ราคาบ้านยังไม่ปรับขึ้นโอกาสทองเรียลดีมานด์-นักลงทุน
นางกมลภัทร แสวงกิจ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (DDproperty) เว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสด้านอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2565 ยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายรอบด้าน ทั้งจากภาวะเศรษฐกิจภายในและภายนอกประเทศ ที่ยังไม่มีแนวโน้มฟื้นตัวในเวลาอันใกล้ นอกจากนี้ภาวะเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในช่วงไตรมาส 3 ปี 2565 ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายของผู้บริโภค รวมถึงต้นทุนวัสดุก่อสร้างที่ปรับราคาขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง (Real Demand) ที่ต้องประเมินความเสี่ยงทาง การเงินกับความคุ้มค่าให้รอบคอบมากขึ้น
อย่างไรก็ตามภาพรวมราคาที่อยู่อาศัยยังคงไม่ปรับขึ้น หลังผู้ประกอบการพยายามตรึงราคา เพื่อให้สอดคล้องกับกำลังซื้อของผู้บริโภค โดยบ้านเดี่ยวยังได้รับความนิยมสูงสุด และเป็นที่อยู่อาศัยในรูปแบบเดียวที่ดัชนีราคาเติบโตในไตรมาสที่ผ่านมา ด้านตลาดเช่ายังคงมาแรง ความต้องการเช่าเติบโตถึง 88% ในรอบไตรมาส ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ยังไม่พร้อมซื้อ ดันดัชนีค่าเช่าเพิ่มขึ้นทุกรูปแบบที่อยู่อาศัย โดยตลาดอสังหาริมทรัพย์ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2565 ถือเป็นโอกาสทองของผู้ซื้อและนักลงทุนที่พร้อมเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยในราคาที่ยังไม่แพงเกินไป ก่อนปรับราคาขึ้นตามต้นทุน และอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงปลายปี 2565
“ช่วงไตรมาส 3 ถือเป็นโอกาสทองของกลุ่มผู้ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริงและนักลงทุนที่มีความพร้อม ก่อนที่ราคาจะปรับเพิ่มขึ้นตามต้นทุนราคาวัสดุก่อสร้างและค่าแรงที่สูงขึ้น ผนวกกับอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านที่มีทิศทางปรับขึ้นตามการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งจะส่งผลให้ยอดผ่อนชำระที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นตามไปด้วย รวมถึงการยกเลิกอัตราดอกเบี้ยคงที่ของธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ ที่ท้าทายในการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคไม่น้อย จึงถือเป็นโอกาสสุดท้ายของปี 2565 นี้ที่เอื้อให้ ผู้บริโภคสามารถเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยในราคาที่ยังไม่แพงเกินไป“นางกมลภัทร กล่าว
ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุดจากรายงานของดีดีพร็อพเพอร์ตี้ ซึ่งวิเคราะห์จากข้อมูลประกาศขายเช่าอสังหาริมทรัพย์ พบว่าดัชนีราคาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯปรับตัวลดลง 2% จากไตรมาสก่อน หรือลดลง 5% จากปีก่อนหน้า โดยลดลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2563 ต่ำกว่าดัชนีราคาปี 2561 ซึ่งเป็นปีฐานถึง 18% สะท้อนให้เห็นว่าแนวโน้มราคายังไม่กลับมาฟื้นตัวดีเท่ากับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งสอดคล้องกับภาพรวมเศรษฐกิจ
ในขณะที่การทำงานออนไลน์และเรียนออนไลน์ ที่กลายเป็นเรื่องปกติในปัจจุบัน ส่งผลให้บ้านเดี่ยวยังคงครองใจผู้บริโภคยุคนี้ โดยเป็นที่อยู่อาศัยรูปแบบเดียวที่มีดัชนีราคาเพิ่มขึ้น 5% ในไตรมาสที่ผ่านมา และเพิ่มถึง 21% จากปีก่อนหน้า ส่วนดัชนีราคาทาวน์เฮ้าส์และคอนโดมิเนียมทรงตัวจากไตรมาสก่อน โดยดัชนีราคาทาวน์เฮ้าส์ เพิ่มขึ้น 2% จากปีก่อนหน้า ต่างจากดัชนีราคาคอนโดมิเนียมที่ลดลง 3% จากปีก่อนหน้า สะท้อนให้เห็นว่าช่วงนี้ผู้ซื้อยังคงให้ความสนใจที่อยู่อาศัยแนบราบที่มีความคุ้มค่าและพื้นที่ใช้สอยตอบโจทย์มากกว่า และเมื่อโครงการที่อยู่อาศัยมือหนึ่งมีแนวโน้มราคาสูงขึ้นในอนาคต ย่อมส่งผลให้โครงการ รีเซลหรือโครงการมือสอง ซึ่งมีราคาถูกกว่า กลายเป็นอีกตัวเลือกที่น่าสนใจในกลุ่มผู้ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริงเช่นกัน
“ความท้าทายที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยต้องเผชิญในตอนนี้ ถือเป็นบททดสอบที่หลายฝ่ายต้องร่วมมือกันเพื่อข้ามผ่านอุปสรรคไปด้วยกัน เนื่องจากผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่ ฟื้นตัว ความกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของ โควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ และโรคฝีดาษลิง ปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อ รวมทั้ง ผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้ราคาพลังงานและวัสดุก่อสร้างปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลกระทบกันเป็นทอดๆ ทั้งในฝั่งผู้บริโภค ผู้ประกอบการ และภาครัฐ ทำให้การซื้อ-ขายในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ไม่กลับมาคึกคักได้ตามที่คาดการณ์ไว้“นางกมลภัทร กล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์เเนวหน้า