อสังหาฯครึ่งปี64 สต๊อกพร้อมอยู่ดันรายได้-กำไรบวก

18 ส.ค. 2564 398 0

          “6 เดือนแรกของปี 2564 ถือเป็นอีกช่วงที่ธุรกิจอสังหารมทรัพย์ ต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา จากผลกระทบวกฤติโควด-19 และการหดตัวทางเศรษฐกิจไทย โดยช่วงไตรมาส 2 เดือน เมษายน-มิถุนายน ที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาแห่งความท้าทายของทุกบริษัท ที่ต้องเผชิญกับปัจจัยลบต่างๆ เพราะเป็นไทม์ไลน์ที่รัฐบาล ประกาศบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ควบคุมโรค,ปิดสถานที่สำคัญ ทั้งขอความร่วมมือประชาชนกักตัวอยู่บ้านและประกาศเคอร์ฟว ในพ้นที่เข้มงวดถึง 29 จังหวัด ทำให้ธุรกิจโรงแรม พ้นที่เชิงพาณิชย์ และอาคารสำนักงาน ไม่สามารถทำรายได้ - จัดเก็บค่าเช่าได้เหมือนเก่า”

          ขณะตลาดอยู่อาศัย ได้รับแรงกระแทกจากข้อจำกัดการเดินทาง และธนาคารเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ส่งผลตัวเลขการรีเจ็กต์ (ปฏิเสธสินเชื่อ) บางค่ายแตะระดับ 30-40% หน่ำซ้ำผู้ประกอบการคอนโดฯ ยังไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ให้กับผู้ซื้อชาวต่างชาติได้ ทำให้รายได้ไม่มาตามนัด  ทั้งนี้ การบริหารจัดการต้นทุน ค่าใช้จ่าย ในการดำเนินการต่างๆ ภายใต้ช่วงเวลายากลำบากอย่างมีประสิทธิภาพ ถือเป็นตัวชี้วัด ผลกำไร-ขาดทุน และฟอร์มของบริษัทนั้นๆ ได้อย่างดี โดยพบแม้ครึ่งปีที่ผ่านมา ตลาดอสังหาฯเผชิญปัจจัยลบรุมเร้าหนัก แต่เมื่อเทียบไทม์ไลน์เดียวกันกับปีก่อนหน้า ซึ่งเกิดการระบาดใหญ่ครั้งแรก ปีนี้หลายบริษัทปรับตัวได้ดี ผ่านผลประกอบการ และ กำไรเป็นบวก ท่ามกลางการแข่งขันกันอย่างดุเดือด โดยมีโครงการพร้อมขาย-พร้อมอยู่ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าแนวราบ เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ ทำรายได้ฝ่าวิกฤติ

          พฤกษาสต๊อกลดฮวบ

          เริ่มด้วยค่ายใหญ่  บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) นายปิยะ ประยงค์ CEO ระบุ แม้เศรษฐกิจรวมจะชะลอตัวจากโควิด-19 แต่ด้วย ‘ที่อยู่อาศัย’ ยังเป็นปัจจัย 4 พบตลาดมีดีมานด์ต่อเนื่อง ข้อมูลช่วงเดือน ม.ค.-พ.ค. ตลาด กทม.-ปริมณฑล มีการโอนฯ เติบโต 4% มูลค่า 151,367 ล้านบาท โดยกลุ่มบ้านเดี่ยวเติบโตสูงที่ 25% มูลค่า 53,761 ล้านบาท สอดคล้องกับผลดำเนินงานงวด 6 เดือนแรกของบริษัท เทียบกับปีก่อนหน้า ลดลงเพียงเล็กน้อย 1% รายได้รวมอยู่ที่ 13,222 ล้านบาท โดยเป็นผลมาจากการดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง และแคมเปญ เคลียร์สต๊อก ‘ที่อยู่อาศัยกลุ่มพร้อมขาย’ ซึ่งไม่มีต้นทุนใหม่ และ สินค้าแนวราบ เป็นส่วนใหญ่ ทำให้สินค้าคงเหลือจาก 20,195 ล้านบาท ณ สิ้น มิ.ย.2563 ปัจจุบัน ลดลงมาอยู่ที่ 8,488 ล้านบาท ทั้งนี้ เนื่องด้วย กลยุทธ์เคลียร์สต๊อก ได้ส่งผลให้กำไรสุทธิ ลดลง 23%

          “เราเน้นการบริหารสภาพคล่อง-ขายสต๊อก ซึ่งมีข้อดี ไม่ต้องลงทุนเพิ่ม ทำให้ปัจจุบันมีกระแสเงินสด 1.6 หมื่นล้าน ขณะใช้ช่องทางขายหลากหลายขึ้น ทำให้ลูกค้าเห็นโครงการมากขึ้น บวกกับทำแคมเปญ แม้อัตรากำไรสูงไม่เท่าก่อน แต่ทำให้ขายได้เยอะขึ้น”

          เอพี พีคสุด 30 ปี

          ด้าน บมจ.เอพี ไทยแลนด์ รั้งอันดับ 1 ของตาราง สร้างนิวเรคคอร์ดใหม่ทางรายได้สูงสุด ตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมา 30 ปี สวนวิกฤติความผันผวนทางเศรษฐกิจ โดยรอบ 6 เดือนแรก จากกลยุทธ์ดาวกระจาย โครงการแนวราบ ที่มีพร้อมขาย-พร้อมโอน หลายทำเล นับ 100 โครงการ  ดันให้บริษัททำรายได้รวมสูงสุดถึง 20,506 ล้านบาท เข้าใกล้เป้าหมายท้าทายทั้งปี 43,100 ล้านบาท เช่นเดียวกับแง่กำไรสุทธิ เพิ่มขึ้น 37% โดยคีย์แมนคนสำคัญ นายวิทการ จันทวิมล ระบุครึ่งปีแรก บ้านเดี่ยว และทาวน์โฮม เป็น ซุปเปอร์สตาร์ ในการขาย และเวียนกลับมาเป็นรายได้ได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ปี 2564 มีแผนเปิดโครงการใหม่ 31 โครงการ มูลค่า 37,500 ล้านบาท สูงสุดในอุตสาหกรรม โดยครี่งหลัง มียอดขายรอโอนฯ จากคอนโดฯแล้วเสร็จ อีกมูลค่าร่วม 12,300 ล้านบาท คาดจะเป็นอีกปีที่เอพี สร้างประวัติการณ์

          ศุภาลัยกำไรบวกเกิน100%

          ส่วน บมจ.ศุภาลัย ท็อปฟอร์ม ครึ่งปีทำรายได้เพิ่มขึ้น 60% จากปีก่อนที่อยู่แค่ 6,871 ล้านบาท โดย นายไตรเตชะตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ ระบุ หลักมาจากการทยอยส่งมอบคอนโดฯ ทั้งใน กทม. และต่างจังหวัด ขณะโครงการแนวราบมีสัดส่วนสูง 57% ส่งผลครึ่งปีแรก รายได้ดันกำไรสุทธิที่ 2,471.54 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเท่าตัว ทั้งนี้ ณ สิ้นไตรมาส 2 บริษัท มียอดขายรอโอน รอบ ก.ค.-ธ.ค. จำนวน 14,202 ล้านบาท และแผนเปิดบ้านใหม่อีก 18 โครงการ คาดจะช่วยผลักดันเป้าหมายรวมที่ 2.8 หมื่นล้านบาท

          แสนสิริกำสภาพคล่อง 1.7 หมื่นล.

          ขณะบมจ.แสนสิริ รายงานต่อ ตลท.ว่า รายได้จากโครงการเพื่อขาย ในช่วงไตรมาส 2 กลับสู่ภาวะปกติ ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับการจัดกิจกรรมการขาย เพื่อเร่งระบายสต๊อกในช่วงปี 2563 ซึ่งลูกค้าตอบรับดี จนดันให้ยอดโอนฯ สูงเป็นประวัติการณ์นั้น ปีนี้ตัวเลขจึงลดลง รายได้รวมครึ่งปีแรก หดตัว 16% อยู่ที่ 14,868 ล้านบาท ทั้งยังมาจากรายได้ในส่วนคอนโดมิเนียมลดลงอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม กำไรสุทธิปรับเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะ ไตรมาส 2/2564 อยู่ที่ 662 ล้านบาท สะท้อนความสามารถทำกำไรได้เพิ่มขึ้น ภายใต้กลยุทธ์ Speed to Market และแผนความพร้อมในการปรับตัวรองรับทุกสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา โดยกุญแจสำคัญในครึ่งปีหลัง คือ การบริหารเงินสดในมือ ซึ่งปัจจุบันบริษัท มีสภาพคล่อง รวม 1.7 หมื่นล้านบาท พร้อมพรีเซลล์ แบ็กล็อก 24,400 ล้านบาท รับรู้ยาว 3 ปี

          บ้านหรูกำไรโตดี

          ขณะขาใหญ่ในตลาดบ้านหรู บมจ.แลนด์แอนด์เฮ้าส์ ไตรมาส 2 ซึ่งอยู่ในช่วงล็อกดาวน์ ยังคงสามารถสร้างรายได้จากการขายบ้านเดี่ยวเพิ่มขึ้น ส่งผลงวด 6 เดือน ทั้งกำไร และ รายได้เป็นบวกที่ 15,605 ล้านบาท และ  3,613 ล้านบาท ตามลำดับ โดยกำไรส่วนหนึ่ง ยังได้รับมาจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม อย่าง บมจ.ควอลิตี้เฮ้าส์อีกด้วย รั้งอันดับ 1 ในตาราง ทั้งนี้ มีเป้าหมายรายได้จากการโอนฯทั้งปี 3 หมื่นล้านบาท เช่นเดียวกับ บมจ.เอสซี แอสเสท สำหรับงวด 6 เดือน ระบุว่า บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้น 853.82 ล้านบาท หรือ 10.86%  จากการเติบโตของรายได้จากโครงการแนวราบ ประกอบกับสามารถลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการได้อย่างดี โดยลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนถึง 63.39 ล้านบาท ทำให้กำไรครึ่งปีแรกอยู่ที่ 936 ล้านบาท

          นายพีระพงศ์ จรูญเอก ซีอีโอ บมจ.ออริจิ้น ระบุ บ้านจัดสรรในเครือบริทาเนีย ยังได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง ยอดโอนฯทุบสถิติ New High เดิม 835 ล้านบาทในไตรมาส 1 มาสร้าง New High ใหม่ที่ 924 ล้านบาท ในไตรมาส 2 ถือเป็นตัวผลักดันรายได้รวมของบริษัทงวด 6 เดือน เติบโตถึง 35% และมีกำไรสูง 1,677 ล้านบาท ทั้งนี้บริษัทยังคงจับตา 3 ปัจจัยสำคัญ มาตรการควบคุมโรค, การฉีดวัคซีน และแผนกระตุ้นเยียวยาเศรษฐกิจ

          อนันดาฝ่าวิกฤต

          สำหรับ บมจ.อนันดา นับเป็นช่วงท้าทายของบริษัท จากคดีพิพาท ‘แอชตัน อโศก’ และเป้าหมายการระบายสต็อกพร้อมอยู่จำนวนมาก แต่อย่างไรก็ตาม พบว่า ผลดำเนินการช่วงก่อนหน้า รวมครึ่งปีแรก สามารถพลิกกลับมามีกำไรได้ 14 ล้านบาทอีกครั้ง จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่อยู่ในภาวะขาดทุนถึง 424 ล้านบาท  ขณะรายได้ 2 ไตรมาส รวมกัน อยู่ที่ 2,235 ล้านบาท อัตราลดลง แม้รายได้จากโครงการแนวราบเพิ่มขึ้น แต่การโอนฯ คอนโดฯ ร่วมทุน ซึ่งเป็นลูกค้าชาวต่างชาติจำนวนมากยังเป็นอุปสรรค ทั้งนี้ บริษัท ระบุ หวังสถานการณ์ฟื้นตัว เพื่อเพิ่มกำลังซื้อชาวจีน ที่มีความต้องการซื้อสูง หนุนเป้าหมายรอบปี 16,008 ล้านบาท

          เฟรเซอร์ส - LPN รายได้ลด

          สำหรับบมจ. เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ พบช่วงไตรมาส 2 รายได้จากการขายโครงการที่อยู่อาศัย (เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮม) ลดลงราว 25% โดยระบุ มาจากการระบาดของโควิด ดำเนินกิจกรรมได้ไม่เต็มที่ ประกอบกับตลาดแข่งขันสูง ผู้พัฒนาแนวราบปรับราคา กระตุ้นยอดโอนฯ รวมถึงปัญหาสถาบันเข้มงวดปล่อยสินเชื่อ รวมรายได้จากการขายในรอบ 6 เดือน อยู่ที่ 6,110 ล้านบาท จากทั้งสิ้น 11 โครงการ เมื่อประกอบกับ รายได้จากกลุ่มธุรกิจโรงงาน - คลังสินค้า-อาคารสำนักงานสามย่านมิตรทาวน์ ฯล รวมมีรายได้กว่า 8 พันล้าน กำไรสุทธิ 969 ล้านบาท

          นายโอภาส ศรีพยัคฆ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บมจ.แอล.พี.เอ็น. เผยว่า ผลดำเนินงาน 6 เดือนแรกของปี ยังคงเผชิญกับปัจจัยลบของตลาด โดยเฉพาะช่วงไตรมาส 2 ทำให้บริษัทมีผลกำไร ลดลง 21.19% เนื่องจากรายได้ การขายคอนโดฯ ลดลง แต่สัดส่วนโครงการบ้านช่วยพยุง อีกทั้งรายได้จากธุรกิจให้เช่าและบริการ และธุรกิจบริหารเพิ่มขึ้นมาก ทำให้มีรายได้รวมลดลง อยู่ที่ 2,783 ล้านบาท เช่นเดียวกับ กำไร หดมาอยู่ที่ 243 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม มองมุมบวก สำหรับช่วงครึ่งปีหลัง จากการเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชน คาดส่งผลให้คาดธุรกิจอสังหาฯค่อยๆฟื้นในช่วงไตรมาส 4 โดยบริษัทเตรียมเปิดใหม่ 5 โครงการ มูลค่ารวม 5 พันล้านบาท

          ASW น้องใหม่โชว์กำไร

          ปิดท้ายที่อสังหาฯ น้องใหม่ในตลาดหลักทรัพย์ บมจ.แอสเซทไวส์ ขาขึ้นทั้งในแง่รายได้ และกำไร โดยผู้บริหารระบุว่า แม้เผชิญกับแรงกดดันจากสถานการณ์โควิด-19 แต่ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ รายได้ยังคงเติบโตอยู่กว่า 51% อยู่ที่ 2,281 ล้านบาท เนื่องด้วย เน้นกลยุทธ์การขายและการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ ขณะการโอนฯ ในกลุ่มคอนโดฯ แบรนด์หลักเจาะคนรุ่นใหม่ Kave, Atmoz และ Modiz ทำได้ดี ส่งผลมีกำไรสุทธิ 258 ล้านบาท

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย