1 ใน 4 ของผู้ซื้อทั่วโลกมองหาบ้านหลังที่สอง เศรษฐีหนีโควิดจ่อเข้าไทย อิงวิจัยนักเดินทาง Airbnb ใช้จ่าย 1.5 แสนล.
อสังหาริมทรัพย์
สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในทั่วโลก ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และกลายเป็นประเด็นที่ทำให้นานาประเทศ ยังคงล็อกดาวน์ หรือมีมาตรการเข้มข้นในการคัดกรองผู้ที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศ ส่งผลให้ภาคการผลิต และภาคการบริการ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว สายการบินต่างๆ หรือแม้แต่ธุรกิจวิสาหกิจขนาดกลางและ ขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ต่างประสบเรื่องขาดสภาพคล่องอย่างหนัก
ในส่วนของประเทศไทย แน่นอนว่า แม้โควิด-19 จะเริ่มคลี่คลาย แต่ก็ยังมีปัจจัยที่หลายฝ่ายกังวล ทั้งเรื่องโอกาสเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบ 2 ภาพรวมเศรษฐกิจปีนี้ติดลบค่อนข้างรุนแรง โดยล่าสุดตัวเลขของ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ระบุว่า ในไตรมาส 2 จีดีพี ของไทยติดลบ 12.2% ซึ่ง ภาคธุรกิจต่างๆ จะอิงกับภาพรวมของเศรษฐกิจที่จะ เติบโตขึ้น หนี้ครัวเรือนที่แนวโน้มสูงต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้นเป็น 80.1% และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของภาคอสังหาริมทรัพย์ พุ่งเป็น 4.04% จากปัญหา สภาพคล่อง (Liquidity) และรายได้ที่ขาดไปจากสต๊อก ที่อยู่อาศัยที่คงค้างอยู่ (Income Shock) รวมถึงปัญหาแรงงานไทย ที่สภาพัฒนาฯ คาดว่าปีนี้ จะตกงาน 8.4 ล้านคน จากผู้มีงานทำ 37 ล้านคน
อย่างไรก็ตาม ภาครัฐ พยายามเข็นมาตรการ ต่างๆออกมา เพื่อเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 วงเงิน 6 แสนล้านบาท โดยพุ่งเป้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการอาชีพอิสระ กลุ่มเกษตร และกลุ่มผู้เปราะบาง
สำหรับภาพรวมที่อยู่อาศัยกรุงเทพฯและปริมณฑลในช่วงครึ่งปีแรก มูลค่าตลาดลดลง -36% (YoY) มีมูลค่าอยู่ที่ 128,457 ล้านบาท โครงการเปิดใหม่มีมูลค่ารวม 127,679 ล้านบาท โดยมียอดขายจากโครงการใหม่ช่วงเปิดตัวน้อยเพียง 21,058 ล้านบาท ทั้งนี้ มูลค่าตลาดคอนโดมิเนียม ชะลอตัวอย่างมาก โดยมียอดขายรวม 47,830 ล้านบาท ลดลง -54% (YoY) มีมูลค่าโครงการเปิดใหม่น้อยมากในครึ่งปีแรก โดยมีมูลค่าเพียง 33,144 ล้านบาท และมียอดขายจากโครงการเปิดใหม่ต่ำเช่นกัน โดยขายได้ 8,172 ล้านบาท
สวนตลาดแนวราบลดลงน้อยกว่า โดยตลาดทาวน์เฮาส์ มียอดขาย 32,829 ล้านบาท ลดลง -20% มีมูลค่าโครงการเปิดใหม่ 40,355 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน แต่มียอดขายจากโครงการเปิดใหม่ค่อนข้างน้อย โดยขายได้เพียง 6,670 ล้านบาท
ตลาดบ้านเดี่ยว มียอดขายรวม 45,574 ล้านบาท ลดลง -12% โดยมียอดขายดีขึ้นในไตรมาส 2 ขณะที่ มีมูลค่าโครงการเปิดใหม่ 51,420 ล้านบาท และมี ยอดขายจากโครงการเปิดใหม่ 5,901 ล้านบาท
จำนวนยูนิตที่ขายได้ในครึ่งปีแรกของที่อยู่อาศัยกรุงเทพฯและปริมณฑล ลดลง 37% (YoY) มียอดขายรวม 32,349 ยูนิต จำนวนยูนิตที่ขายได้ของคอนโดฯชะลออย่างมาก โดยลดลงสูงถึง -53% รองลงมาเป็น ตลาดทาวน์เฮาส์ ลดลง -19% และบ้านเดี่ยวลดลง -13% ส่วนโครงการเปิดใหม่มีจำนวน 30,221 ล้านบาท ส่วนใหญ่ที่เข้ามาจะเป็นทาวน์โฮม
ผู้สื่อข่าวรายงาน จากการที่ประเทศไทย สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้อย่างมีมาตรฐาน ส่งผลให้ประเทศไทย เป็นหนึ่งในภูมิภาคเอเชียและ ของโลก ที่ได้รับการยกย่องในเรื่องการป้องกันและควบคุมไวรัส ซึ่งผลดังกล่าว จะเป็นสัญญาณเชิงบวกต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากชาวต่างชาติ โดยเฉพาะกลุ่ม ที่มีฐานะทางการเงิน หรือกลุ่มผู้ซื้อที่อยู่ในประเทศ ที่มีปัญหาทางการเมือง ก็หันมาพิจารณาและให้น้ำหนักในการเข้ามาซื้อที่อยู่อาศัยในประเทศไทย เพื่อรองรับการเป็นบ้านหลังที่สอง ซึ่งจะส่งผลดีต่อตลาดคอนโดมิเนียมในกลุ่มที่มีดีไซน์ในเรื่องของพื้นที่การอยู่อาศัยจำนวนมาก เช่น คอนโดฯระดับลักชัวรี ที่ไม่ได้จำกัดในเรื่องพื้นที่ และยังมีความเป็นส่วนตัว เนื่องจากจำนวนยูนิตมีไม่มาก
รวมถึงตลาดในกลุ่มโครงการแนวราบ ประเภทบ้านเดี่ยว เป็นอีกเป้าหมายที่ผู้ซื้อจากต่างชาติ โดยเฉพาะ ชาวจีน ให้ความสนใจมากยิ่งขึ้น แม้ว่าด้วยข้อกฎหมายจะไม่สามารถให้ชาวต่างชาติครอบครองได้ แต่เริ่มมีความพยายามที่จะทำให้เกิดความถูกต้อง โดยบางบริษัทกำลังมีการเจรจากับตัวแทนนายหน้าชาวจีน (โบรกเกอร์) ในการนำร่องโครงการบางส่วนให้กับลูกค้าชาวจีน ได้อยู่ในโครงการแนวราบ อาจจะผ่านในรูปแบบของบริษัท มีอายุ 30 บวก 30 ปี เป็นต้น
เผย 1 ใน 4 ของผู้ซื้อทั่วโลก สนใจย้ายไปอยู่ ตปท.หนีโคิวด
ในด้าน ไนท์แฟรงค์ลอนดอน ได้เผยแบบสำรวจ ผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ทั่วโลก (Global Buyer Survey) ถึงเรื่องผลกระทบต่อตลาดอสังหาฯจากการระบาดของ โควิด-19 และผลสำรวจทัศนคติของผู้ซื้อที่พักอาศัย ทั่วโลก การสำรวจนี้สะท้อนมุมมองและความคิดเห็น ของลูกค้ากว่า 700 รายใน 44 ประเทศ โดยนายเคท เอเวอร์เรตต์-เอเลน หัวหน้าฝ่ายวิจัยด้านที่พักอาศัย ระหว่างประเทศของไนท์แฟรงค์ ระบุว่า “วิกฤตการณ์นี้ ได้เปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คน ทำให้บ้านกลายเป็นศูนย์กลางการทำงาน ออกกำลังกาย การเรียนรู้ การติดต่อทางสังคม และการพักผ่อน ขณะเดียวกัน ผลจากการอยู่อาศัยในที่พัก ทำให้ผู้คนมีเวลาคิดทบทวนการ ใช้ชีวิต และมีความต้องการการใช้พื้นที่ของพวกเขามากขึ้น จึงอาจมีการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังการปลดล็อกดาวน์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อตลาดอสังหาฯ ทั่วโลก”
จะเห็นได้จากผลการสำรวจ เป็นไปตามการ คาดการณ์ อย่างเช่น ความต้องการที่เพิ่มขึ้นด้านพื้นที่กลางแจ้งและโฮมออฟฟิศ อย่างไรก็ตามวิธีการจัดการ กับโควิด-19 ของรัฐบาลประเทศต่างๆกลายเป็นประเด็นหลักสำหรับผู้สนใจซื้อบ้านหลังที่สอง
ความตั้งใจซื้ออสังหาฯในอนาคต พบว่า 1 ใน 4 ของผู้ตอบแบบสำรวจแสดงให้เห็นว่า พวกเขามีแนวโน้มที่จะย้ายบ้านในช่วง 12 เดือนข้างหน้า เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยส่วนใหญ่มองหาที่พักอาศัยในพื้นที่เดิม 40% และ 26% ตั้งใจจะย้ายที่อยู่ไปในพื้นที่ใหม่ภายในประเทศ และ 34% กำลังพิจารณาที่จะซื้อ อสังหาฯในต่างประเทศ
สหราชอาณาจักร สเปน และฝรั่งเศสเป็นประเทศอันดับต้นๆ สำหรับผู้ที่มองหาที่พักอาศัย ตามมาด้วยออสเตรเลีย แคนาดา สวิตเซอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา โดยทุกประเทศมีคุณภาพชีวิตที่ดี เสถียรภาพทาง การเมือง ค่าเงินที่มั่นคง ระบบการศึกษาที่ดี และสามารถเข้า-ออกประเทศได้ง่ายในสถานการณ์ปกติ นอกจากนี้นิวซีแลนด์ โปรตุเกส มอลตา และนอร์เวย์ก็มีความต้องการไม่แพ้กัน
การยกระดับที่พักอาศัยหลังหลักของครอบครัว ถูกจัดเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการซื้ออสังหาฯ ในขณะที่การเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพ ถูกจัดเป็น อันดับสอง การซื้อเพื่อเป็นบ้านพักตากอากาศเป็น อันดับสาม ตามมาด้วยเหตุผลทางธุรกิจหรือการจ้างงานถูกจัดเป็นอันดับสี่ และผลจากการกักตัวมาเป็นระยะ เวลาหนึ่ง ข้อคิดเห็นที่ได้รับจากผู้ตอบแบบสำรวจ คือ ผู้ซื้อต้องการพื้นที่เพิ่มขึ้น โดยคิดเป็น 45% ของผู้ตอบแบบสำรวจมีแนวโน้มที่จะซื้อบ้านเดี่ยวมากกว่าก่อน การแพร่ระบาดของโควิด-19 เน้นไปที่บ้านติดริมน้ำ 40% และบ้านในเขตชนบท 37%
คาดหวังราคาปรับลดลง แต่ยังมองเงินในกระเป๋าด้วย
นอกจากนี้ เกือบ 2 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสำรวจ มีแนวโน้มที่จะทำงานจากบ้านหลังการปลดล็อกดาวน์ ซึ่ง 64% กล่าวว่าโฮมออฟฟิศเป็นสิ่งสำคัญ ขณะที่ 32% เห็นว่าไลฟ์สไตล์การทำงานของพวกเขา จะยังคงเหมือนเดิม และยังบอกว่าสำนักงานยังคงมีบทบาทสำคัญใน การเป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรม การทำงานร่วมกัน การศึกษา และการพบปะทางสังคมอีกด้วย
เช่นเดียวกับเรื่องของราคา ผู้ซื้อ คาดว่าราคา อสังหาฯจะปรับลดลงในช่วง 12 เดือนหน้า การคาดการณ์จากไนท์แฟรงค์ ไพรม์ โกลบอล (Knight Frank Prime Global Forecast) ที่จัดทำขึ้นในเดือนเมษายน 2563 แสดงให้เห็นว่าราคาขายเฉลี่ยคาดว่าจะปรับลดลงใน 16 เมืองจาก 20 เมืองในปี 2563
อย่างไรก็ตาม ผู้ซื้อเชื่อว่า งบของพวกเขายังคง เท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้น ตั้งแต่เริ่มมีการระบาด ช่วงการ ล็อกดาวน์ทำให้พวกเราใช้จ่ายน้อยลง จึงมีแนวโน้มว่า ผู้ซื้อจะใช้จ่ายน้อยลงและประหยัดมากขึ้น อย่างไรก็ตาม มีมากกว่า 30% ชี้ว่างบของพวกเขาลดลงกว่า 10% ซึ่งเป็นผลมาจากธุรกิจและบริษัทต่างๆ มีการปรับลดเงินเดือน การลดชั่วโมงการทำงาน หรือการเลิกจ้าง
“มากกว่า 26% ของผู้ตอบแบบสำรวจแสดงให้เห็นว่าพวกเขามีแนวโน้มที่จะซื้อบ้านหลังที่สองมากขึ้น เนื่องจากโควิด-19 โดยคาดว่าเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและเพื่อใช้เป็นสถานที่พักผ่อนเมื่อมีการแพร่ระบาด ครั้งที่สองเกิดขึ้น ข้อมูลจากไนท์แฟรงค์เห็นด้วยกับ มุมมองนี้ โดยมีปริมาณการสอบถามข้อมูลเข้ามาอย่างล้นหลามหลังการปลดล็อกดาวน์ เกี่บวกับบ้านหลังที่สองในทำเลไพรม์ในประเทศฝรั่งเศสและอิตาลี”
นายแฟรงค์ ข่าน กรรมการบริหารและหัวหน้าฝ่ายที่พักอาศัย ไนท์แฟรงค์ประเทศไทย กล่าวว่า “เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างในเรื่องความต้องการ และไลฟ์สไตล์ของผู้ซื้อชาวไทย โดยพวกเขาสนใจพื้นที่กลางแจ้ง พื้นที่สวน-พื้นที่สีเขียว และพื้นที่ส่วนตัวในการทำงานจากบ้านและเพื่อเป็นมุมพักผ่อนมากยิ่งขึ้น”
“มากกว่า 50% ของกลุ่มผู้ซื้อชาวไทยให้ความสนใจกับที่พักอาศัยใจกลางเมือง เช่น สุขุมวิท อโศก พระราม 9 รัชดา เป็นต้น ส่วนอีกเกือบครึ่งหนึ่งต้องการพื้นที่ใช้สอยมากขึ้นอยู่ในงบที่จำกัด แม้จะอยู่ไกลจากเมือง แต่ใช้เวลาการเดินเข้าเมืองไม่นาน”
ท่องเที่ยวท้องถิ่นในไทยเง6นสะพัด 4.37 หมื่นล.
ด้าน อ็อกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์ (Oxford Economics) สำนักงานวิจัยชั้นนำของโลก เปิดเผยรายงานผลกระทบของ Airbnb ต่อเศรษฐกิจในประเทศไทยว่า เมื่อปี 2562 Airbnb มีส่วนช่วยสร้างเม็ดเงินราว 4.37 หมื่นล้านบาทให้กับ จีดีพี สนับสนุนการจ้างงานกว่า 113,300 ตำแหน่ง
นายไมค์ ออร์กิล ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายสาธารณะภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก Airbnb กล่าวว่า การฟื้นตัว ของเศรษฐกิจไทยนั้นเกี่ยวเนื่องกับการกลับมาของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งรายงานวิจัยนี้ตอกย้ำว่า ชุมชน Airbnb มีส่วนช่วยให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวในประเทศ ไทยเติบโต รวมถึงส่งเสริมและสร้างงานในท้องถิ่นหลายหมื่นตำแหน่ง แม้ว่าข้อมูลในรายงานฉบับนี้จะเป็นข้อมูลย้อนหลังไปไม่กี่ปี แต่เราเชื่อว่าจะช่วยให้เกิดการพิจารณาด้านระเบียบที่มีการใช้อยู่ในปัจจุบันว่า ยังคงตอบโจทย์และเหมาะสมกับวัตถุประสงค์หรือไม่ ระเบียบข้อบังคับที่ใช้ก่อนที่จะเกิดโควิด-19 อาจไม่เหมาะจะนำมาใช้ต่อหลังจากผ่านพ้นช่วงของการแพร่ระบาดไปแล้ว
นายเจมส์ แลมเบิร์ต ผู้อำนวยการด้านที่ปรึกษาเศรษฐกิจในเอเชีย อ็อกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์ กล่าวว่า Airbnb มีส่วนดึงดูดนักท่องเที่ยวและทำให้เกิดการใช้จ่ายกลับคืนสู่เศรษฐกิจในพื้นที่ที่ไปเยือน โดยเฉพาะกลุ่มนักเดินทางไทยที่ต้องการท่องเที่ยวในประเทศ แทนการเดินทาง ต่างประเทศในปัจจุบัน รวมถึงค้นพบสถานที่ท่องเที่ยวใหม่เพิ่มเติม Airbnb สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้นักเดินทางอยากเดินทางไปยังสถานที่ใหม่ๆ ที่ไม่ใช่จุดยอดฮิตหรือยังไม่เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว ด้วยการมีที่พักและการจัดประสบการณ์ที่มีเอกลักษณ์และ โดดเด่นไม่เหมือนใคร
นอกจากนั้น Airbnb ยังโดดเด่นในเรื่องของ Resilience (การปรับตัว), Flexibility (ความยืดหยุ่น) และ Affordability (ราคาอันย่อมเยา) ซึ่งหมายถึงสามารถช่วยเร่งการฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และในสถานการณ์ปัจจุบัน Airbnb จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยเพิ่มที่พักในจุดหมายปลายทางที่อาจมีที่พักไม่เพียงพอ รวมถึงยังช่วยสร้างตลาดท่องเที่ยวใหม่ๆ ได้อีกด้วย
เผย 5 ปีนักเดินทางเที่ยวไทยใช้จ่าย 1.5 แสนล.
รายงานวิจัยของอ็อกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์ ที่ สนับสนุนโดย Airbnb พบว่า Airbnb ได้กลายเป็น เสาหลักสำคัญทางอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในประเทศไทยในช่วงก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยช่วยผลักดันให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และเปิดโอกาส ให้ครอบครัว ธุรกิจขนาดเล็ก และชุมชนต่างๆ สร้าง รายได้จากการให้เช่าที่พักระยะสั้น
ในรายงานยังเน้นย้ำถึงผลกระทบเชิงบวกที่ชุมชนท้องถิ่นได้รับจากการจับจ่ายของนักเดินทาง Airbnb ในขณะที่ Airbnb ช่วยกระจายรายได้จากการท่องเที่ยว สู่ชุมชน
ในช่วง 5 ปี (58-62) นักเดินทาง Airbnb ในประเทศไทย ได้ใช้จ่ายเป็นจำนวนรวม 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 54.8% ต่อปี และในปีที่ผ่านมา นักเดินทาง Airbnb ได้มีการใช้จ่ายกว่า 1.96 หมื่นล้านบาทไปกับร้านอาหารและร้านค้าในท้องถิ่น โดยทุกๆ 1,000 บาทที่จ่ายให้กับ Airbnb นักเดินทางจะใช้จ่ายอีก 420 บาทไปกับธุรกิจท้องถิ่น
รายงานนี้ ชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงที่ว่า Airbnb ช่วยกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวมาสู่ชุมชน เห็นได้จากการจับจ่ายของนักเดินทาง Airbnb กว่า 9% ที่เกิดขึ้นนอกเมืองหลักในปี 2562
สำหรับเทรนด์การท่องเที่ยวระหว่างประเทศนั้น ในประเทศไทยมีที่พัก Airbnb กว่า 99,000 แห่งและได้ต้อนรับนักเดินทางกว่า 2.5 ล้านคนในปี 2562 ซึ่งเพิ่มขึ้น 27% และเพิ่มเกือบ 8 เท่าจากปี 2558 ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่านักเดินทางต่างต้องการตัวเลือกที่พักที่หลากหลาย นักเดินทาง Airbnb จากต่างประเทศมีการใช้จ่ายเฉลี่ย 20,376 บาทต่อทริป และนักเดินทาง Airbnb ในประเทศมีการใช้จ่ายเฉลี่ย 18,076 บาทต่อทริป
ตลาดนักเดินทางจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนับได้ว่า มีส่วนสำคัญต่อการท่องเที่ยวของโลก สัดส่วนของ นักเดินทาง Airbnb จากตลาดต่างประเทศที่เดินทาง มาประเทศไทยมากที่สุดในปี 2562 ได้แก่ จีน 38%, สหรัฐฯ 11%, ฮ่องกง 5%, เกาหลีใต้ 4% และ สิงคโปร์ 4%
ทั้งนี้ จากรายงานวิจัยยังพบว่า Airbnb มีส่วน ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ด้วย การสร้างเม็ดเงินรวมมูลค่า 7.03 แสนล้านบาทให้กับ จีดีพีของภูมิภาคนี้ นอกจากนั้น ยังมีบทบาทสำคัญใน การขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วทั้งภูมิภาค โดยก่อให้เกิดการจ้างงานทั้งหมด 925,600 ตำแหน่ง ในเอเชียแปซิฟิก หรือคิดเป็น 1% ของการจ้างงานรวมในภาคการท่องเที่ยวของทั้งภูมิภาค
ด้าน ผศ.พรทิวา วิจิตรโกเมน อาจารย์ประจำภาควิชาการจัดการ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ผู้ที่มีประสบการณ์ทำวิจัยด้านการเช่าที่พักระยะสั้นในประเทศไทย ให้ความเห็นไว้ก่อนหน้านี้ว่า “ประโยชน์ที่เจ้าของที่พักได้รับคือ การสร้างเม็ดเงินรายได้ที่เกิดขึ้น และปรากฏการณ์ความนิยมในการทำธุรกิจที่พักระยะสั้น ส่วนหนึ่งมาจากการเข้ามาทำตลาดของแพลตฟอร์ม อย่าง Airbnb และ อื่นๆ นอกจากนั้น มีอาชีพใหม่ๆเกิดขึ้นตามมา เช่น co-host, เปิดคอร์สสอนพัฒนาการทำที่พัก, การรับถ่ายภาพ, การทำความสะอาด หรือการขนส่งต่างๆ และยังพบว่า นักท่องเที่ยวในช่วงอายุ 25-35 ปี ต้องการที่จะได้สัมผัสวิถีชีวิตของชุมชน ซึ่งในที่นี้หมายถึงทั้งชุมชนชนบท และชุมชนเมือง ผู้บริโภคจะใช้โอกาสเพื่อหาประสบการณ์จากชุมชนนั้นๆ สิ่งนี้เองเป็นประโยชน์ต่อการสร้างรายได้สู่ชุมชนที่เปิดรับนักท่องเที่ยว
ที่มา: ผู้จัดการรายวัน 360 องศา