โปรกระหน่ำ ยอดขายอสังหาฯ ม.ค.พุ่ง

03 ก.พ. 2564 811 0

          เช็กสัญญาณตลาดที่อยู่อาศัย ไตรมาสแรก ปี 64 อสังหาฯดัง พาเหรด ออกแคมเปญ โปรฯดัง เรียกแขก ซื้อ -โอนโครงการ ขณะแสนสิริ ขิงแรง เดือนเดียวทำยอดขายแล้ว 3.5 พันล้าน ด้านเฟรเซอร์ส-เสนาฯ-ศุภาลัย เผยตัวเลขโหมโรง ยังเป็นไปตามเป้า แต่ไม่ย่ามใจ ขอติดตามสถานการณ์กำลังซื้ออย่างใกล้ชิด

          การแพร่ระบาดของโควิด -19 ระลอกใหม่ ซึ่งส่งผลบานปลายต่อภาพรวมเศรษฐกิจ และทิศทางอุตสาหกรรมสำคัญ “อสังหาริมทรัพย์” ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ได้ส่งผลให้ภาพการแข่งขันของตลาดที่อยู่อาศัยไทย เริ่มทวีความร้อนแรงตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม ไตรมาสแรกของปี 2564 อย่างน่าจับตามอง เนื่องจากผู้ประกอบการต่างกังวลถึงทิศทางแนวโน้มกำลังซื้อ ที่ส่อแววหดตัว ซ้ำเติมภาวะเก่า จนอาจเข็นไม่ขึ้นเช่นปีก่อน

          จึงจำเป็นต้องเร่งทยอยปล่อยของในมือ ทั้งโครงการเก่าแล้วเสร็จ และโครงการที่ทยอยเปิดใหม่ในช่วงก่อนหน้า ท่ามกลางความเชื่อ อสังหาฯ ได้ผ่านพ้นจุดพักฐานต่ำสุดในช่วงปี 2563 มาแล้ว และคาดหวัง “วิกฤติโควิด” จะคลี่คลายจบลงภายในช่วงครึ่งปีแรก โดยมีปัจจัยเรื่อง วัคซีน เป็นตัวพลิกเกม ที่จะส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อม ให้ตลาดกลับมาฟื้นตัวตามคาดการณ์ในช่วงครึ่งปีหลัง 2564 ได้

          ทั้งนี้ “ฐานเศรษฐกิจ” ได้ตรวจสอบความเคลื่อนไหวในตลาด หลังจากรัฐบาล เคาะ มาตรการด้านภาษี หรือ “แพ็กเกจภาษี” หวังช่วยลดภาระรายจ่าย และส่งผลดีต่อลูกค้าที่มีความพร้อมและต้องการซื้อที่อยู่อาศัย ผ่านการขยายมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนซื้ออสังหาฯ สำหรับราคาบ้านไม่เกิน 3 ล้านบาท  จากเดิม 2% ของราคาประเมินทุนทรัพย์เหลือ 0.01% และยังลดค่าจดทะเบียนจำนองอสังหาริมทรัพย์และห้องชุดจากเดิม 1% ของมูลค่าที่จำนอง เหลือ 0.01%

          โดยพบผู้ประกอบการรายใหญ่ ต่างทยอยนำทัพโครงการบ้าน - คอนโดฯ ออกมาทำกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง โดยงัดแคมเปญแรง โปรโมชั่นลดราคา กระตุ้นลูกค้าเต็มที่ เพื่อหวังให้เกิดยอดขายและโอนฯ ตามมา ซึ่งผลตอบรับ เกิดขึ้นค่อนข้างน่าพอใจ

          โดยเบอร์ต้นของตลาด อย่างบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ยังเดินเกมแรง หลังนำแคมเปญใหญ่ “แสนสิริ ผ่อนให้ 24 เดือน” กลับมาใช้อีกครั้ง ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา  ส่งผลล่าสุด ประกาศว่า เพียงเดือนเดียวของปี 2564 บริษัทมียอดขายเกิดขึ้นแล้ว ถึง 3.5พันล้านบาท คิดเป็น 70% จากเป้ายอดขายไตรมาสแรกที่วางไว้ 5 พันล้านบาท โดยเฉพาะสัดส่วนการขายดีที่เกิดขึ้นจากโปรดักต์บ้านเดี่ยวถึง 45% ซึ่งนายอุทัย  อุทัยแสงสุข ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท ระบุว่านับว่าเป็นยอดขายต่อเดือนในอัตราที่สูงและอยู่ในระดับที่ดีเมื่อเทียบกับเป้าหมายยอดขายที่วางไว้ในปีนี้ 2.6 หมื่นล้านบาท ภายใต้สภาวะตลาดที่ยังคงมีความผันผวนสูง โดยเชื่อว่ามาจาก ความเชื่อมั่นของลูกค้า และมาตรการรัฐคอยกระตุ้นส่งเสริม ให้ตลาดมีอัตราการเติบโตที่ดีขึ้น

          ด้าน บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮม (ประเทศไทย) (เดิม : โกลเด้นแลนด์)  ซึ่งประเมินสถานการณ์ในแนวตั้งรับ ผ่านการถอยปรับเป้ารายได้ลดลง 10% จาก 1.6 หมื่นล้านบาท ที่เคยวางแผนเมื่อปลายปีที่ผ่านมา แต่ยังคงจะเดินหน้าเปิดตัวโครงการใหม่ทั้งหมด 24 โครงการ ในปีนี้ ล่าสุดเผยว่า ตั้งแต่ วันที่ 1-31 ม.ค. ที่ผ่านมา บริษัทมียอดขายแล้วอยู่ที่ประมาณ 2 พันล้านบาท พร้อมๆกับการทยอยทำกิจกรรมส่งเสริมการขายในแต่ละโครงการ ภายใต้แคมเปญใหญ่ “อยู่ฟรีสูงสุด 36 เดือน” ในราคาจองเริ่มต้นต่ำ 1 พันบาทเท่านั้น ทั้งในโครงการเปิดใหม่ และโครงการเดิมขยายเฟส

          ขณะนางเกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.เสนาดีเวลลอปเม้นท์ เผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สำหรับยอดขายใหม่ ณ เดือนมกราคม คาดมีตัวเลขแตะราว 1 พันล้านบาท จากลูกค้าในโครงการคอนโดมิเนียมราคาต่ำล้านบาท 2 โครงการที่เพิ่งเปิดใหม่ในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2563  คือ เสนา คิทท์ เอ็ม อาร์ที-บางแค และเดอะ คิทท์ พลัส พหลโยธิน-คูคต (เฟส 2) รวมถึงโครงการใหม่ที่เพิ่งเปิดล่าสุด เดอะ คิทท์ เวสต์เกต  โดยภาพรวม นับเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างพอใจ จากเป้าหมายยอดขายรายไตรมาสที่ตั้งไว้ประมาณ 2-3 พันล้านบาท ในภาวะที่การขายพึ่งพาได้เพียงช่องทางออนไลน์เท่านั้น ไม่สามารถจัดอีเวนต์ทางการตลาดได้

          อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า มีความกังวลในภาวะเศรษฐกิจนับหลังจากนี้ จากแนวโน้มหนี้ครัวเรือนขยับสูง กดดันกำลังซื้อของคน หลังจากทราบว่า แรงงานส่วนใหญ่ไม่ได้รับโบนัสเงินก้อนจากการทำงาน  ซึ่งอาจส่งผลในแง่ตัวเลขการโอนกรรมสิทธิ์ อีกทั้งคาดยังมาจากกรณี ที่ลูกค้าบางส่วน ไม่ยอมตัดสินใจซื้อและโอนฯ ณ ขณะนี้ เพื่อหวังรอมาตรการด้านภาษี ที่ประกาศออกมา แต่ยังไม่มีผลบังคับใช้ทันที

          ส่วนนายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บมจ.ศุภาลัย เผยว่า ยอดขายตลอดเดือนมกราคมที่ผ่านมา อยู่ในระดับที่ค่อนข้างน่าพอใจ เมื่อเทียบกับสถานการณ์ของตลาด ณ ขณะนี้ ที่แทบไม่มีปัจจัยบวก และยังไม่มีการเปิดขายโครงการคอนโดฯใหม่ เนื่องจากก่อนหน้า มีความกังวล อยู่เช่นกัน ว่ายอดขายอาจหดตัวลงไปมากจากผลกระทบของโควิดระลอกใหม่ ซึ่งโดยรวมยังเป็นไปตามเป้าหมายยอดขายใหญ่ตลอดทั้งปี 2564 ที่วางไว้ 2.7 หมื่นล้านบาท ส่วนการโอนกรรมสิทธิ์นั้น เชื่อมั่นว่า แคมเปญจัดเต็ม ฟรี ค่าใช้จ่ายวันโอน, ค่ามิเตอร์น้ำ-ไฟ, ค่าส่วนกลาง นั้น จะเป็นแรงกระตุ้นตัวเลขได้อย่างดี

          ทั้งนี้ ก่อนหน้า บริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด บริษัทวิจัยและที่ปรึกษาในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เคยประเมินไว้ว่า หากรัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ได้เร็วภายในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ และวัคซีนสามารถเข้าถึง 50% ของประชากรไทยภายในปี 2564 ส่งผลเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ประมาณ 4-5%  อาจทำให้มูลค่าการเปิดตัวโครงการใหม่ของอสังหาฯเพิ่มขึ้นราว 13-15%  ขณะด้านของกำลังซื้อ คาดว่าจะเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาสแรกปี 2564 โดยประมาณว่า จะมีอัตราการระบายอสังหาริมทรัพย์จะอยู่ที่ 6,500 หน่วยต่อเดือน หรือขยายตัวประมาณ 10% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปี 2563

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย