37 อสังหาฯรายได้รวม 9 เดือน ทะลุ 2.3 แสนล.กำไรเฉียด 3 หมื่นลบ.

18 พ.ย. 2565 335 0

อสังหาริมทรัพย์



            LPN ปิดดีลพิเศษ บุ๊กขายอาคาร สนง.วิภาวดี

         

           แม้ว่าภาคอสังหาริมทรัพย์จะได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดมาแล้ว หลังจากที่ต้องเผชิญมรสุมใหญ่ จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กระทบไปทั่วโลก และแม้โควิดจะคลี่คลาย แต่ “เศรษฐกิจโลก” ก็ต้องมาเจอวิกฤตซ้อนวิกฤตอีก เมื่อเกิด “สงคราม” ระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่งผลให้วิกฤตด้านพลังงานลุกลามเป็นเชื้อเพลิงซ้ำเติมให้เศรษฐกิจโลก รวมถึงเศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับความเสี่ยงทางด้าน “ต้นทุนพลังงาน” ที่สูงขึ้น ต้นทุนวัสดุก่อสร้างสูงขึ้น ที่สำคัญส่งผลให้เกิดอัตราเร่งของ “อัตราเงินเฟ้อ” ไปทั่วโลก จนธนาคารกลางของแต่ละประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ต้องดำเนินนโยบายสวนทางกับเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยใช้นโยบาย “อัตราดอกเบี้ย” ในการสู้กับอัตราเงินเฟ้อ



            ส่งผลให้ประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะต้องดำเนินนโยบายการรักษาค่าเงินบาทและเงินทุนเคลื่อนย้าย ผ่านการชี้นำ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ ปรับตัว ซึ่งแน่นอน การปรับดอกเบี้ยในประเทศ ย่อมกระทบต่อกำลังซื้อ และต่อภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทั้งในมุมของต้นทุน ผู้ประกอบการและความสามารถของ “ผูซือ” ที่อยู่อาศัย การขึ้นและลงของอัตราดอกเบี้ย 1% มีผลต่อภาระการผ่อนประมาณ 10-11% และมีผลในเรื่องการจะซื้อที่อยู่อาศัย เนื่องจากธนาคารจะพิจารณาและอนุมัติสินเชื่อที่เข้มงวด ให้เหมาะสมกับความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัย



          รวมถึงความชัดเจน เรื่องที่ ธปท.ไม่ต่ออายุมาตรการ ผ่อนคลายอัตราส่วนสินเชื่อต่อราคาที่อยู่อาศัย (Loan to Value Ratio หรือ LTV) ที่จะสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 65 เนื่องจากธปท.มองว่า ภาพรวมอสังหาฯปรับตัวดีขึ้น และต้องการป้องกันเก็งกำไรและบริหารหนี้ครัวเรือนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม แน่นอนการไม่ต่อมาตรการ จะทำให้โอกาสที่จะได้รับสินเชื่อเพิ่มถึง 110% ก็จะอยู่ในมาตรการควบคุมของธนาคารฯ



          “ในปี 2566 ภาคอสังหาฯยังต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงที่เห็นชัดเจนตั้งแต่ปีนี้แล้ว ซึ่งยังมีเรื่องของการปรับราคาประเมินที่ดินใหม่ของกรมธนารักษ์ ที่เริ่มในวันที่ 1 ม.ค. 66 คาดขึ้นอีก 5-8 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ต้นทุนหลักเรื่องของราคาที่ดินในการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย หรือ โครงการอื่นๆ ปรับสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาที่อยู่อาศัยใหม่ปรับขึ้นไม่น้อยกว่า 5-10 เปอร์เซ็นต์ “นายไตรเตชะตังมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) กล่าวให้เห็นภาพตลาดอสังหาฯในปีหน้า



          อสังหาฯ ไปต่อ! โชว์ 9 เดือนโตสวนต้นทุนพุ่ง รายได้รวม 2.3 แสนล.-กำไรบวก 28%



          ผู้สื่อข่าวรายงาน แม้จะล่วงเลยเข้าสู่โค้งส่งท้ายที่จะปิดปี 2565 แล้ว ก็พอจะเห็นภาพว่า ภาคธุรกิจอสังหาฯในช่วงปลายปี 2564 ต่อเนื่องถึงปี 2565 ได้ปรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ หันมาให้ความสำคัญกับตลาด แนวราบมากขึ้น เพื่อสร้างโอกาสในการขายและรายได้ที่สามารถบันทึกได้อย่างรวดเร็ว การเพิ่มโครงการบ้านหรูในตลาดกลุ่ม 10 ล้านบาทขึ้นไป เพื่อหนุนในเรื่องของยอดขายและรายได้ ปรับพอร์ตสินค้าโครงการคอนโดฯในกลุ่มที่มีความต้องการซื้อ และเร่งระบายสินค้าคงค้าง (ห้องชุด) ที่พร้อมโอนฯ โดยเฉพาะโครงการ JV เพื่อสร้างความมั่นใจและรีเทิร์นผลตอบแทนให้กับผู้ลงทุน



          นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด (LPN Wisdom) บริษัทด้านการวิจัยและ พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือ บริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)(LPN) เปิดเผยกับ ผู้สื่อข่าวถึงผลการดำเนินงาน 9 เดือนปี 2565 ของ 37 บริษัทอสังหาฯที่จดทะเบียนที่รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่า รายได้รวมและกำไรเพิ่มขึ้น โดย 37 บริษัทอสังหาฯ มีรายได้รวม 230,852.39 ล้านบาท และ กำไรสุทธิ 29,853. 03 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.80% และ 28.02% จากระยะเดียวกันปี 2564 ตามลำดับ



          ในขณะที่ความสามารถในการทำกำไรโดยเฉลี่ย อยู่ที่ 12.93% เพิ่มขึ้นจาก 12.63% ในช่วงครึ่งแรกของ ปี 2565 และเพิ่มขึ้นจาก 11.41% จากระยะเดียวกันของปี 2564



          10 บิ๊กอสังหาฯ ตุนรายได้ 1.78 แสนล.‘เอพี’ ผู้นำโตแรง 22%-LH กำไร 6.3 พันล.



          บริษัทอสังหาฯ ที่มีรายได้สูงสุดคือ บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) มีรายได้สูงสุด โดยมี รายได้รวม 29,842.11 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% ขณะที่ บริษัท แลนด์แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) มีกำไรสุทธิสูงสุดที่ 6,322.01 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.50%



          จากการรวบรวมของ “ลุมพินี วิสดอมฯ” พบว่า รายได้รวมของ 10 อันดับแรกของบริษัทอสังหาฯ ที่มี รายได้สูงสุดมีรายได้รวม 178,264.48 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 77.22% ของรายได้รวมของบริษัทอสังหาฯ ทั้ง 37 บริษัท



          ในขณะที่กำไรสุทธิของ 10 บริษัทอสังหาฯ ที่มีกำไรสุทธิสูงสุด มีกำไรสุทธิรวม 30,347.94 ล้านบาท สูงกว่ากำไรสุทธิรวมของ 37 บริษัท (เนื่องจากใน 37 บริษัท มีบริษัทที่มีกำไรสุทธิ 26 บริษัท และ 11 บริษัทผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิ ทำให้เมื่อนำกำไร-ขาดทุนของ ทั้ง 37 บริษัทมารวมกัน จึงมีกำไรสุทธิรวมต่ำกว่ากำไรสุทธิของ 10 บริษัทที่มีกำไรสูงสุด)



          อสังหาฯ เร่งเปิดโครงการ ดันสต๊อกรวมพุ่ง 5.83 แสน ลบ.



          ในขณะที่ สินค้าคงเหลือบวกกับสินค้าที่อยู่ระหว่างการพัฒนาของบริษัทอสังหาฯ ทั้ง 37 บริษัท ในช่วง 9 เดือน อยู่ที่ 583,266.66 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.47% เทียบกับ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2565 โดยที บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) มีมูลค่าสินค้าคงเหลือและที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างสูงสุดที่ 85,055.54 ล้านบาท



          คิว 3 ผลประกอบการดี กำไรรวมทะลุ 1.1 หมื่นลบ.



          ด้านผลประกอบการไตรมาส 3 ของปี 2565 ของ 36 บริษัทอสังหาฯ (ยกเว้น บริษัท เฟรเซอร์ พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ FPT เนื่องจากงบเริ่ม ตุลาคม 2564-กันยายน 2565) มีรายได้รวม 81,370.77 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 11,366.08 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29.23% และ 52.02% จากระยะเดียวกันของปี 2564 ตามลำดับ ความสามารถในการทำกำไรโดยเฉลี่ย 13.96%: เพิ่มขึ้นจากความสามารถในการทำกำไรที่ 11.87% ในไตรมาส 3 ปี 2564



          “ผลประกอบการของบริษัทอสังหาฯในไตรมาสสาม และงวด 9 เดือนปี 2565 เติบโต เนื่องจากช่วงเดียวกันของปี 64 ตลาดอสังหาฯได้รับผลกระทบจากมาตรการ LTV ทำให้ภาพรวมตลาดอสังหาฯชะลอตัว ในขณะที่ 9 เดือนแรกของปีนี้ ได้รับอานิสงส์จากการผ่อนคลายมาตรการ LTV ในขณะเดียวกัน คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2565 มีอัตราการเติบโตประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์ สามารถกระตุ้นกำลังซื้อในตลาดอสังหาฯ” นายประพันธ์ศักดิ์ กล่าวและว่า



          ในขณะเดียวกัน การที่ราคาบ้านมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในปี 2566 ประกอบกับ ธปท.ประกาศไม่ต่อมาตรการผ่อนคลาย LTV ทำให้กระตุ้นกำลังซื้อสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัย ให้เร่งตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยในไตรมาสสาม และไตรมาสสี่ของปี 2565 โดยตลาดที่อยู่อาศัยที่ระดับราคาไม่เกิน 5 ล้านบาทยังคงมีกำลังซื้อสูง



          LPN ได้ดีลพิเศษ ขายอาคาร สนง.วิภาวดี แล้ว



          นายโอภาส ศรีพยัคฆ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล. พี. เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า ไตรมาสที่ 3 มีรายได้รวมอยู่ที่ 4,202.49 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,190.09 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 253.12% เป็นผลมาจากรายได้จากการขายที่เพิ่มขึ้น 357.95% มาจากการรับรู้รายได้จากโครงการอาคารชุดพักอาศัยที่เติบโตเพิ่มขึ้น 19% รับรู้รายได้จากโครงการสำนักงานที่เติบโตเพิ่มขึ้น 70% และเป็นโครงการบ้านพักอาศัยส่วนรายได้จากธุรกิจให้เช่าและบริการ เติบโตเพิ่มขึ้น 24.06% เป็นผลมาจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ทำให้เกิดการเช่าเพิ่มขึ้น และรายได้ค่าบริหาร เพิ่มขึ้น 28.59% จากการรับบริหารโครงการ ส่งผลให้บริษัท และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิในไตรมาสที่ 3 อยู่ที่ 235.84 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 791.31%



          สำหรับผลการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 บริษัทมียอดขายรวม 6,750 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นยอดขาย จำนวน 6,750 ล้านบาท โดยมาจากยอดขายโครงการอาคารชุดพักอาศัย 70% และมาจากยอดขายโครงการบ้านพักอาศัย 30% นอกจากนี้บริษัทมี Backlog จำนวน 2,330 ล้านบาท ทยอยรับรู้รายได้ในปีนี้ต่อถึง ปี 66

          ปีหน้า แอล.พี.เอ็นฯปรับขึ้นราคา โครงการใหม่ 5-10%

          นายโอภาส กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า เมื่อพิจารณาภาพรวมของปัจจัยต่างๆที่กระทบกับตลาดอสังหาฯในปี 66 นั้น โดยเฉพาะในด้านของต้นทุนที่สูงขึ้น จะกระทบกับโครงการเปิดตัวใหม่ของ LPN ในปี 2566 ที่ต้องปรับราคาขึ้นมาประมาณ 5-10 % แต่จะไม่กระทบกับโครงการเดิมที่ สร้างเสร็จแล้ว

          ในส่วนของการยกเลิกมาตรการผ่อนคลาย LTV แล้วนั้น บ้านหลังแรกที่ราคาไม่เกิน 10 ล้านบาท ยังสามารถกู้ได้ 100% ซึ่งกลุ่มผู้ซื้อบ้านหลังแรกที่ราคาไม่เกิน 10 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 60-70% ของตลาดรวม ซึ่งลูกค้าในกลุ่มนี้เป็นลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของ LPN

          AP มั่นใจถึงเป้ารายได้ทั้งปี 47,000 ลบ. แนวราบซูเปอร์สตาร์-รับรู้โอนคอนโดฯ

          นายวิทการ จันทวิมล รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์องค์กรและการสร้างสรรค์ บมจ.เอพี ไทยแลนด์ กล่าวถึงความสำเร็จในปี 65 ว่า กลุ่มสินค้าแนวราบทั้งบ้านเดี่ยว และทาวน์โฮมยังคงเป็นซูเปอร์ สตาร์ของปี คีย์ไดรฟ์สำคัญในการสร้างรายได้ให้กับบริษัทฯ ควบคู่กับการฟื้นตัวของตลาดคอนโดฯ ที่ลูกค้าโอนฯ 2 คอนโดฯใหม่ที่ก่อสร้างเสร็จในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ทำให้ ณ 31 ต.ค.65 บริษัทฯ มี Backlog มากถึง 37,065 ล้านบาท รับรู้ถึงปี 2568 จึงมั่นใจว่าบริษัทฯ จะสามารถสร้างรายได้รวมได้ทั้งปีที่ 47,000 ล้านบาท

          นอกจากนี้ ณ สิ้นเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา บริษัทฯ มียอดขายมากถึง 45,408 ล้านบาท หรือคิดเป็น 90% ของเป้ายอดขายที่ตั้งไว้ที่ 50,000 ล้านบาท โตขึ้น 46%

          อสังหาฯเร่งเปิดขายโครงการใหม่ก่อนปิดปี65

          นายวิทการ กล่าวต่อว่า ในไตรมาส 4 นี้ จะเปิดโครงการใหม่ทั้งสิ้น 18 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 26,360 ล้านบาท กับการเปิดตัวบ้านเดี่ยวแบรนด์ใหม่ล่าสุด MODEN บ้านเดี่ยวหลังใหญ่บนทำเล พระราม 2, บางนาเทพารักษ์ และบางนา-ศรีนครินทร์ ราคาเริ่ม 3.99-9 ล้านบาท และเปิดตัวคอนโดฯ กับ ASPIRE อ่อนนุช สเตชั่น มูลค่า 2,700 ล้านบาท โปรเจกต์แฟลกชิป “Exclusive ASPIRE” เปิดให้จอง Exclusive Booking วันที่ 26-27 พ.ย.นี้

          ด้าน นายอุเทน โลหชิตพิทักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สำหรับธุรกิจอสังหาฯในไตรมาส 3 ทำรายได้ 6,430 ล้านบาท เติบโต 26% จากไตรมาสก่อนหรือเติบโต 8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากความต้องการที่สูงขึ้นของโครงการแนวราบในเซกเมนต์พรีเมียม และ รายได้จากการโอนคอนโดฯ 3 โครงการในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา และสามารถทำยอดขายได้ 2,858 ล้านบาท พร้อมมี Backlog เตรียมแปลงเป็นรายได้ในอนาคต 13,300 ล้านบาท  โดยในไตรมาส 4 เตรียมส่งมอบคอนโดมิเนียม 4 โครงการ มูลค่าราว 6,300 ล้านบาท และมีแผนเปิดโครงการใหม่ในไตรมาส 4 รวม 7,800 ล้านบาท

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย