ข้อควรรู้! ก่อนกู้ร่วมซื้อบ้านและคอนโด

12,299 1

ทางออกของคนอยากมีบ้านแต่เงินเดือนน้อย หรือมีภาระค่าใช้จ่ายเยอะก็คือ หาคนกู้ร่วมซื้อบ้าน เพราะอะไรจึงเป็นเช่นนั้น มาทำความเข้าใจกับ การกู้ร่วมซื้อบ้าน กันดีกว่า 

กู้ร่วมซื้อบ้านและคอนโดคืออะไร? 
การกู้ร่วมซื้อบ้าน คือการร่วมเซ็นสัญญากู้ทรัพย์สินชิ้นเดียวกันของผู้กู้ร่วม บางธนาคารอาจกู้ร่วมได้ 2 คน บางธนาคารก็ได้ถึง 2-3 คนเลยทีเดียว เพื่อให้ธนาคารเห็นว่ามีคนมาร่วมรับผิดชอบในการชำระหนี้ และมีความสามารถในการผ่อนชำระได้ตามสัญญา ทำให้การอนุมัติสินเชื่อง่ายขึ้น ทั้งยังคล้ายกับการค้ำประกันรูปแบบหนึ่ง ตรงที่ผู้กู้ร่วมต้องมีสภาพการเงินเทียบเท่า หรือมากกว่าผู้กู้หลัก มีรายได้ประจำ หรือมีเงินเดือนชัดเจน   

ใครกู้ร่วมได้บ้าง? 
โดยทั่วไปธนาคารมักจะกำหนดผู้กู้ร่วมเป็นเครือญาติหรือคู่รัก เพื่อลดความเสี่ยงเรื่องปัญหาหนี้เสีย ดังนี้
• สามี-ภรรยา ที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย หรือมีหลักฐานแสดงการเป็นสามีภรรยา เช่น ภาพงานแต่งงาน บุตร เป็นต้น 
• พ่อหรือแม่กับลูก
• พ่อแม่บุญธรรมกับลูกบุญธรรม
• พี่น้องท้องเดียวกัน นามสกุลเดียวกัน
• พี่น้องท้องเดียวกัน แต่คนละนามสกุล ซึ่งจะต้องแสดงหลักฐาน
• ญาติที่นามสกุลเดียวกัน
• LGBT

อยากกู้ร่วมต้องทำอย่างไร? 
หลังจากหาผู้กู้ร่วมที่มีคุณสมบัติครบตามเงื่อนไขของธนาคารแล้ว คุณต้องเตรียมเอกสารดังนี้

1.เอกสารส่วนตัว
• บัตรประชาชน
• ทะเบียนบ้าน
• ทะเบียนสมรส หรือใบสำคัญการหย่า (ถ้ามี)
• ใบเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล
• บัตรประชาชนและทะเบียนบ้านของผู้กู้ร่วม
• หลักฐานแสดงความสัมพันธ์กรณีที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส เช่น สูติบัตรของบุตร, ใบทะเบียนบ้านบุตร, รูปงานแต่งงาน สำหรับกรณีคู่รัก LGBTQ ต้องมีการเซ็นเอกสารรับรองการอยู่ร่วมกัน หรือตามเงื่อนของธนาคาร

2.เอกสารแสดงความสามารถทางการเงิน 
2.1 กลุ่มพนักงานบริษัท ที่มีเงินเดือนประจำ
• เอกสารรับรองเงินเดือนฉบับจริง
• สลิปเงินเดือน การจ่ายเงินค่าจ้างย้อนหลัง 3 เดือน ฉบับจริงและสำเนา
• Statement ย้อนหลัง 6 เดือน ทั้งฉบับจริงและสำเนา
• กรณีรับเงินเดือนเป็นเงินสด ต้องยื่นรายการภาษีเงินได้ประจำปี หรือหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (50 ทวิ) ทั้งต้นฉบับและสำเนา 
2.2 กรณีประกอบธุรกิจส่วนตัว
• สำเนาทะเบียนการค้า ทะเบียนพาณิชย์ หรือหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล
• สำเนาทะเบียนการค้าหรือหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัท
• รายชื่อผู้ถือหุ้น
• รายการเดินบัญชีเงินฝากย้อนหลัง 12 เดือน
• สำเนาบัตรประจำตัวผู้เสียภาษี
• หลักฐานการเสียภาษี เช่น ภ.พ.30 เป็นต้น
• รูปถ่ายกิจการ 4-5 ภาพ พร้อมแผนที่ตั้งโดยสังเขป 
2.3 กรณีประกอบอาชีพอิสระ
• รายการเดินบัญชีย้อนหลัง 6 เดือน
• ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ เช่น แพทย์, สถาปนิก เป็นต้น 

ข้อดีของการกู้ร่วม
• เพิ่มโอกาสในการขออนุมัติวงเงินจากธนาคาร
• เพิ่มวงเงินได้มากขึ้น
• สามาระผ่อนชำระได้มากขึ้น
 
ข้อเสียของการกู้ร่วม
• หากต้องการขายบ้านหรือคอนโดต้องได้รับความยินยอมทั้งสองฝ่าย
• ดอกเบี้ยบ้านที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษี ถูกหารเฉลี่ยตามจำนวนผู้กู้ร่วม
• หากต้องการถอนชื่อผู้กู้ร่วมในภายหลังทำได้ยาก
• การกู้ร่วมเท่ากับการเป็นหนี้ร่วมกัน แม้จะไม่ได้เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ หากคนใดคนหนึ่งไม่จ่าย อีกคนก็ต้องจ่ายแทน

ทั้งหมดนี้น่าจะช่วยให้คุณเข้าใจเกี่ยวกับการกู้ร่วมเพื่อซื้อบ้านหรือคอนโดไม่มากก็น้อย ถึงอย่างนั้นก็แนะนำให้ศึกษารายละเอียดและเงื่อนไขต่างๆ ของธนาคารให้ดีก่อนยื่นกู้ร่วม เพื่อลดความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้

แท็ก:
คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย