นับถอยหลังปิด สถานีหัวลำโพง ปั้นแหล่งท่องเที่ยว-มิกซ์ยูส 3 หมื่นล้าน

06 ก.พ. 2564 550 0

           ยังต้องลุ้น “สถานีรถไฟกรุงเทพ” หรือสถานีหัวลำโพง มีอายุ 105 ปี จะปิดทันทีเดือน พ.ย. 2564 พลันที่เปิดบริการ “สถานีกลางบางซื่อ” ฮับระบบรางใหญ่สุดในอาเซียน ตามที่ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” เจ้ากระทรวงคมนาคมประกาศไว้ได้หรือไม่ ในเมื่อการเปลี่ยนผ่านไม่ง่ายอย่างที่คิด ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ประเมินต้องใช้เวลาถึง 5 ปี

          ให้เวลา 1 เดือน ทำแผนเดินรถ

          ขณะที่ “ศักดิ์สยาม” พักหลังเริ่มไล่บี้งานของ ร.ฟ.ท.มากขึ้น ไม่สนไทม์ไลน์ เดินหน้าประกาศิต “พ.ย.นี้หลังเปิดรถไฟฟ้าสายสีแดงและสถานีกลางบางซื่อ ต้องไม่มีรถไฟสักขบวนเข้าหัวลำโพง แต่ถ้าจำเป็นจริง ๆ ให้เข้าเฉพาะเวลา 22.00-04.00 น. เพื่อแก้จราจรในกรุงเทพฯ”

          แม้ว่า ร.ฟ.ท.เสนอแผนการเปลี่ยนผ่าน การใช้งานจากสถานีหัวลำโพงไปสถานีกลางบางซื่อ จะใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี หรือภายในปี 2566 จึงจะสามารถถ่ายโอน การใช้งานระบบรางทั้งหมดไปยังสถานีกลางบางซื่อได้

          แต่ไม่ทันใจ “ศักดิ์สยาม” ที่มองว่า “ช้าเกินไป” ควรปรับการบริหารให้ดีกว่านี้ รถไฟทางไกลต้องไม่วิ่งเข้าสถานีหัวลำโพงอีก เมื่อสถานีกลางบางซื่อเปิด เพื่อให้ใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ากับเม็ดเงินที่ลงทุนไปกว่า 30,000 ล้านบาท และนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางระบบรางอย่าง แท้จริง

          “รถไฟสายสั้น-ชานเมืองที่จะกระทบให้เข้าช่วง 22.00-04.00 น. ให้ใช้ระบบขนส่งอื่น เช่น ขสมก. รถไฟฟ้า รับคน ให้ ร.ฟ.ท.ทำแผนให้เสร็จ 1 เดือน ยังมี เวลา 10 เดือนกว่าจะเปิดใช้ ต้องชั่งน้ำหนัก ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงกับสิ่งที่เป็นประโยชน์ หากประโยชน์ที่ได้มากกว่า ต้องกล้าเปลี่ยน แต่ถ้าไม่เปลี่ยนอะไรเลยจะอยู่กันแบบนี้ เช้า กลางวัน รอรถไฟผ่าน เกิดรถติด” นายศักดิ์สยามระบุจัดเดินรถสายเหนือ-อีสาน-ใต้รับ

          ขณะที่ “นิรุฒ มณีพันธ์” ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. กล่าวว่า การบริหารรถไฟทางไกลจะปรับแผนเดินรถสายเหนือ สายอีสาน และ สายใต้ เข้าสถานีกลางบางซื่อสามารถทำได้ แต่สายตะวันออกยังมีปัญหา ยังไม่มีเส้นทางที่เชื่อมต่อกับสถานีกลางบางซื่อ จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ผู้โดยสาร ลงที่มักกะสัน

          “จะมีผู้โดยสารได้รับผลกระทบจากการที่รถไฟไม่วิ่งเข้าหัวลำโพง 3,000 คน/วัน ต้องหาแนวทางดูแลผู้โดยสารกรณีตัด เส้นทางหยุดที่มักกะสัน จัดหาระบบ รองรับ เช่น รถโดยสาร ขสมก. จะหารือ คมนาคมเพื่อบูรณาการร่วมกับหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง ต้องไม่ทำให้ผู้โดยสารมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่ม”

          อนาคตหัวลำโพงพัฒนามิกซ์ยูส

          ส่วนอนาคตของสถานีหัวลำโพง นายนิรุฒกล่าวว่า หลังปิดบริการแล้วจะทำเป็นพิพิธภัณฑ์ นำผลการศึกษาพัฒนาเชิงพาณิชย์ เมื่อปี 2555-2556 มา ทบทวนใหม่ให้เหมาะสมกับปัจจุบัน รวมถึงการใช้ประโยชน์บนแนวเส้นทางรถไฟช่วงที่เข้าสู่สถานีหัวลำโพง หลังไม่มีการเดินรถเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน เช่น สามเสน จิตรลดา

          เมื่อย้อนดูพิมพ์เขียวการพัฒนา “สถานีหัวลำโพง” ที่ ร.ฟ.ท.เคยทำไว้ จะปรับพื้นที่ภายในสถานีและโดยรอบเป็นเชิงพาณิชย์ เปิดให้เอกชนร่วมลงทุน 30 ปี มูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านบาท แบ่งเนื้อที่ 121 ไร่ หรือ 194,262.319 ตารางเมตร พัฒนารูปแบบ มิกซ์ยูส ทั้งพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัย รับกับทำเลเป็นทั้งย่านเศรษฐกิจ ที่พักอาศัย และจุดเชื่อมต่อการเดินทางรถไฟฟ้า MRT สายสีแดง Missing Link

          แบ่งพัฒนา 4 เฟส ใน เฟสแรกพื้นที่ 15.34 ไร่ ในส่วนอาคารสำนักงาน ร.ฟ.ท. สะพานข้ามคลองผดุงกรุงเกษม อาคารบัญชาการและตึกแดง ในปัจจุบัน พัฒนาเป็นอาคารสำนักงาน ร.ฟ.ท. และ เอกชนและร้านค้า มูลค่า 2,860 ล้านบาท

          เฟสที่ 2  เนื้อที่ 40.20 ไร่ บริเวณราง สวนรถไฟ และอาคารสำนักงานตำรวจรถไฟ อาคารฝ่ายบริหารทรัพย์สิน พื้นที่ริมคลองผดุงกรุงเกษม พัฒนาเป็นศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน ที่พักอาศัย โรงแรม และสวนสาธารณะ มูลค่า 9,834 ล้านบาท

          เฟสที่ 3  เนื้อที่ 28.72 ไร่ สถานีหัวลำโพงและโรงแรมราชธานีและบริเวณถนนรองเมือง พัฒนาเป็นพิพิธภัณฑ์ ศูนย์ประชุม ศูนย์การค้าและโรงแรม มูลค่า 5,252 ล้านบาท และ เฟสที่ 4 เนื้อที่ 37.17 ไร่ พัฒนาศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน ที่พักอาศัย โรงแรม และสวนสาธารณะ มูลค่า 12,472 ล้านบาท

          สหภาพค้านกระทบสายสั้น

          ด้านสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) ออกมาค้านการปิดสถานีหัวลำโพงของ “ศักดิ์สยาม” ในทันทีเช่นกัน เนื่องจากอาจจะกระทบกับการให้บริการของประชาชน และยังไม่มีการเตรียมความพร้อมมาก่อน หากมีการสั่งปิดไป จะกระทบการเดินรถโดยสาร การซ่อมบำรุงต่าง ๆ แน่นอน

          และการให้ขบวนรถทั้งหมดไปอยู่ที่สถานีกลางบางซื่อทันทีจะกระทบต่อผู้ใช้บริการมีทั้งนักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไปที่ต้องเข้ามาทำงานในเขตเมืองชั้นในในช่วงเช้าและเดินทางกลับเย็น ที่สถานีสามเสน สถานีโรงพยาบาล รามาธิบดี และสถานียมราช

          ร.ฟ.ท.ขอเวลา 2 ปีเปลี่ยนผ่าน

          แหล่งข่าวจาก ร.ฟ.ท.เปิดเผยว่า ปัจจุบันสถานีหัวลำโพง มีรถไฟใช้บริการ 120 ขบวน/วัน สำหรับแผนที่ ร.ฟ.ท.วางไว้ในการเปลี่ยนผ่านการใช้งาน จากสถานีหัวลำโพงไปยังสถานีกลางบางซื่อ มีแผนดำเนินการ 3 ปี ตั้งแต่ปี 2564-2566 แบ่งเป็น 3 ระยะ ระยะที่ 1 ปี 2564  งดเว้นรถไฟระยะสั้นไม่เกิน 250 กม. และรถไฟทางไกล 30 ขบวน ได้แก่ สายเหนือ-อีสาน 24 ขบวน และสายใต้ 6 ขบวน โดยสายเหนือและอีสานจะให้ไปจอดที่สถานีรังสิต แล้วเปลี่ยนถ่าย ผู้โดยสารขึ้นสายสีแดงเข้ามา ส่วนสายใต้ ให้จอดที่สถานีตลิ่งชัน แล้วเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสารขึ้นรถไฟสายสีแดง

          ระยะที่ 2 ปี 2565  ทยอยยกเลิกรถไฟทางไกลสายเหนือและอีสาน 90 ขบวน ไม่ต้องเข้าหัวลำโพง คงเหลือเฉพาะสายตะวันออก 26 ขบวนที่ให้เข้าหัวลำโพงไปก่อน ส่วนรถไฟสายใต้ ให้เข้าไปจอดเปลี่ยนขบวนขึ้นสายสีแดงที่สถานีชุมทางบางซื่อ

          “สายตะวันออกยังให้เข้าหัวลำโพง ต้องรอสายสีแดงช่วง Missing Link บางซื่อ-หัวหมากสร้างเสร็จก่อน เพราะปัจจุบันฝั่งตะวันออกจากสถานีกลางบางซื่อมีเพียงขาออกจากสถานี แต่ไม่มีขาเข้า แต่จริง ๆ มีทางรถไฟเดิมอยู่ แต่มีจุดจอดรถไฟ 10 จุด ซึ่งท่านรัฐมนตรีดูแล้วไม่เห็นด้วย จึงตัดทางนี้ออกไป” แหล่งข่าวกล่าว

          และระยะที่ 3 ปี 2566 ยกเลิกทั้ง 120 ขบวน ไม่เข้าหัวลำโพงอีก ในระยะนี้คาดว่าจะเริ่มได้เอกชนจะร่วมลงทุน PPP สายสีแดง ทั้งก่อสร้างส่วนต่อขยาย 4 เส้นทาง ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา, ตลิ่งชัน-ศิริราช, รังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ และ Missing Link บางซื่อ-ตลิ่งชันหัวลำโพงแล้ว คาดว่าจะก่อสร้างสายทางที่ขาดไปได้ทัน

          “พ.ย.นี้หลังเปิดรถไฟฟ้าสายสีแดงและสถานีกลางบางซื่อ ต้องไม่มีรถไฟสักขบวน เข้าหัวลำโพง แต่ถ้าจำเป็นจริง ๆ ให้เข้าเวลา 22.00-04.00 น. เพื่อแก้จราจรในกรุงเทพฯ”

          “ปรับรถทางไกลเข้าบางซื่อ สายเหนือ อีสาน ใต้ทาได้ แต่สายตะวันออกต้องลงที่มักกะสัน จัดหาระบบมารองรับ ส่วนหัวลำโพงมีผลศึกษาอยู่แล้วจะพัฒนาอะไร”

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย