ธปท.ไฟเขียวน็อนแบงก์รายแรกปล่อยกู้ สินเชื่อบุคคลดิจิทัล

10 ก.พ. 2564 1,172 0

          เปิดศักราชใหม่ตลาดสินเชื่อออนไลน์คึกคัก แบงก์ชาติไฟเขียว “น็อนแบงก์” รายแรกทำธุรกิจสินเชื่อบุคคลดิจิทัลได้แล้ว คาดเริ่มปล่อยสินเชื่อปลาย ก.พ.นี้ จ่ออนุมัติเพิ่มอีก 2 รายใน ไม่เกิน มี.ค.นี้ ขณะที่ “LINE BK” เผยคำขอสินเชื่อทะลัก 1.5 ล้านราย ชี้ผล กระทบ “โควิด-19” หนุนคนต้องการเงินหมุนเวียนใช้จ่าย ด้าน “กรุงศรีฯ” ทุ่มงบฯพัฒนาไอที 8.5 พันล้านบาทต่อปี รุกทุกแพลตฟอร์มดันสัดส่วนปล่อยกู้ออนไลน์เพิ่มเป็น 10% จากเดิม 5% ฟาก “กรุงไทย” ซุ่มทดลองสินเชื่อออนไลน์ไม่ให้ตกเทรนด์

          นางนวอร เดชสุวรรณ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจาก ธปท. ออกหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล (Digital Personal Loan) ไปเมื่อปีที่ผ่านมา ปัจจุบันมีผู้ได้รับอนุญาตแล้ว 1 ราย เป็นผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบัน การเงิน (น็อนแบงก์) ซึ่งจะเริ่มให้บริการปล่อยสินเชื่อภายในปลายเดือน ก.พ.นี้ และคาดว่าจะมีผู้ประกอบการอีก 2 ราย น่าจะได้รับการอนุญาตให้ประกอบธุรกิจได้เพิ่มเติมภายในไตรมาส 1 ปีนี้

          “ตั้งแต่เปิดให้ยื่น ก็มีผู้ประกอบการ ทั้งที่เป็นสถาบันการเงิน และผู้ให้บริการที่เป็นน็อนแบงก์ มีความประสงค์จะประกอบธุรกิจสินเชื่อบุคคลดิจิทัล สอบถามและยื่นความประสงค์เข้า มารวม ๆ กันประมาณ 8 ราย โดยยื่นขออนุญาตเข้ามาแล้ว 3-4 ราย ส่วนรายที่ติดต่อสอบถามรายละเอียด แสดงความสนใจเข้ามาก็มีอีก 3-4 ราย ซึ่งการพิจารณา เราให้ความสำคัญในเรื่องของระบบและการรักษา ความปลอดภัยข้อมูลส่วนบุคคลเป็นหลัก โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงติดปัญหาเรื่องระบบที่จะรองรับการปล่อยสินเชื่อ ที่เป็นออนไลน์ทั้งหมด ซึ่ง ธปท. ต้องเข้มงวดในเรื่องของการรักษาข้อมูลส่วนบุคคล ทำให้ผู้ประกอบการต้องพัฒนาระบบรองรับให้มีประสิทธิภาพให้มากที่สุด” นางนวอรกล่าว

          นายธนา โพธิกำจร ประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กสิกร ไลน์ จำกัด (LINE BK) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมความต้องการสินเชื่อผ่านออนไลน์ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่าง ต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้คนต้องการแหล่งเงินทุนหมุนเวียนในชีวิตประจำวัน ซึ่งการขอสินเชื่อออนไลน์ทำได้ง่ายกว่าเมื่อเทียบกับการขอสินเชื่อผ่านแบงก์แบบเดิม จึงเห็นผู้ประกอบการหลายราย ลงมาเล่นในตลาดนี้ รวมถึงธนาคารพาณิชย์ต่างก็พัฒนาช่องทางการปล่อยสินเชื่อออนไลน์มากขึ้น

          “ผู้เล่นที่มีฐานข้อมูลนอกเหนือจากข้อมูลจากบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (NCB) รวมถึงสามารถอนุมัติสินเชื่อได้ และควบคุมความเสี่ยงได้ดี จะได้เปรียบคู่แข่งในตลาด เพราะความต้องการสินเชื่อของลูกค้ามาแรงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ลูกค้าที่มาขอสินเชื่อกับเรา บางรายมีที่สมัครซ้ำ ไม่ผ่าน NCB หรือกู้เกิน 3 สถาบัน ทำให้ยอดรีเจ็กต์ (ปฏิเสธสินเชื่อ) อาจจะเยอะ เพราะเราต้องคุมความเสี่ยงด้วย” นายธนากล่าว

          สำหรับ LINE BK นายธนากล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ข้อมูลถึงเดือน ม.ค. 2564 มีลูกค้าใจสมัครใช้บริการแล้วกว่า 1.5 ล้านราย และเปิดบัญชีแล้ว 1.3-1.4 แสนบัญชี เฉลี่ยวงเงินสินเชื่อ 2-3 หมื่นบาทต่อราย โดยมีสัดส่วนการอนุมัติสินเชื่อ แบ่งเป็น ประมาณ 30% จะเป็นกลุ่มลูกค้า รายได้ไม่ประจำ และเป็นสินเชื่อ ก้อนแรก ถือว่าตรงกับเป้าหมายของ LINK BK ที่ต้องการเจาะลูกค้ากลุ่มนี้ เมื่อเทียบกับสถาบันการเงินที่สัดส่วนกว่า 90% จะเป็นกลุ่มมนุษย์เงินเดือนเป็นหลัก

          “ยอมรับว่ากลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ ไม่ประจำ หรือฟรีแลนซ์ จะมีอัตราการผิดนัดชำระหนี้มากกว่ากลุ่มรายได้ ประจำ ดังนั้น บริษัทต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยปัจจุบันยังสามารถบริหารจัดการได้ ทั้งนี้ ปีนี้พยายามควบคุมคุณภาพสินเชื่อมากกว่าเน้นการเติบโตสินเชื่อ เป้าหมายคุมหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) อยู่ระดับ 5%” นายธนากล่าว

          นายไพโรจน์ ชื่นครุฑ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกลยุทธ์และวางแผนกลยุทธ์องค์กร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธนาคารตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการปล่อยสินเชื่อออนไลน์เติบโตอยู่ที่ 10% จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 3-5% ของสินเชื่อปล่อยใหม่รวมของธนาคาร โดยกรุงศรีจะมุ่งเน้นเติบโตในทุกช่องทางและทุกแพลตฟอร์มของแบงก์และบริษัทในเครือ อาทิ แอปพลิเคชั่น KMA, สินเชื่อบุคคลออนไลน์ผ่าน Krungsri i FIN, แอปพลิเคชั่น U CHOOSE รวมถึง Krungsri Auto เป็นต้น

          ทั้งนี้ การเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อออนไลน์สอดคล้องกับแผนระยะกลางของธนาคาร ในปี 2564-2566 ที่มุ่งเน้นการขับเคลื่อน องค์กรไปสู่เทคโนโลยีและดิจิทัล โดย ธนาคารพยายามลงทุนดิจิทัลผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ ทั้งเรื่องถังข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) หรือการเชื่อมระบบไปสู่ภูมิภาค

          “แม้ว่าธุรกรรมผ่านออนไลน์ปัจจุบันมากกว่า 80-90% จะเป็นในเรื่องของธุรกรรมการโอนเงิน-จ่ายเงิน เป็นหลัก แต่ในระยะข้างหน้าธนาคารต้องการเติบโตในส่วนของการปล่อยสินเชื่อออนไลน์ มากขึ้น โดยเราตั้งใจที่จะขยับสัดส่วนการ ปล่อยสินเชื่อผ่านออนไลน์เพิ่มขึ้นตาม การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค และเป้าหมายระยะกลางของธนาคารที่เน้นการขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและ ข้อมูล ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการพิจารณา สินเชื่อออนไลน์ได้มากขึ้น จะเห็นว่า เราตั้งงบฯลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีค่อนข้าง สูงเฉลี่ย 8.5 พันล้านบาทต่อปี ดังนั้น เป้าหมายสินเชื่อออนไลน์ที่ 10% รวมทุก แพลตฟอร์มเป็นเป้าหมายที่เราจะทำจริงจังมากขึ้น” นายไพโรจน์กล่าว

          นายพิชิต จงสฤษดิ์หวัง ผู้ช่วยกรรมการ ผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสายงานกลยุทธ์และผลิตภัณฑ์รายย่อย ธนาคารกรุงไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้ธนาคารอยู่ระหว่างการทดลองและพัฒนาระบบการขอสินเชื่อออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพ และคาดว่าจะออกมาให้บริการได้ภายในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งการ ปล่อยสินเชื่อออนไลน์ถือเป็นยุทธศาสตร์ สำคัญของธนาคารกรุงไทยนอกจากการ พัฒนาระบบดิจิทัลในเรื่องการทำธุรกรรม การเงิน เช่น การฝาก-จ่าย-โอนเงิน ทั้งนี้ การปล่อยสินเชื่อออนไลน์เป็นสิ่งที่ทุกธนาคารต้องเดินไปในอนาคต

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย