ท่าเรือ แหลมฉบัง จุดพลุอีอีซี
กพอ.เคาะผลเจรจา แหลมฉบัง “กัลฟ์-ปตท.” เดินหน้าแหลมฉบังเฟส 3 จบดีลผลตอบแทนรัฐ 2.9 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าเป้า 9.85% ชง ครม. อนุมัติ 9 มี.ค.นี้ เซ็นสัญญาใน 3 เดือน พร้อมอนุมัติ งบเวนคืนไฮสปีดเทรน 2.17 พันล้าน “คณิศ” มั่นใจลงทุนอีอีซีฟื้นพิษโควิด มั่นใจดันยอดปีนี้ 4 แสนล้าน เผยบิ๊กเซอร์ไพรส์ลงทุน 5จี แบตเตอรี่ครบวงจร
การประชุมคณะกรรมการนโยบาย เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมวานนี้ (1 มี.ค.) ได้ข้อสรุปการประมูลท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ที่ยืดเยื้อมา 2 ปี
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กพอ.เห็นชอบให้การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ดำเนินโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ส่วนท่าเรือ F ภายหลังจากที่ผ่านมา กพอ.ได้มอบหมายให้ กทท. เจรจาผลตอบแทนกับ กลุ่ม GPC ประกอบด้วย บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (กลุ่ม ปตท.) บริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด
โดยขณะนี้ การเจรจาได้ข้อสรุปแล้ว เอกชน เสนอผลตอบแทนรัฐอยู่ที่ 29,050 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลางที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติไว้ 32,225 ล้านบาท ราว 9.85% ทำให้ผลตอบแทนที่เอกชนเสนอดังกล่าวผ่านหลักเกณฑ์ตามระเบียบกรมบัญชีกลาง สามารถดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างได้ ขั้นตอนหลังจากนี้ จะมีการเสนอมติ สกพอ.ไปยัง ครม.เพื่อพิจารณา หากเห็นชอบจึงจะดำเนินการขั้นตอน ร่างสัญญาและลงนามร่วมทุน
“การลงนามสัญญาโครงการฯ จะได้เมื่อไรนั้น ขึ้นอยู่กับ ครม.เป็นผู้พิจารณาเห็นชอบ ซึ่งเลขาธิการ สกพอ.จะต้องเขียนเหตุผลประกอบกับการใช้หลักเกณฑ์ ที่จะเสนอราคาผลตอบแทนแก่รัฐที่ต่ำกว่าราคากลางด้วย ว่ามีเหตุผลเหมาะสม อย่างไร หลังจากเข้า ครม.แล้ว จึงจะไปทำร่างสัญญา ส่งอัยการพิจารณา กลับมา เสนอ ครม.อีกครั้ง ก่อนลงนามสัญญา คาดว่ากระบวนการเหล่านี้จะเสร็จใน 3 เดือนนี้” นายศักดิ์สยาม กล่าว
ชง ครม.เคาะ 9 มี.ค.
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า จะมีการเสนอ ครม.พิจารณาในวันที่ 9 มี.ค. 2564 เพื่อผลักดันโครงสร้างพื้นฐานต่อจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) โครงการท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 โครงการพัฒนาสนามบิน อู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เจ้าของโครงการแหลมฉบังเฟส 3 ได้เปิดให้เอกชนยื่นประมูลครั้งที่ 2 เมื่อเดือน มี.ค.2562 โดยมีผู้ยื่นซองประมูล 2 ราย คือ 1.กิจการร่วมค้า GPC
2.กิจการร่วมค้า NCP ประกอบด้วย บริษัทแอสโซซิเอท อินฟินิตี้ จำกัด บริษัทนทลิน จำกัด บริษัทพริมา มารีน จำกัด (มหาชน) บริษัทพีเอชเอส ออแกนิค ฮิลลิ่ง จำกัด และChina Railway Construction Corporation Limited
ทั้งนี้กิจการร่วมค้า NCP ได้ถูกตัดสิทธิการประมูล ทำให้กิจการร่วมค้า GPC เข้าสู่ขั้นตอนการเปิดซองที่ 4 ด้านผลประโยชน์ตอบแทน และเข้าสู่การเจรจาหลังจากที่มีการยื่นข้อเสนอผลประโยชน์ตอบแทนรัฐต่ำกว่าที่ ครม.กำหนด
นอกจากนี้ กิจการร่วมค้า GPC เป็น ผู้ชนะการประมูลและได้สิทธิการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ที่ได้ ลงนามเมื่อวันที่ 1 ต.ค.2562 และขณะนี้ อยู่ระหว่างดำเนินการ
เพิ่มค่าเวนคืนไฮสปีดเทรน
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า กพอ.อนุมัติการเพิ่มวงเงินค่าจัดกรรมสิทธิ์และสำรวจอสังหาริมทรัพย์ ของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ตามที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เสนอ โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.งบจำเป็นเร่งด่วน ขอรับงบกลางปี 2564 ซึ่งต้องได้รับงบภายในวันที่ 21 พ.ค.2564 เป็นค่าเวนคืนช่วงสุวรรณภูมิถึงอู่ตะเภา 607.56 ล้านบาท
2.ขอรับงบประจำปี 2565 เป็นค่าเวนคืนช่วงพญาไทถึงดอนเมือง วงเงิน 792.11 ล้านบาท และค่าเผื่ออุทธรณ์ ช่วงสุวรรณภูมิถึงอู่ตะเภา 770.48 ล้านบาท รวมวงเงินได้รับจัดสรรเพิ่ม 2,170.15 ล้านบาท ซึ่งยังไม่เกินกรอบวงเงินที่ตั้งไว้
“ไฮสปีดเทรนเดินหน้าตามแผน การส่งมอบพื้นที่ไม่มีปัญหาติดขัดอะไร การขอเพิ่มงบประมาณเวนคืนที่ดินนี้ ก็ยังไม่เกินกว่ากรอบกำหนดไว้ ที่ประชุมจึงอนุมัติเพิ่มงบดังกล่าว ส่วนความคืบหน้า ส่งมอบพื้นที่ ตอนนี้การรถไฟฯ เตรียมส่งมอบส่วนแรกช่วงสุวรรณภูมิถึงอู่ตะเภาภายในวันที่ 24 ต.ค.นี้”
ทั้งนี้ การอนุมัติเพิ่มงบดังกล่าว ส่งผลให้วงเงินเวนคืนที่ดินเพิ่มขึ้นจาก 3,570 ล้านบาท เป็น 5,740 ล้านบาท ซึ่งหลังจากนี้จะเสนอ ครม.ให้ความเห็นชอบ
สำหรับแผนดำเนินงานส่งมอบพื้นที่ แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1.การแก้ปัญหา ผู้บุกรุก ได้ดำเนินการเจรจากับผู้บุกรุกในพื้นที่ระหว่างช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภาและ มีการย้ายออกแล้ว 2.การเวนคืนที่ดิน ขณะนี้ ร.ฟ.ท.ทำรายละเอียดการเวนคืนที่ดินแล้วเสร็จ และแจ้งให้ผู้ถูกเวนคืนรับทราบเบื้องต้นแล้ว ซึ่งมีผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งสิ้น 679 หลังคาเรือน 923 ไร่ และ 3.การรื้อย้ายสาธารณูปโภค 756 จุด จะดำเนินการ แล้วเสร็จภายในเดือน ส.ค.2564
การลงทุนฟื้นพิษไข้โควิด
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า กพอ.รับทราบการลงทุนและความก้าวหน้าการลงทุนใน อีอีซี โดยการลงทุนปี 2564 จากแนวโน้มของสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลายขึ้นการลงทุนในปี 2564 จะอยู่ที่ประมาณ 4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่มี การขอส่งเสริมการลงทุน 2.08 แสนล้านบาท โดยการลงทุนในพื้นที่อีอีซีในปี 2564 จะมาจากการลงทุนในอุตสาหกรรม 3 แสนล้านบาท และเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานประมาณ 1 แสนล้านบาท
โดยในส่วนของการลงทุนในอุตสาหกรรมในอีอีซีส่วนหนึ่งจะได้อานิสงส์จากการฟื้นการลงทุนที่ชะลอมาจากปี 2563 โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) รายงานว่าจากคำขอส่งเสริมการลงทุน 2.08 แสนล้านบาท มีการลงทุนจริง 46% ขณะที่ในปีก่อนหน้าการลงทุนจริงในอีอีซีมีสัดส่วน 83-98% จากคำขอส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด ซึ่งเมื่อสถานการณ์ โควิด-19 ดีขึ้นในปีนี้การลงทุนที่ค้างมาจาก ปีก่อนส่วนหนึ่งจะมาลงทุนในปี 2564
อวดบิ๊กเซอร์ไพรซ์กลางปี
นอกจากนี้ในปี 2564 ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้จะมีการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ที่เรียกว่าเป็นเซอร์ไพรส์ขนาดใหญ่ เนื่องจากจะลงทุนโครงการเกี่ยวกับโครงการ 5 จี โดยเป็นการย้ายฐานการลงทุนจากต่างประเทศมาไทย เช่น สิงคโปร์ และจะลงทุนเกี่ยวกับการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าครบวงจรซึ่งจะมีการลงทุนในอีอีซี
ส่วนการลงทุนในอุตสาหกรรม 5G ในอีอีซีส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนของภาคเอกชนซึ่งประเทศไทยได้ประโยชน์ในการเร่งรัดผลักดันโครงการ 5G เร็วกว่าประเทศอื่นในอาเซียน ซึ่ง กพอ.เห็นชอบการพัฒนา 5G ในพื้นที่บ้านฉาง จ.ระยอง ที่มีแผนการพัฒนาให้เป็นสมาร์ทซิตี้ รวมทั้งกระจายไปยังพื้นที่อื่น
“5G จะเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับการผลิต และธุรกิจในอีอีซี ซึ่งเมื่อมีการลงทุนในเรื่องนี้จะต้องผลักดันให้ภาคธุรกิจ โรงงานในอีอีซีประมาณ 1 หมื่นแห่ง รวมถึงสถานศึกษา โรงพยาบาลให้มาใช้ประโยชน์ ส่วนอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์ยังมีในเรื่องของภาคเกษตรอัจฉริยะ การพัฒนาหุ่นยนต์ การทำแอพพลิเคชั่น”
“เอ็มอาร์โอ"รอยาวปลายปี
ขณะที่โครงการศูนย์ซ่อมสร้างอากาศยาน (MRO) พื้นที่ 500 ไร่ ในสนามบินอู่ตะเภา ซึ่ง สกพอ.จะจัดสำรวจความต้องการของนักลงทุน (Market sounding) อีกครั้งปลายปี 2564 เพื่อดูความพร้อมและความสนใจของนักลงทุน โดยปัจจุบันยังมี นักลงทุนที่สอบถามเข้ามาเกี่ยวกับการลงทุนในโครงการนี้
รวมทั้งบริษัทการบินไทยรอดูว่าเมื่อการบินไทยทำแผนฟื้นฟูยังมีความพร้อมหรือต้องการที่จะลงทุนในโครงการนี้อยู่หรือไม่ และจะลงทุนพื้นที่เท่าไหร่ เพราะการบินไทยจะลดขนาดฝูงบินลง 50% อาจจะไม่ต้องใช้พื้นที่ลงทุนมากถึง 200 ไร่เหมือนในแผนเดิม โดยจะรอให้การบินไทยตัดสินใจเรื่องนี้ภายในปี 2565
นอกจากนี้ กพอ.รับทราบ ความก้าวหน้า โครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (EFC) เป็นโครงการหลักของแผนพัฒนาภาคเกษตรในอีอีซี โดยเมื่อวันที่ 25 ม.ค.2564 ได้ลงนามความร่วมมือจัดทำระบบห้องเย็น ระหว่าง สกพอ. บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และ กนอ. เพื่อสร้างความร่วมมือพัฒนาเทคโนโลยีห้องเย็นที่ทันสมัย
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ