แกรนด์ยูนิตี้ ปั้นไฟติ้งแบรนด์ ดัน บลู เจาะเรียลดีมานด์
เขย่าตลาดคอนโดโลว์ไรส์ บุก 3 ทำเลหลัก
“แกรนด์ ยูนิตี้” พลิกเกมรุกตลาดคอนโดโลว์ไรส์ ดันไฟติ้งแบรนด์ “บลู” เขย่าตลาด 3 ทำเล พหลโยธิน สุขุมวิท 89 และ 105 รวมมูลค่า 2.5 พันล้าน นำร่อง “บลู พหลโยธิน 35” เคาะราคาเริ่มต้น 1.89 ล้าน จับเรียลดีมานด์คนทำงานหลังกลุ่ม เก็งกำไร-ซื้อปล่อยเช่าหาย ตั้งเป้าปีนี้ยอดขาย 2.7 พันล้าน โกยรายได้กว่า 3.5 พันล้าน
นางสาวทัดดาว จิระสวัสดิ์ รักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท แกรนด์ ยูนิตี้ ดิเวลล็อปเมนท์ จำกัด กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ในปีที่ผ่านมาบริษัท ดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวัง ไม่เน้นปริมาณ แต่เน้นคุณภาพ จึงไม่ได้เปิดตัวโครงการใหม่ ออกมาเช่นเดียวหลายบริษัท
สำหรับปีนี้ แนวโน้มตลาดคอนโดมิเนียมคาดว่าจะกลับมาคึกคักขึ้น บริษัทจึงปรับกลยุทธ์ด้วยการนำเสนอโครงการคอนโดมิเนียมรูปแบบโลว์ไรส์ภายใต้แบรนด์ “บลู” รองรับพฤติกรรมของผู้บริโภค ที่เปลี่ยนแปลงไปในยุค “นิวนอร์มอล” ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าเริ่มทำงานอายุตั้งแต่ 27-30 ปี ในระดับราคาที่จับต้องได้ “จากเดิมที่เน้นการพัฒนาโครงการกลุ่มกลาง-บน มาตลอดเพื่อให้สอดคล้องกับกำลังซื้อของลูกค้าในตลาดแมส ในทำเล ราคาที่จับต้องได้สมเหตุสมผลและพื้นที่ส่วนกลางที่จัดเต็มรวมถึงแพ็กเกจต่างๆ”
โดยโครงการภายใต้แบรนด์ “บลู” ระดับราคาอยู่ที่ 70,000-100,000 บาทต่อตารางเมตร ประกอบไปด้วย 3 โครงการ บน 3 ทำเลศักยภาพในกรุงเทพฯ ประเดิมเปิดตัวโครงการแรกที่ บลู พหลโยธิน 35 ราคาเริ่มต้น 1.89 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างกลางปีนี้และแล้วเสร็จกลางปี 2566
ทั้งนี้ อัตราดูดซับทำเล “พหลโยธิน” ค่อนข้างดี แม้ในช่วงวิกฤติโควิด พบว่า มีอัตราการดูดซับถึง 44% หลังจากนั้นจะมีการเปิดตัวโครงการ บลู สุขุมวิท 89 และโครงการ บลู สุขุมวิท 105 ตามลำดับในปีนี้ โดยมีมูลค่าโครงการรวมกว่า 2,500 ล้านบาท
“การทำตลาดต่อจากนี้ทุกโครงการ ต้องทำการบ้านละเอียดทุกด้าน เพราะหมดยุคปั๊มผลิตออกมา ต้องมีดีไซน์ที่ตอบโจทย์การใช้งานของผู้อยู่อาศัย อย่างแท้จริงในระดับราคาที่จับต้องได้ และสามารถแข่งขันกับคู่แข่งในตลาดได้ เป็นข้อดี การที่ไม่ได้เป็นบริษัทมหาชน ปรัชญาของการทำธุรกิจของแกรนด์ ยูนิตี้แคร์เรื่องความยั่งยืน ดังนั้นกำไรสูงสุดอาจจะไม่ใช่เป้าหมายหลัก เพราะต้องการส่งมอบสินค้าที่เป็นเลิศในราคาที่ลูกค้าจับต้องได้ เพื่อได้อยู่ในตลาดได้อย่างยั่งยืน”
ภายใต้ “BLUE Series” จะมี แบรนด์หลักๆ อย่าง เซียล่า เน้นโครงการใกล้รถไฟฟ้าแต่ไม่ได้อยู่ในย่านใจกลางธุรกิจ (CBD) เดิมเน้น Affordable Segment เป็นโครงการขนาดใหญ่ขนาด 5 ไร่ขึ้นไป และ บลู จะเข้าซอยมาเล็กน้อยในราคา ที่จับต้องได้ ขณะที่แบรนด์อื่น ไม่ได้ทิ้งแต่รอจังหวะเวลาที่เหมาะสม ยกตัวอย่างแบรนด์ “อนิล” เป็นระดับซูเปอร์ลักชัวรี บนทำเลที่โดดเด่นอย่างสาทร 12 ซึ่งจะพร้อมโอนในเดือน พ.ค.นี้ จึงต้องเลือกโลเคชันมากทำให้ไม่รีบที่พัฒนาโครงการออกมาจนกว่าจะมีที่เหมาะสม เช่นเดียวกับแบรนด์ แมสซารีน และแบรนด์ไคลน์
อย่างไรก็ตาม ปีนี้บริษัทตั้งเป้าผลักดันยอดขาย มูลค่ารวมกว่า 2,700 ล้านบาท โดยมาจากแบรนด์ บลูซีรี่ย์ คิดเป็นสัดส่วน 45% ทั้งนี้เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุน หรือ ซื้อเพื่อปล่อยเช่า หายไป จึงต้องโฟกัส ที่เรียลดีมานด์ ดังนั้นการขายช่วงพรีเซล จะช้าลง เพราะจากประสบการณ์ช่วง 2 ปี ที่ผ่านมากลุ่มเรียลดีมานด์ชอบดูรอดู ของจริงก่อนที่จะตัดสินใจซื้อง่ายขึ้น และเป็นกลุ่มที่มีปัญหาเรื่องการขอสินเชื่อ ซึ่งเป็นเรื่องที่บริษัทดูแลอย่างใกล้ชิด ส่วนยอดขายรอรับรู้รายได้ (Backlog) เพื่อรองรับการโอนในปี 2565-2566 กว่า 3,500 ล้านบาท
แนวโน้มคอนโดคาดว่าจะคึกคักขึ้นจึงปรับกลยุทธ์รุกคอนโดโลว์ไรส์เจาะลูกค้าเริ่มทำงานในระดับราคาจับต้องได้ แข่งขันได้ในตลาด เริ่มต้น 1.89 ล้านบาท
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ