นิคมอุตฯอุดร พร้อมเปิดปี 64 กนอ.เล็งดูดเงินเข้าลงทุน2.2หมื่นล้าน

15 ก.ย. 2563 716 0

          “ นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี ว่าโครงการตั้งอยู่ที่ตำบลโนนสูง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี มีพื้นที่ประมาณ 2,170 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ขาย 1,635 ไร่ มูลค่าลงทุนประมาณ 1 แสนล้านบาท มีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 50% โดยเฉพาะระบบสาธารณูปโภค คาดว่าปี 2564 จะสามารถเปิดให้บริการได้

          “หลังเปิดให้บริการครบ 100% เชื่อว่านิคมฯแห่งนี้ จะมีเม็ดเงินเข้ามาลงทุนในพื้นที่ประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท เกิดการจ้างงานไม่ต่ำกว่า 20,000 คน สามารถสร้างรายได้ด้านภาษีอากร ให้กับภาครัฐได้ถึงประมาณ 1.5-2 หมื่นล้านบาท ต่อปี และคาดจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 1 แสนล้านบาท“นางสาวสมจิณณ์ กล่าว

          สำหรับการดำเนินงานแบ่งออกเป็น 2 ระยะ โดยเฟส 1 พื้นที่ 1,000 ไร่ ปี 2563-2565 เป็นพื้นที่ขายจริง 700 ไร่ ทั้งอาคารคลังสินค้าให้เช่า การบริการรับ และจ่ายตู้คอนเทนเนอร์ ให้บริการเปิดตู้และบรรจุตู้คอนเทนเนอร์สำหรับสินค้านำเข้าส่งออกผ่านแดน มีการขออนุญาตจัดตั้งเขตปลอดอากรและพร้อมให้ใช้บริการ การให้บริการสถานีขนส่งสินค้า(Tuck Terminal) และการให้บริการขนส่งสินค้าด้วยระบบขนส่งทางรางโดยเชื่อมกับสถานีหนองตะไก้ ที่เหลือประมาณ 300 ไร่ เป็นระบบสาธารณูปโภค

          ส่วนเฟส 2 อีก 1,000 ไร่ ปี 2565-2568 จะพัฒนาระบบรางภายในนิคมอุตสาหกรรมเพื่อเชื่อมต่อกับสถานีหนองอุตสาหกรรมตะไก้ และเป็นผู้ให้บริการขนส่งระหว่างประเทศ(Freight Forwarder) อย่างเต็มรูปแบบ มีรถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ ห่างจากท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี เพียง 14 กิโลเมตร อยู่ห่างจากถนนทางหลวงหมายเลข 2 ถนนมิตรภาพประมาณ 2 กิโลเมตร ทิศใต้อยู่ติดกับทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-หนองคาย มีการจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้า (Distribution Center) ที่อยู่ห่างชายแดนจากด่านหนองคาย 53 กิโลเมตร สามารถเชื่อมต่อเศรษฐกิจการค้า ขนส่งสินค้า และกระจายสินค้าผ่านไปทางกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) และจีนมากขึ้น

          นางสาวสมจิณณ์กล่าวว่า นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีมีความได้เปรียบในเชิงภูมิศาสตร์ คือ มีทำเลที่ตั้งอยู่ในโครงข่ายระบบคมนาคมขนส่งที่เชื่อมโยงทั้งในและนอกประเทศ มีเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างประเทศเพื่อนบ้านกับจีนตอนใต้ โดยใช้เส้นทาง R12, R9 และ R8 อยู่ในเส้นทางรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-หนองคาย ที่สามารถรองรับการขนส่งสินค้าระหว่างไทยกับจีนตอนใต้ไปยังท่าเรือแหลมฉบังและพื้นที่อีอีซี

          นอกจากนี้ มีศูนย์กระจายสินค้าทางรางและศูนย์โลจิสติกส์ในพื้นที่กว่า 400 ไร่ อยู่ติดกับเส้นทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-หนองคาย ทั้งยังได้มีการศึกษาความเหมาะสมของโครงการที่ก่อให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่ เช่น การศึกษาท่าเรือบก (Dry Port) จังหวัดอุดรธานี, พัฒนาระบบการเดินรถไฟจากสถานีหนองตะไก้เข้ามายังพื้นที่โครงการ 1.8 กิโลเมตร เพื่อให้การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี สามารถให้บริการแก่นักลงทุนและจูงใจนักลงทุนให้เข้ามาลงทุน

          นายพิสิษฏ์ พิพัฒน์วิไลกุล กรรมการ ผู้จัดการ บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด กล่าวว่าต้องการให้ภาครัฐขยายพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดนจังหวัดหนองคายครอบคลุมมาถึงจังหวัดอุดรธานี เพราะมีศักยภาพเรื่องทำเลที่ตั้ง เพื่อให้นักลงทุนได้รับสิทธิประโยชน์ในการ ส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการ ลงทุน(บีโอไอ) ประกอบกับไทยยังได้รับอานิสงส์ จากสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ ที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจย้ายฐานผลิตเข้ามาในไทยมากขึ้น

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย