ต้นทุนพุ่งฉุดไม่อยู่! ทุบอสังหากระอักปรับค่าแรง จ่อคิวดันราคาขายขยับ

11 ส.ค. 2565 317 0

          บุษกร ภู่แส

          กรุงเทพธุรกิจ

          จากแนวทางการปรับค่าแรงขั้นต่ำที่กระทรวงแรงงานกำหนดเพดานไว้ที่ 5-8% หรือไม่เกิน 10% นั้น เป็นอีกหนึ่ง “ต้นทุน“ที่เพิ่มขึ้นสำหรับการพัฒนาโครงการของบรรดาดีเวลลอปเปอร์ ซึ่งยังคงแบกภาระต้นทุนราคาน้ำมันและวัตถุดิบต่างๆ ที่ปรับราคาขึ้นหลังเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ราคาที่อยู่อาศัยแพงขึ้น!

          เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการ ผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การปรับค่าแรงขึ้นเป็นปัจจัยที่น่ากังวลแต่เข้าใจว่าจำเป็นต้องขึ้น เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ส่งผลให้ค่าครองชีพสูงตามไปด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจคนที่มีรายได้น้อยที่ได้นับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวมากกว่าคนที่มีรายได้สูง ยกตัวอย่าง ค่าอาหารของคนมีเงินคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 10% ของรายได้ ขณะที่ค่าอาหารของคนที่มีเงินรายได้น้อยมีสัดส่วนถึง 50% ซึ่งหากไม่มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำก็จะมีผลกระทบต่อคนที่มีรายได้น้อย

          “แนวทางดังกล่าวไม่ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมอสังหาฯ เพราะต้นทุนเพิ่มขึ้น ที่สำคัญเท่ากับเปลี่ยนฐานต้นทุนใหม่ทำให้ราคาที่อยู่อาศัยลดลงไม่ได้แล้วต่างจากน้ำมันสามารถปรับราคาลงได้ แต่ค่าแรงขึ้นแล้วลงยาก ถ้ามองในแง่ดี รายได้คนเพิ่มขึ้นคนอาจ ซื้อของได้มากขึ้น” ย้อนกลับไปดูช่วง 10 ปีที่ผ่านมาธุรกิจก่อสร้างไม่มีอินโนเวชั่นอะไรเกิดขึ้นเลย ยังคง ใช้ปริมาณคนที่เป็นแรงงานเหมือนเดิม สร้างบ้านใช้คนครึ่งหนึ่ง ที่ดูเป็นอินโนเวชั่นสุด คือการใช้แผ่นคอนกรีตสำเร็จรูป (Precast) ซึ่งแตกต่างจากวิวัฒนาการของโทรศัพท์มือถือ จากราคา 80,000 บาท สามารถลดลงมาเหลือ แค่ 8,000 บาทได้ในฟังก์ชั่นที่เหมือนกันแต่ที่อยู่อาศัยทำแบบนั้นไม่ได้ เพราะ อินโนเวชั่น “ไม่มี “

          สำหรับราคาค่าแรงที่เพิ่มขึ้น จะค่อยๆ ส่งผลกระทบ แต่ตอบยากว่าขึ้นเท่านี้จะกระทบเท่าไร กี่เปอร์เซ็นต์ เพราะผลกระทบไม่เท่ากันแล้วแต่ประเภทอสังหาฯ ไม่ว่าจะเป็นแนวราบหรือแนวสูง จะต่างกัน แต่ว่าในต้นทุน 100% ปกติค่าแรงคิดเป็นสัดส่วน 30-40% สมมติค่าแรงจาก 300 บาท ขยับขึ้นเป็น 400 บาทเท่ากับค่าแรงขึ้น 30% แสดงว่า ต้นทุน 100% สัดส่วนค่าแรง 40% ขึ้น 30%

          วรวุฒิ กาญจนกูล นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน กล่าวว่า ที่ผ่านมามีปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้จดทะเบียนแรงงานต่างด้าวได้ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ทำให้แรงงานที่ไม่ถูกต้อง หรือหมดอายุจะเริ่มกลับมาจดทะเบียนได้ซึ่งขณะนี้มีแรงงานที่เคยออกจากระบบไปแต่ยังอยู่ในเมืองไทยเริ่มกลับเข้ามาในระบบทำให้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานเริ่มคลี่คลายไประดับหนึ่ง เนื่องจากหลายบริษัทมีการ จดทะเบียนแรงงานที่ถูกต้องเข้ามาอยู่ในระบบจึงแก้ปัญหาการขาดแคลนหรือการแย่งแรงงานในระบบได้

          ส่วนต้นทุนวัสดุและเงินเฟ้อ ปัจจัยหลักเกิดจากราคาน้ำมัน ถ้าสถานการณ์โลกคลี่คลายราคาน้ำมันจะกลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงของเดิม ถ้าราคาน้ำมันลงปัญหาเงินเฟ้อ วัสดุ ของราคาแพงต่างๆ จะหายไป

          วรวุฒิ กล่าวว่า ที่น่าเป็นห่วงคือ ราคาค่าแรงงานขั้นต่ำที่ปรับขึ้นแน่นอน ซึ่งเราก็เห็นใจแรงงานว่าต้นทุนค่าครองชีพสูงขึ้น ราคาค่าแรง 300 กว่าบาทไม่เพียงพอต่อการดำเนินชีวิต ส่วนปรับขึ้น 10% หรือ 30% คงต้องรอดูความชัดเจนอีกครั้ง  แต่นั่นหมายความ ต้นทุนค่าแรงงานเพิ่มขึ้น แทนราคาวัสดุที่มีแนวโน้มลดลง สมมุติค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้น 400 บาท เท่ากับเพิ่มขึ้น 20% ก็ยังพอรับได้แต่เกรงว่าเพิ่มขึ้นถึง 500 บาทต่อวันจะส่งผลกระทบรุนแรงต้นทุนการก่อสร้างที่อยู่อาศัยทำให้ราคาปรับเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

          อิสระ บุญยัง ประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เห็นด้วยที่ต้องมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อเอาชนะเงินเฟ้อ เพราะค่าครองชีพสูงหากไม่ปรับค่าแรงขั้นต่ำก็จะมีผลกระทบต่อคนที่มีรายได้น้อย เป็นผลเชิงบวกในแง่ของกำลังซื้อ แต่ในแง่ของต้นทุนเพิ่มขึ้น ส่วนจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับว่าอัตราค่าแรงที่ปรับเพิ่มขึ้นเท่าไร และการปรับค่าแรงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะแรงงานที่มีฝีมือ เช่น ช่างเชื่อม ช่างไฟ มีราคาค่าแรงสูงกว่าแรงงานขึ้นต่ำอยู่แล้ว

          “ในส่วนของธุรกิจก่อสร้างแรงงานฝีมือเราต้องการและไม่ได้จ้างในที่ต่ำอยู่แล้ว ฉะนั้น ต้องรอดูว่าการปรับค่าแรงงานนั้นมากแค่ไหนถ้าสามารถปรับแล้วเอาชนะเงินเฟ้อได้เพียงพอถือเป็นเรื่องที่ดีในการทำให้แรงงานมีความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยดีขึ้น รวมทั้งมนุษย์เงินเดือนด้วยทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น หากไม่ปรับอาจซื้อสินค้าอะไรไม่ได้โดยเฉพาะที่อยู่อาศัย” หากมีการจับจ่ายใช้สอยแล้วเศรษฐกิจดีขึ้น ต้นทุนต่างๆสามารถปรับขึ้นได้ ซึ่งที่ผ่านมา อสังหาฯได้รับผลกระทบทั้งจากวัสดุ ราคาน้ำมัน ล่าสุดค่าแรงที่เข้ามาเป็นอีกตัวแปรหนึ่ง ถ้าปรับสูงเกินไปในขณะที่ภาวะเศรษฐกิจอยู่ระหว่างการฟื้นตัวอาจรับไม่ไหว การจ้างงาน ที่เริ่มกลับมาอาจจะกระทบต่อการจ้างงานได้

          การปรับราคาอสังหาฯ คงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่คงดูไม่ค่อยออกเหมือนกับสินค้าอุปโภคบริโภคอย่างน้ำตาลทราย น้ำอัดลม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โดยใช้วิธีการลดขนาดสินค้าเล็กลง พัฒนาโครงการในทำเลไกลขึ้น หรือเปลี่ยนสินค้าจากทาวน์เฮ้าส์ เปลี่ยนเป็นพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมแทน เพราะต้นทุนแพงขึ้น เพื่อรองรับกำลังซื้อที่ไปไม่ถึง เป็นการปรับตัวทั้งผู้ประกอบการและลูกค้าท่ามกลางต้นทุนสินค้าที่เพิ่มขึ้น

          “การเปลี่ยนราคาอสังหาฯ จะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป จับต้องไม่ได้ ผู้ซื้อมักจะไม่รู้ตัวจนกระทั่งย้อนกลับมาดูว่า ตัวสินค้าแบบเดิม ทำเลเดิมไม่สามารถซื้อได้แล้ว ต้องไปทำเลใหม่ที่กำลังซื้อสามารถซื้อได้จากรังสิตคลอง3 ขยับไปรังสิต คลอง4 โดยผู้ประกอบการสร้างมาพัฒนาโครงการในราคาเดิมได้ในทำเลที่แตกต่างกันออกไป เช่นกับค่าแรง วัสดุที่ปรับสูงขึ้นไปผู้ประกอบการต้องปรับตัว ภายใต้สถานการณ์ที่เปลี่ยนไป”

          ยกตัวอย่าง การทำบ้านแฝดสามารถ ลดขนาดที่ดินลดลงได้ถึง 15 ตารางวา หาก ตารางวาละ 1 แสนบาท รวมทั้งหมดเท่ากับ 1.5 ล้านบาท สามารถลดลงได้ 7 แสนบาท แต่ยังคงได้บ้านเหมือนเดิม เป็นแนวทาง การปรับราคาและปรับตัวของอสังหาฯ

 

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย