อาคม เข็นรัฐลงทุนฟื้นศก.

05 ก.พ. 2564 1,150 0

          สศค.ชี้สื่อนอกยก “ไทย” ชาติเศรษฐกิจเกิดใหม่ดีสุด

          “อาคม” แจงภูมิคุ้มกันประเทศยังดี ไม่ล้มละลาย ระบุทุนสำรองฐานะการคลังแข็งแกร่ง  ขณะที่หนี้สาธารณะยังอยู่ในเพดานไม่เกิน 60% ลั่นได้เวลาปรับโหมดกระตุ้นเศรษฐกิจและลงทุน ฟื้นเศรษฐกิจ สร้างภูมิคุ้มกันต่อเนื่อง เตรียมปฏิรูปรายได้ยั่งยืนรองรับการใช้จ่ายอนาคต ขณะที่สศค. แจงศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดและกำลังปรับตัวดีขึ้น

          จากกรณีที่มีการเผยแพร่ข่าวผ่าน สื่อสังคมออนไลน์ โดยตั้งประเด็นคำถาม ถึงสถานะการเงินและการคลังของประเทศไทยใกล้สู่ภาวะล้มละลาย ทำให้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต้องออกมาชี้แจง โดยยืนยันว่าประเทศไทยยังมีความแข็งแกร่ง เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ โควิด-19 เริ่มฟื้นตัวหลังผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว  และกระทรวงการคลังยังมีเม็ดเงินมากพอ ที่จะดูแลเศรษฐกิจทั้งการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบและการกระตุ้นเศรษฐกิจ

          “รัฐบาลมีภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจที่ดี สะท้อนจากเครื่องชี้ทั้งในแง่จีดีพีที่สามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง ระดับทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง ฐานะการคลังอยู่ใน ระดับที่ดี และระดับหนี้สาธารณะที่ยังคงยืน ในกรอบความยั่งยืน ดังนั้นที่มีข่าวปรากฎ ในสื่อว่า เศรษฐกิจประเทศจะเข้าสู่การ ล้มละลายนั้นไม่เป็นความจริง“นายอาคม  ปาฐกถาพิเศษ"แนวทางพลิกฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด-19"ในงานสัมมนา"พลิกสูตร วัคซีนสู้โควิด พลิกวิกฤติเศรษฐกิจไทย” ซึ่งจัดโดยเครือมติชน วานนี้(4 ก.พ.)

          รมว.คลัง กล่าวว่า วัคซีนทางเศรษฐกิจ ถือเป็นภูมิคุ้มกันระดับประเทศ ซึ่งจำเป็นต้องมีภูมิคุ้มกันเช่นกัน การบริหารจัดการความเสี่ยงก็เป็นภูมิคุ้มกันอย่างหนึ่ง ขณะนี้ ปรากฏข่าวประเทศจะล้มละลาย ซึ่งตัวชี้วัด จะมี 4 ระดับ อันดับหนึ่งคือผลิตภัณฑ์ มวลรวมของประเทศ(จีดีพี)ต้องเติบโต ต่อเนื่องและมั่นคงจะสูงต่ำไม่เป็นไร  แต่ต้องต่อเนื่อง บางทีอยากให้ขยายตัว 5-8% แต่เศรษฐกิจไทยใหญ่มากอันดับ 2 ของอาเซียน การจะเติบโต 1% ต้องใช้แรงอย่างมาก

          อันดับ 2 ฐานะการเงินประเทศเป็นอย่างไร ซึ่งหมายถึงทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ ที่ปัจจุบันล่าสุดอยู่ที่ 2.86 แสนล้านดอลลาร์ถ้าเอาเงินมาชำระหนี้ระยะสั้นได้ถึง 3 เท่า แสดงถึง ฐานะมั่นคง อันดับ 3 การเงินการคลังในประเทศ ซึ่งต้องดูฐานะการคลัง ก็มีเงินสำรองเช่นกัน ถ้ายังมั่นคงอยู่ ประเทศก็ไม่เข้าใกล้ภาวะล้มละลาย

          อันดับที่ 4 ระดับหนี้สาธารณะ ปัจจุบัน อยู่ที่ราว 50% ของจีดีพี ซึ่งถามว่าสูงหรือไม่ แต่การที่ไทยกำหนดเพดานไม่เกิน 60% ต่อ จีดีพี หนี้ที่ขึ้นมาในระดับ 50% เพราะการระบาด ของโควิด-19 ทำให้จำเป็นต้องกู้เพื่อให้มี เงินใช้จ่ายรับมือ จะพึ่งหางบประจำปีคงไม่ได้ เพราะงบประมาณผูกพันส่วนราชการหมดแล้ว การกู้เงินนำมาแก้ไขเฉพาะหน้า ทั้งอุปกรณ์ การแพทย์ที่เพียงพอ เยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ และฟื้นฟูเศรษฐกิจ

          ทั้งนี้รัฐบาลออกพ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท เพื่อเยียวยาผลกระทบโควิด-19 ซึ่งขณะนี้ ใช้ไปแล้วราว 6 แสนล้านบาท ผ่านโครงการ เยียวยาต่างๆเช่น เราไม่ทิ้งกันเราชนะ คนละครึ่ง ไทยเที่ยวไทย การจัดซื้อวัคซีนและอุปกรณ์ การแพทย์ ขณะนี้เหลือเงินประมาณ 4 แสนล้านบาท

          “ปีที่แล้วเราปิดประเทศ ล็อกดาวน์ไป กิจกรรมเศรษฐกิจไม่มี คนก็ไม่มีงานทำ และเมื่อ เยียวยาเสร็จแล้ว ก็ต้องฟื้นฟู ฉะนั้นก็กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ทำให้หนี้เพิ่มขึ้น แต่หนี้ที่เพิ่ม ไม่ใช่เราประเทศเดียว ทุกประเทศในโลก ธนาคารโลก ไอเอ็มเอฟเอง ก็ต้องผ่อนคลายนโยบายการเงินให้ภาคการคลังใช้จ่ายเงิน ฉะนั้นเวลานี้ทั่วโลกก็หนี้เพิ่มขึ้นในประเทศ แล้วสูงกว่า 100% แต่ของเรากำหนดไว้ไม่เกิน 60% แสดงภูมิคุ้มกันที่ดี”

          นายอาคม กล่าวว่า ภูมิคุ้มกันอันดับสอง คือภูมิคุ้มกันกลุ่มคือภาคการผลิต ที่โฟกัสไปที่ท่องเที่ยว ก็เจอปัญหาทุกประเทศ โควิด กระทบรายได้ภาคการผลิต เกษตร อุตสาหกรรม  และท่องเที่ยว  โดยภาคเกษตรกระทบ เพราะ เป็นวัตถุดิบอาหารป้อนอุตสาหกรรมการ ท่องเที่ยว ซึ่งจะกระทบมากน้อยขึ้นอยู่กับว่า มีการกระจายความเสี่ยงมากแค่ไหน สำหรับ ภูมิคุ้มกันอันดับสามคือ ในระดับประชาชนและ แรงงาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับเงินออมเป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันมีระบบการออมรองรับ ทั้งใน ภาคบังคับและสมัครใจ

          ปรับโหมดเดินหน้ากระตุ้น-ลงทุน

          สถานการณ์เศรษฐกิจในช่วงที่เกิด โควิด-19 ในปีที่แล้วกับปีนี้ มีความแตกต่างกัน โดยรอบแรกกิจกรรมเศรษฐกิจปิดหมด รัฐบาลให้ความสำคัญกับการดูแลระบบสาธารณสุขมาเป็นลำดับแรก แต่รอบนี้รัฐบาลให้ความสำคัญทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังสามารถเดินต่อไปได้

          “ปีนี้เราต้องบาลานซ์ระหว่างเศรษฐกิจกับการแพร่ระบาด เราไม่ได้หยุดกิจกรรมเศรษฐกิจทั้งหมด เราหยุดในจุดที่สุ่มเสี่ยงแหล่งแพร่เชื้อ โดยเฉพาะสถานบันเทิงต่างๆ ขณะที่ระบบโลจิสติกส์ ร้านอาหารไม่กระทบ ในเดือนธ.ค.-ม.ค.การใช้จ่ายโครงการ คนละครึ่ง ยอดใช้จ่ายยังเพิ่ม ไม่ได้หยุดเลย แสดงว่าการดำเนินชีวิตยังดำเนินอยู่ นี่คือความแตกต่าง”

          สำหรับแนวทางพลิกฟื้นเศรษฐกิจนั้น รัฐบาลยังคงผลักดันให้เกิดการลงทุนในภาครัฐ เพื่อเตรียมตัวรองรับหลังสิ้นสุดโควิด-19 ซึ่งจะดำเนินการควบคู่ไปกับการเยียวยา และการกระตุ้นเศรษฐกิจ  ขณะเดียวกันรัฐบาล ก็จะต้องปฏิรูปโครงสร้างรายได้ เพื่อให้ มั่นใจว่ามีภูมิคุ้มกันเพียงพอสำหรับการใช้จ่ายของรัฐบาลในอนาคต

          ทั้งนี้รัฐบาลจะให้ความสำคัญในการสนับสนุนการลงทุนอุตสาหกรรมในอนาคต อาทิ ดิจิทัล การท่องเที่ยว ออนไลน์ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ

          สศค.ยันสัญญาณเศรษฐกิจฟื้น

          ด้านสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) แถลงชี้แจงประเด็นข้อวิจารณ์ดังกล่าว โดยระบุว่า ประเด็นเศรษฐกิจและฐานะ การคลัง สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันส่งสัญญาณดีขึ้น จากรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนธ.ค.2563 ชี้ว่า เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นทั้งในด้านอุปสงค์จากต่างประเทศ และอุปสงค์ในประเทศ สะท้อนจากการส่งออกสินค้าที่กลับมาขยายตัว เป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน ที่ 4.7% ต่อปี

          ประกอบกับเครื่องชี้การบริโภคในหมวดสินค้าคงทนและการลงทุนภาคเอกชนปรับตัว ดีขึ้นเช่นกัน ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจไทยอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ และทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง

          “จากสถานการณ์เศรษฐกิจไทยล่าสุด สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุด แล้วและจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

          “บลูมเบิร์ก“ชี้ไทยน่าสนใจที่สุด

          นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังคงได้รับความเชื่อมั่นจากนักลงทุนทั้งในและ ต่างประเทศ โดยล่าสุด สำนักข่าวบลูมเบิร์ก ได้ประเมินมุมมองอนาคตเศรษฐกิจของไทย ปี 2564 ว่า เป็นประเทศที่น่าสนใจเป็นอันดับ 1 ใน 17 ประเทศในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจ เกิดใหม่ (Emerging Market Economies) สะท้อนได้จากเงินสำรองระหว่างประเทศ ในระดับสูง ความแข็งแกร่งในภาคการเงินระหว่างประเทศและศักยภาพในการดึงดูด เงินทุนจากต่างประเทศ

          บลูมเบิร์ก ยังได้เผยแพร่ดัชนีประสิทธิภาพของระบบรักษาสุขภาพ (Bloomberg Heath-Efficiency Index 2020) โดย ชื่นชมประเทศไทยว่าเป็นหนึ่งในสิบอันดับแรก (อันดับที่ 9) ของประเทศที่มีระบบรักษาสุขภาพ ที่มีประสิทธิภาพสูงเหนือกว่าอีกหลายประเทศ จากกลุ่มตัวอย่าง 57 ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจ ใหญ่ แสดงให้เห็นถึงระบบสาธารณสุขของไทยที่มีประสิทธิภาพสูง

          จัดเก็บรายได้โตต่อเนื่อง

          ในส่วนของการจัดเก็บรายได้รัฐบาลจะเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศ โดยในช่วงปีงบประมาณ 2557-2563 การจัดเก็บ รายได้รัฐบาลขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 2,074,660 ล้านบาท  เป็น 2,391,570 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการขยายตัวเฉลี่ย 2.1% ต่อปี ซึ่งมีเพียงปีงบประมาณ 2557 2560 และ 2563 ที่การจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิลดลง จากปีก่อนหน้า

          โดยในปีงบประมาณ 2563 รายได้รัฐบาล ลดลง เนื่องจากผลกระทบของการระบาดของ โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย และการออกมาตรการทางภาษี เพื่อบรรเทาภาระให้แก่ประชาชนและเพิ่ม สภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นเรื่องที่จำเป็นเร่งด่วน

          นอกจากนี้สถานการณ์ทางการคลังไทย ในปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่เข้มแข็ง โดยฐานะ ทางการคลังมีความมั่นคงและมีสภาพคล่อง เพียงพอต่อการดำเนินนโยบายของรัฐบาล  ระดับเงินคงคลังยังอยู่ในระดับที่เพียงพอสามารถ รองรับการเบิกจ่ายงบประมาณของหน่วยงาน ภาครัฐและการดำเนินนโยบายต่างๆ เพื่อสนับสนุน การฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศในระยะต่อไป

          ทั้งนี้ระดับเงินคงคลังปลายงวด ณ สิ้นเดือนธ.ค.2563 อยู่ที่ 473,001 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าเงินคงคลังปลายงวด ณ สิ้นปี งบประมาณก่อนหน้า ถึง 49.5% นอกจากนี้ ในส่วนของหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนธ.ค.2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 8.1 ล้านล้านบาท โดยมีสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพี เท่ากับ 52.1% ซึ่งยังคงอยู่ภายใต้กรอบวินัยทางการคลังที่กำหนดไม่เกิน 60% และหนี้ที่เกิดขึ้นเป็นการนำไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ส่งผลให้เกิดการจ้างงานและช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน

          “หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมีความเห็นตรงกันว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะผ่านจุดต่ำที่สุดในปี 2563 แล้ว และได้ปรับตัวไปใน ทิศทางที่ดีขึ้น การนำวัคซีนมาใช้ในปี 2564 จะทำให้ การดำเนินกิจกรรมเศรษฐกิจ ค่อยๆ กลับเข้าสู่ สภาวะปกติ และเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว การจัดเก็บ รายได้ของรัฐบาลก็จะมีแนวโน้มดีขึ้น”

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย