบาท เพราะพบกำลังซื้อในบางกลุ่มยังมีอยู่ โดยเฉพาะยอดที่มาจากลูกค้าวอล์กอินเข้าโครงการ แม้จำนวนลดน้อยลงก็จริง แต่กลับเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีคุณภาพมากขึ้น กลุ่มที่รอจังหวะการลดลงของราคาโปรดักต์ที่ถูกตลาดกดดันและแข่งขันกันสูง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่เดิมที่มีความตั้งใจ และวางแผนจะซื้อบ้านอยู่แล้วจากหลายสาเหตุ เช่น ต้องการบ้านที่ใหญ่ขึ้นจากการขยายครอบครัว ก็มีการตัดสินใจซื้อในเวลารวดเร็วขึ้น เพราะอยากได้โปรโมชันต่างๆ ที่ผู้ประกอบการทยอยออกมาเพื่อใช้กระตุ้นยอดขาย ขณะเดียวกันลูกค้าคงมองว่า เป็นช่วงเวลาที่สามารถต่อรองกับผู้ประกอบการได้ในแง่ต่างๆ อีกทั้งแบงก์อยู่ในภาวะอยากปล่อยสินเชื่อ และให้ดอกเบี้ยต่ำ จึงกลายเป็นจังหวะที่ดีในการซื้ออย่างมาก เพราะในอนาคตเองกังวลว่าอาจจะกู้ได้น้อยลง หรือมีปัจจัยอื่นๆ มาท้าทายอีก
กลุ่มลูกค้ารอช็อปของถูก จะเข้ามาทดแทนกลุ่มเรียลดีมานด์ระดับล่างที่หายไป
ที่มา: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ