'กรีนบอนด์-สินเชื่อสีเขียว'เจาะคนรุ่นใหม่หัวใจรักษ์โลก!
บุษกร ภู่แส
กรุงเทพธุรกิจ
กระแสตื่นตัวในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทำให้ตราสารหนี้ประเภท ESG bond ซึ่งประกอบด้วย Green Bond, Social Bond และ Sustainability Bond มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสินเชื่อสีเขียวของ สถาบันการเงินเป็นแรงกระตุ้นชั้นดี! ให้ ดีเวลลอปเปอร์หันมาพัฒนาโครงการสีเขียว สังเกตได้จากการนำเสนอแผงโซลาร์ - EV ชาร์จ ในโครงการเพิ่มขึ้น
ดึงกลไกไฟแนนซ์เชียลกระตุ้น
เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการ ผู้จัดการ บริษัท เสนา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า Green Bond เป็นการสร้างแรงกระตุ้น (Incentive) จากปัญหาโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) อย่างรุนแรง และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีนโยบายสนับสนุนการดำเนินธุรกิจคาร์บอนต่ำ ประกอบกับทุกภาคส่วน กำลังสร้างอีโคซิสเต็มที่จะช่วยแก้ปัญหา Climate Change เดินหน้าไปได้อย่างยั่งยืน เสมือนการซื้อรถอีวี หากไม่มีสถานีชาร์จจำนวนมากพอ คนจะไม่กล้าซื้อรถอีวี ตลาดจะเป็นนิชมาร์เก็ต มากๆ ดังนั้นการที่ทำให้เป็นแมสได้ต้องสร้างความสมบูรณ์ของอีโคซิสเต็ม
“ช่วงแรกจำเป็นต้องสร้างแรงกระตุ้นเพื่อจูงใจให้คนอยากเข้ามาร่วมเหมือน โซลาร์เซลล์ที่รัฐบาลสนับสนุนคนที่ ทำได้ 10 บาทต่อหน่วย เพื่อดึงให้คนเข้ามาทำ เช่นเดียวกับกรีนบอนด์ หากเราระดมทุน นำไปทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องกรีน จะเกิด ข้อดีตามมา เช่น ทำโครงการขึ้นมาแล้วลดคาร์บอนเครดิตได้เท่านี้อาจทำให้ ได้ประโยชน์ด้านดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเท่าไร ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการระดมทุน”
ปัจจุบัน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ระบุว่า บ้านไหนที่ติดโซลาร์เซลล์จะให้ดอกเบี้ยพิเศษ เป็นการกระตุ้นให้ผู้บริโภคอยากติด โซลาร์เซลล์มากขึ้น เพราะต้องการผลักดันกระแสรักษ์โลก ซึ่งสามารถทำมิติเดียวกันกับกลุ่มผู้ประกอบการได้ โดยดูว่าผู้ประกอบการธุรกิจระดมทุนจากช่องทางไหน ถ้าผ่านตลาดทุนก็ให้ Incentive เช่นเดียวกับการกระตุ้น รายย่อยด้วยสินเชื่อสีเขียวผ่านธนาคาร สะท้อนความพยายามในการใช้กลไกของ “ไฟแนนซ์เชียลเซ็นเตอร์” เพื่อทำให้การแก้ปัญหา Climate Change ไปได้เร็วขึ้น
อย่างไรก็ดี การที่ผู้ประกอบการจะออกกรีนบอนด์เพราะอยากได้เรตพิเศษจาก กรีนบอนด์คงไม่ใช่! เหมือนคนจะซื้อบ้านเพราะอยากได้ดอกเบี้ยพิเศษจากโซลาร์เซลล์ แต่กลไกของไฟแนนเชียลเซ็นเตอร์ จะทำให้คนอยากทำมากขึ้น กู้เพราะได้ดอกเบี้ยต่ำกับบ้านที่ตนเองชอบ เช่นเดียวกับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่พัฒนาโครงการกรีนขึ้นมา แม้ต้นทุนแพงขึ้น แต่ได้บอนด์ที่ถูกลง จูงใจให้อยากทำมากขึ้น
สร้างแต้มต่อธุรกิจตอบโจทย์คนหัวใจสีเขียว
“เราปฏิเสธไม่ได้ว่า Green Content มีผลต่อการทำธุรกิจในอนาคตอย่างมาก คนที่สนใจสิ่งแวดล้อมไม่ได้มีแต่เพียง นักอนุรักษ์อย่างแต่ก่อน แม้แต่ในกลุ่ม นักลงทุนก็ยังมองหาบริษัทที่ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจาก Green Bond เพราะจะมีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำกว่า! ทำให้มีศักยภาพในการเติบโตยั่งยืนสูงกว่า และในกลุ่มลูกค้าก็มองว่าธุรกิจที่มีความรับผิดชอบ ต่อสังคมจะสะท้อนภาพลักษณ์ที่ดี ให้กับตัวตนของเขาด้วยเช่นกัน” ฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าว เมกะเทรนด์ดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะ แรงบีบจากวิกฤติโควิด-19 สถานการณ์ระดับโกลบอลอิมแพ็คที่ส่งผลต่อการพัฒนากลยุทธ์สินค้าและบริการ ซึ่งทุกวันนี้เราไม่สามารถปฏิเสธ “สีเขียว” ได้เลย ผู้บริโภควันนี้พูดถึง Green Living, Sustainability Journey, BCG (Bio-Circular-Green Economy) แม้กระทั่งวัยรุ่น กลุ่มแฟชั่นนิสต้า ผู้นำ เทรนด์ต่างๆ ก็ใส่ใจเรื่องเหล่านี้ รวมถึง Green Bond ที่กำลังมา
นั่นหมายความว่า ถ้าคุณดูแลสิ่งแวดล้อม ดีแค่ไหนคุณจะมีแต้มต่อในการทำธุรกิจ! นั่นคือ สามารถระดมทุนได้ต้นทุนต่ำกว่าคนอื่น
แม้ปัจจุบันไทยยังไม่เห็นภาพชัด แต่ ในประเทศอื่นให้ความสำคัญมาก โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนจากสแกนดิเนเวีย 20% มีคำถามเกี่ยวกับเรื่องกรีนว่า มีการบริหารจัดการอย่างไร? ดังนั้นเป้าหมายระดับ อินเตอร์เนชันแนล สแตนดาร์ด บนมาตรฐานโลกที่ได้รับการยอมรับ นั้นกำลังเป็นมาตรฐานใหม่ของธุรกิจ
กระทุ้งซัพพลายและดีมานด์
วสันต์ ศรีรัตนพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มพัฒนาธุรกิจ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แผนความร่วมมือกับพันธมิตรในการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป จำนวน 30,000 หลัง และ 50,000 หลัง สำหรับการติดตั้งเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ในบ้าน เป็น โอกาสดีในการเข้าร่วมโครงการ สินเชื่อสีเขียว (Green Finance) ของ ธนาคารหลายแห่งที่ออกมาสนับสนุนผู้บริโภค ผู้ผลิต และ ผู้ลงทุนกรีนบอนด์ ไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว หากโครงการไหนที่มีวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเข้าเงื่อนไขอยู่แล้ว ยิ่งมีแผงโซลาร์- EV ชาร์จ สามารถเข้าโครงการสินเชื่อ สีเขียวได้
“เป็นเทรนด์ที่ผู้ประกอบการอสังหา ริมทรัพย์ต้องให้ความสำคัญ แม้ว่าต้นทุน การทำโครงการจะเพิ่มขึ้นแต่ในระยะยาว จะส่งผลดีในแง่ของการช่วยแก้ปัญหา Climate Change ดังนั้น มาตรการทางการเงิน จะเข้าช่วยสร้างแรงกระตุ้นให้เกิดขึ้นทั้ง ในส่วนของซัพพลายและดีมานด์”
อย่างไรก็ดี ในช่วงแรกเทคโนโลยีมี ต้นทุนสูง การที่รัฐบาล และหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องมีมาตรการสนับสนุนจะทำให้เกิดการใช้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแผงโซลาร์ หรือ EV ชาร์จ ในโครงการบ้านและคอนโดมิเนียมแทนที่ผู้บริโภคซื้อติดตั้งเอง ทางผู้ประกอบการ จะดำเนินการให้ส่งผลต่อต้นทุนลดลงจาก Economies of scale
“เมื่อธนาคารเห็นความตั้งใจของ ผู้ประกอบการในการทำธุรกิจสีเขียวจะมีกรีนโลนเข้ามา รวมถึงการระดมทุนผ่าน Green Bond ช่วยลดต้นทุนทางการเงินลงได้บ้าง ถือเป็นจุดเริ่มต้นและเทรนด์ ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญกับผู้ประกอบการในการพัฒนาโครงการให้มีความเป็นกรีน มากขึ้น” เช่นเดียวกับ อภิชาติ เกษมกุลศิริหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) มองว่า การออก Green Bond เป็นที่เทรนด์ที่กำลังจะมา โดยบริษัทที่ออกจะต้องนำเงินที่ได้ไปใช้ในโครงการที่เป็นกรีน จริงๆ น่าจะเห็นในอีก 3-5 ปีข้างหน้า หลังมีการกระตุ้นจากธนาคารในการสนับสนุนสินเชื่อออกมารองรับเทรนด์รักษ์โลก ทำให้โครงการอสังหาริมทรัพย์ลงทุนเรื่องโซลาร์เซลล์ และ EV ชาร์จ ให้ลูกบ้านมากขึ้น
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ