ธปท.เกาะติดคนไทยหนี้ท่วม

15 ก.พ. 2566 358 0

 

          อายุ 25 ปี รูดบัตรซื้อรถ-เกษียณค้างเติ่ง 4 แสน

          แบงก์ชาติเปิด 4 แนวทางแก้หนี้ครัวเรือน แฉพฤติกรรมคนไทยเป็นหนี้เร็วมีถึง 58% ของคนอายุ 25-29 เริ่มก่อหนี้พบ 30% ของหนี้บัตรเครดิตสูงกว่าเงินเดือน 10-25 เท่า คนวัยเกษียณมีหนี้เฉลี่ย 4 แสนบาทต่อคน ขณะที่ยังมีหนี้นอกระบบกว่า 54,000 บาทต่อคน หวั่นฉุดรั้งเศรษฐกิจและนำไปสู่ปัญหาสังคม

          น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน 1 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ ธปท.ได้ติดตามปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยและการเร่งปรับโครงสร้างหนี้มาต่อเนื่อง พบว่า หนี้ครัวเรือนของไทยยังอยู่ในระดับสูงมาก โดยล่าสุดไตรมาส 3 ปี 2565 อยู่ในระดับ 86.8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) แม้จะลดลงจากระดับสูงสุดที่ 90.1% แต่เป็นการลดลงจากตัวจีดีพีที่เพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้เกิดขึ้นจากตัวหนี้ของคนไทยที่ลดลง และหากมองไปข้างหน้าหากไม่ได้เร่งแก้ไขอะไรเลยหนี้ครัวเรือนของไทยในปี 2570 ยังจะอยู่ระดับ 84% ของจีดีพี ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) ที่กำหนดอัตราสูงสุดไว้ที่ 80%

          ทั้งนี้ BIS ระบุว่า หากหนี้ครัวเรือนเกินกว่าอัตราที่กำหนดดังกล่าว จะทำให้เกิดการฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจ เพราะรายได้ส่วนใหญ่ต้องเอาไปจ่ายคืนหนี้แทนการใช้จ่าย และยังจะกระทบเสถียรภาพของสถาบันการเงิน หากหนี้ครัวเรือนกลายเป็นหนี้เสียจำนวนมาก นอกจากนั้น ยังจะก่อให้เกิดปัญหาทางสังคม สุขภาพจิต และอาชญากรรม ดังนั้น เพื่อช่วยให้ภาคครัวเรือนอยู่รอดและปรับตัวสู่โลกใหม่ได้อย่างยั่งยืน ธปท. ได้จัดทำแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน คือแก้ให้ตรงจุดไม่สร้างภาระเพิ่มให้ลูกหนี้ไม่ลดโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อ

          ด้าน นายจิตเกษม พรประพันธ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายส่งเสริมความรู้ทางการเงิน ธปท.กล่าวต่อว่า จากการสำรวจลูกหนี้ ธปท.พบ 8 ข้อเท็จจริงของหนี้คนไทย คือ 1.คนไทยเป็นหนี้เร็ว โดย 58% ของคนอายุ 25-29 ปี เริ่มเป็นหนี้บัตรเครดิต หนี้ส่วนบุคคล หนี้รถยนต์ มอเตอร์ไซค์และ 1 ใน 4 หรือ 25% ของคนกลุ่มนี้เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) 2.คนไทยเป็นหนี้เกินตัว โดยพบว่าเกือบ 30% ของลูกหนี้บัตรเครดิตและหนี้ส่วนบุคคล มีหนี้เกิน 4 บัญชีต่อคนวงเงินรวมต่อคนสูงถึง 10-25 เท่าของรายได้ในแต่ละเดือน จนทำให้รายได้เกินกว่าครึ่งต้องเอาไปจ่ายคืนหนี้ ใช้จ่ายไม่พอและอาจต้องไปก่อหนี้นอกระบบ

          3.คนไทยเป็นหนี้โดยไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดย 4 ใน 5 ของปัญหาในขั้นตอนการเสนอขายสินเชื่อของสถาบันการเงิน คือ ลูกหนี้มักได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วน ไม่ถูกต้อง 4.เป็นหนี้เพราะมีเหตุจำเป็น และที่สำคัญคือกว่า 62% ของครัวเรือนไทยมีเงินออมเผื่อฉุกเฉินไม่เพียงพอ และหากเกิดเหตุที่ทำให้รายได้ลดลง 20% จะมีครัวเรือนเกินครึ่งที่มีเงินไม่พอจ่ายหนี้ 5.คนไทยเป็นหนี้นานโดยมากกว่า 1 ใน 4 ของคนอายุเกิน 60 ปี ยังมีภาระหนี้ที่ต้องผ่อนชำระ โดยมีหนี้เฉลี่ยสูงกว่า 415,000 บาทต่อคน และใช้วิธีผ่อนจ่ายขั้นต่ำ ซึ่งทำให้หนี้ไม่หมดเสียที

          6.หนี้เสียของไทยอยู่ในระดับสูง โดยลูกหนี้ 10 ล้านบัญชีที่เป็นหนี้เสีย และเกือบครึ่งหรือ 4.5 ล้านบัญชี พบว่าเพิ่งเป็นหนี้เสียในช่วงโควิด-19 7.คนไทยเป็นหนี้ไม่จบสิ้น โดยเกือบ 20% ของบัญชีหนี้เสียแม้ว่าจะถูกยื่นฟ้องแล้ว และ 1 ใน 3 ของลูกหนี้ในคดีที่จบด้วยการยึดทรัพย์มาขายทอดตลาดแล้ว ก็ยังปิดหนี้ไม่ได้ยังเหลือหนี้สินที่ต้องจ่ายต่อเนื่อง และ 8.คนไทยเป็นหนี้นอกระบบจำนวนมาก โดยจากการสำรวจของ ธปท. พบว่า 42% ของกว่า 4,600 ครัวเรือน ที่สุ่มตัวอย่างจากทั่วทุกภูมิภาค มีหนี้นอกระบบเฉลี่ยคนละ 54,300 บาท

          ขณะที่ น.ส.อรมนต์ จันทพันธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธปท.กล่าว เพิ่มเติมถึงแนวทางการแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนของ ธปท. ว่าจะแบ่งเป็น 4 ด้าน โดยด้านที่ 1 ที่ต้องเร่งแก้ให้เร็วที่สุดคือ หนี้เสียที่เกิดขึ้นช่วงโควิดซึ่งเป็นหนี้ส่วนบุคคลและหนี้ในภาคเกษตรเป็นส่วนใหญ่ โดยจะเร่งรัดการปรับโครงสร้างหนี้ ตามมาตรการแก้หนี้ระยะยาว รวมทั้งการผลักดันให้มีกฎหมายที่ช่วยให้ลูกหนี้รายย่อยทั่วไปที่ไปต่อไม่ไหวได้เข้ากระบวนการฟื้นฟู หรือขอล้มละลายได้ด้วยตนเอง

          2.การแก้หนี้ที่เป็นปัญหาเรื้อรังจะหาแนวทางให้ลูกหนี้เห็นทางปิดจบหนี้ได้ โดยผลักดันให้มีแนวทางแก้ไขปัญหา โดยเริ่มจากหนี้บัตรกดเงินสดที่เป็นหนี้เรื้อรังของลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง มีอายุมากและมีปัญหาทางการเงินรุนแรงก่อน 3.การลดหนี้ใหม่ที่เพิ่มขึ้นเร็วและอาจเป็นหนี้เสียหรือเรื้อรัง ในอนาคต ธปท.จะออกเกณฑ์เพื่อให้เจ้าหนี้ปล่อยสินเชื่อด้วยความรับผิดชอบ และ 4.ติดตามข้อมูลหนี้ที่ยังไม่อยู่ในตัวเลขหนี้ในหนี้ครัวเรือน อาทิ หนี้เพื่อการศึกษา (กยศ.) สินเชื่อสหกรณ์และหนี้นอกระบบ เพื่อช่วยแก้ไข ทั้งนี้ ธปท.จะทยอยออกแนวนโยบายแก้ปัญหาในแต่ละเรื่องออกมาตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ไปจนถึงสิ้นปีนี้

 

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย