บขส.พับแผนย้ายหมอชิต 2
ประธานบอร์ด บขส.พับแผนย้ายสถานีหมอชิต 2 แค่ลดขนาดพื้นที่เหลือ 58 ไร่ ปักหลักรอเชื่อมต่อระบบราง หลังสถานีกลางบางซื่อ-สายสีแดง ทยอยเปิดให้บริการปี 64 พร้อมรับนโยบายคมนาคม ไม่ให้เป็นแหล่งแอบอ้างทำมาหากิน-ดึงไอทีพัฒนาระบบอำนวยความสะดวกผู้โดยสาร-ดูแลขวัญกำลังใจพนักงาน
นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัทขนส่ง จำกัด (บขส.) คนใหม่ เปิดเผยว่า การกำกับนโยบาย บขส.ตามที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ได้มอบนโยบายให้บอร์ดบขส.ขับเคลื่อนงาน ภารกิจหลักการที่สำคัญ 3 เรื่องได้แก่ 1.การบริหารงานต้องยึดระเบียบกฎหมายมีความโปร่งใส ไม่ให้เป็นแหล่งแอบอ้างในการทำมาหากิน สำหรับผู้ที่ไม่ปรารถนาดี 2.พัฒนาปรับปรุงระบบโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาอำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสาร 3.การดูแลพนักงานต้องให้ได้รับผลตอบแทนในอัตราที่มีความเหมาะสมเป็นธรรม เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ
นอกจากนี้ ประธานบอร์ด บขส.ยอมรับว่านโยบายเดิมที่มีแนวคิดจะย้ายสถานีขนส่งหมอชิต 2 ไปจุดอื่นๆ เช่น หมอชิตเดิม หรือพื้นที่อื่นๆ อาจต้องเปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากเห็นว่าการอยู่ในพื้นที่เดิมจะเกิดประโยชน์มากกว่าเนื่องจากปลายปี 64 หรือต้นปี 65 โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงสถานีกลางบางซื่อก็จะเปิดให้บริการ การที่บริการรถขนส่งโดยสารของ บขส.ยังอยู่ที่เดิม จะสามารถเชื่อมการเดินทางระหว่างรถโดยสาร และระบบรางได้ โดยเห็นว่าพื้นที่สถานีขนส่งหมอชิต 2 นี้สามารถพัฒนาเป็นศูนย์กลางระบบรถโดยสารสาธารณะหรือ Bus Transportation Hub ได้
โดยหลังจากนี้ คณะกรรมการฯและฝ่ายบริหาร บขส.จะเจรจากับการรถไฟแห่งประเทศไทยหรือ รฟท.เพื่อขอใช้พื้นที่ต่อ เบื้องต้นจะมีการลดพื้นที่จากปัจจุบัน 73 ไร่ ลงเหลือ 58 ไร่ โดยจะตัดส่วนพื้นที่ที่เคยเป็นจุดให้บริการรถร่วมบริการที่ขณะนี้สามารถดูแลและมีพื้นที่จอดรถของตนเองออกไป โดยแนวทางการเจรจากับ รฟท.นั้นเชื่อว่าทาง รฟท.เองก็จะได้ประโยชน์ โดยสามารถเจรจาค่าเช่าที่เป็นราคาปัจจุบัน จากสัญญาเดิมที่ใช้อัตราเก่าและไม่มีสัญญาอย่างเป็นทางการไว้ คาดว่าในเร็วๆ นี้ จะสามารถเริ่มการเจรจาระหว่าง บขส.และรฟท.ได้
“ตรงจุดที่เป็นย่านพหลฯ ในอนาคตเมื่อมีการบูรณาการร่วมกัน ระหว่างหน่วยงาน ทั้ง บขส.รฟท. รวมถึง ขสมก.ที่มีพื้นที่อยู่ด้านข้าง โดยมีแผนจะใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นสถานีชาร์จไฟฟ้าของรถเมล์รุ่นใหม่ที่เป็นรถพลังงานไฟฟ้า EV โดย บขส.จะขอให้ ขสมก.จัดรถวิ่งวนหมุนเวียนอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสาร ที่จะเดินทางเชื่อมต่อระหว่างระบบราง จากสถานีกลางบางซื่อ มาที่สถานีขนส่งหมอชิต 2 ความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงานนี้เชื่อว่าประชาชนผู้ใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะจะได้ประโยชน์สูงสุด”
นายสรพงศ์กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังมีนโยบายเร่งด่วนที่กระทรวงคมนาคมมอบหมายให้บอร์ด บขส.ชุดใหม่ดำเนินการ เนื่องจาก บขส.ยังขาดตำแหน่งผู้บริหาร 3 ตำแหน่ง คือ 1.กรรมการผู้จัดการใหญ่ 2.รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ 3.ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ดังนั้นต้องเร่งสรรหาบุคคลที่มีฝีมือ มีความสามารถเข้ามาทำงาน
ทั้งนี้ ปัจจุบัน บขส.มีรถทั้งหมด 472 คัน แบ่งเป็นรถที่มีอายุการใช้งาน 28 ปี จำนวน 341 คัน และเป็นรถที่มีการใช้งานเฉลี่ย 8-10 ปี อีก 131 คัน ต้องดูแลความคุ้มค่าของการซ่อมบำรุงให้เหมาะสม และถ้ามีการลงทุนต้องทำให้เกิดความสมดุลสอดคล้องกับรายรับรายจ่าย
โดยโครงการจัดหารถโดยสารใหม่ รูปแบบการเช่าพร้อมซ่อมบำรุงทั้งหมด เพื่อไม่ให้เป็นภาระองค์กร เช่น โครงการจัดเช่ารถโดยสาร 314 คัน, โครงการจัดเช่ารถโดยสารขนาดเล็ก (มินิบัส) 21 ที่นั่ง 55 คัน และโครงการจัดเช่ารถโดยสาร 26 คัน ปัจจุบันอัตราบรรทุกผู้โดยสารต่อคันอยู่ที่ 65-70% อนาคตถ้ามีอัตราผู้โดยสารใช้บริการต่อ 1 คันมากขึ้นกว่า 65-70% จะทำกำไรให้องค์กรมากขึ้น โดยที่ไม่เป็นภาระกับผู้โดยสารและประเทศส่วนระยะยาวต้องปรับปรุงโครงสร้างองค์กร เนื่องจากปัจจุบัน บขส.มีพนักงาน 3,000 คน แต่มีการเดินรถทั่วประเทศ ดังนั้นต้องนำระบบไอทีเข้ามาบริหารจัดการ ซึ่งแนวทางทั้งหมดนี้จะทำให้ บขส.กลับมามีผลประกอบการที่เข้มแข็ง
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ