คลังชงครม.อัด2แสนล.สู้โควิด

12 ม.ค. 2564 435 0

          “พลังงาน” เสนอลดค่าไฟ ครอบคลุม 24 ล้านครัวเรือน

          นายกฯ หารือ “คลัง-สศช. -สำนักงบฯ-พลังงาน” ออกมาตรการเยียวยาโควิด ชง ครม.วันนี้ เคาะเติมสภาพคล่อง ผู้ประกอบการ-ประชาชน ดึงแบงก์รัฐ อัด 2 แสนล้านบาท “อาคม” ชี้มีมาตรการจ่ายเงินเยียวยา “พลังงาน” ลดค่าไฟ ช่วยประชาชน “ประยุทธ์” กำชับใช้งบแบบประหยัด มั่นใจงบปี 65 พาประเทศ ก้าวข้ามวิกฤติ

          พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรียกประชุมทีมเศรษฐกิจรัฐบาล ที่ห้องทำงานบนตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล วานนี้ (11 ม.ค.) โดยมีผู้ร่วมประชุมประกอบด้วยนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และนายกุลลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน

          หลังการประชุม พล.อ.ประยุทธ์ ได้ โพสต์บนเฟซบุ๊คส่วนตัวข้อความว่า “เช้านี้มีการประชุมติดตามตัวเลขทาง เศรษฐกิจ หารือมาตรการช่วยเหลือ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งในเรื่อง ของค่าสาธารณูปโภคต่างๆ ด้วยครับ”

          นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงคลัง กล่าวว่า รัฐบาลกำลัง หาข้อสรุปมาตรการช่วยเหลือ ส่วนจะ แจกเงินหรือไม่ขอดูรายละเอียดก่อน แต่ไม่อยากให้ใช้คำว่าแจกเงิน เรียกว่า เป็นมาตรการบรรเทาความเดือดร้อน ผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งวงเงินที่นำมาใช้ อยู่ใน พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่มี งบประมาณเหลืออยู่จึงไม่ต้องกู้เงินเพิ่ม

          “กรณีที่เอกชนขอให้คลังแจกเงินโครงการคนละครึ่ง 4,000 บาท จำนวน 2 เดือนนั้น ไม่ทราบว่า คิดจากฐานอะไร แต่ไม่ใช่ข้อมูลจากกระทรวงการคลัง ต้องไปถามเขา ในส่วนรัฐบาลเตรียมไว้แล้ว ส่วนโครงการใหม่ที่ออกมาจะเป็น การแจกเงินเป็นก้อนทีเดียวเหมือน โครงการคนละครึ่ง หรือโครงการเราไม่ทิ้งกัน ที่แจกเงิน 5,000 บาท 3 เดือนหรือไม่นั้น เรื่องนี้กำลังดูรายละเอียด”

          แบงก์รัฐอัดสภาพคล่อง2แสนล้าน

          นางสาวกุลยา ตันติเตมิท รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (12ม.ค.) กระทรวงการคลังจะเสนอมาตรการดูแลผู้ประกอบการและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ผ่านสถาบันการเงินของรัฐ 4 แห่ง คือ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม แห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) อาทิ การเพิ่มสภาพคล่อง  การพักหนี้ การลดดอกเบี้ยและการดูแลลูกหนี้ กลุ่มต่างๆ โดยรายละเอียดจะแถลงภายหลัง การประชุม ครม.

          ส่วนสภาพคล่องนั้นมีวงเงินรวม กว่า 2 แสนล้านบาท ที่จะอัดฉีดไป ช่วยประชาชนและผู้ประกอบการ ใน จำนวนนี้มีวงเงิน 1 แสนล้านบาท ที่เป็นสภาพคล่องคงเหลือจากมาตรการ ช่วยเหลือโควิด-19 ระยะแรก และเป็นวงใหม่ รวม 1 แสนล้านบาท

          นอกจากนี้ สศช.จะเสนอมาตรการ ลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชนที่อาจเป็นการลดค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ในขณะที่มาตรการเยียวยาประชาชนในด้านต่างๆ ยังไม่นำเสนอที่ประชุมครั้งนี้

          ลดค่าน้ำค่าไฟฟ้าอุ้มประชาชน

          แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลระบุว่า สศช.จะมีการหารือรายละเอียดกับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การประปานครหลวง (กปน.) และการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ถึงมาตรการลดค่าน้ำค่าไฟฟ้า โดยมีการสรุปผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภทของ กฟน.และ กฟภ.รวม 24.5 ล้านครัวเรือน กรณีลดค่าไฟฟ้า ให้ 3 เดือน ในอัตรา 3% จะใช้งบ 5,004 ล้านบาท หากลดค่าไฟฟ้า 5% จะใช้งบ 8,340 ล้านบาท และถ้าลดค่าไฟฟ้า 10% จะใช้งบ 16,680 ล้านบาท

          นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่ากระทรวงพลังงาน เตรียมมาตรการเยียวยาผลกระทบ ตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อช่วยเหลือประชาชนและ ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ โดยวันนี้นายกรัฐมนตรีจะแถลงรายละเอียดมาตรการที่ ครม.เห็นชอบ

          รวมทั้งกระทรวงพลังงานจะรายงานสถานการณ์การใช้พลังงานเดือน ธ.ค.2563 ยอดการใช้ไม่ได้ลดลง แต่เดือน ม.ค.2564 กำลังติดตามผลกระทบจากโควิด-19 ระลอกใหม่ถึงผลการใช้ไฟฟ้าและน้ำมันหลังจากประกาศพื้นที่ควบคุมสูงสุด 28 จังหวัด และเข้มงวดอีก 5 จังหวัด และหลายหน่วยงานได้มีมาตรการ Work From Home

          ลุ้น ธปท.ออกมาตรการช่วยลูกหนี้

          แหล่งข่าวจากวงการการเงิน กล่าวว่า วันนี้ (12 ม.ค.) มีโอกาสเห็นธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกแนวปฏิบัติ หรือมาตรการให้ธนาคารพาณิชย์ใช้เป็นมาตรฐานกลางในการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ควบคุมไปกับการประกาศมาตรการดูแลลูกหนี้ของแบงก์รัฐที่มีการนำเข้าครม.วันนี้

          สำหรับมาตรการของ ธปท.อาจ ต่างจากมาตรการช่วยลูกหนี้จาก โควิด-19 รอบแรกเมื่อเดือน มี.ค.2563 จะปรับสู่มาตรการเฉพาะเจาะจงกับลูกหนี้ เฉพาะกลุ่มที่ไม่ใช่มาตรการทั่วไป เช่น การพักหนี้เป็นการทั่วไปครอบคลุมลูกหนี้ เอสเอ็มอีทุกราย ซึ่งหากออกมาตรการพักหนี้คงออกให้เหมาะสมแต่ละลูกหนี้  โดยเฉพาะเอสเอ็มอีจะดูจากผลกระทบและพื้นที่เป็นหลัก

          ทั้งนี้ การออกมาตรการจะคล้ายมาตรการในอดีตแต่เป็นเฉพาะเจาะจงเพื่อให้เหมาะสมกับลูกหนี้บางราย เช่น ให้สถาบันการเงินเลือกในการทำมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ โดยยืดเวลาผ่อนชำระและลดดอกเบี้ยให้ลูกหนี้ หรือเลือกชำระเฉพาะดอกเบี้ย หรือเงินต้น เพื่อลดภาระลูกหนี้ให้ลดลงมากที่สุด โดยมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ครั้งนี้จะเป็นทั้งมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผล กระทบ และการเติมสภาพคล่องให้ผู้ที่ได้รับ ผลกระทบ เช่น เอสเอ็มอี

          นายนายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ธปท.และสมาคมธนาคารไทย ได้หารือร่วมกันตั้งแต่เกิดโควิด-19 รอบใหม่ เพื่อช่วยเหลือ ลูกหนี้ทั้งรายย่อยและเอสเอ็มอี โดย ให้มาตรการเร่งด่วนและช่วยเหลือลูกหนี้ตั้งแต่เนิ่นๆ โดยมาตรการที่หารือกัน ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นมาตรการทั่วไป แต่จะออกมาตรการเฉพาะเจาะจงสำหรับลูกหนี้ในแต่ละราย

          “ธปท.และธนาคารพาณิชย์ ไม่ได้ นิ่งนอนใจที่จะช่วยลูกหนี้ แต่บางมาตรการยังไม่มีข้อสรุปและต้องหารือร่วมกันอีก และจะ 2 ส่วน คือ มาตรการกลางจากแบงก์ชาติ เพื่อให้ธนาคารใช้เป็นแนวทางทำมาตรการ และเป็นมาตรการของแต่ละแบงก์เอง ที่ออกมาเพื่อช่วยลูกหนี้แต่ละราย”

          หวังงบปี65พาชาติพ้นวิกฤติ

          พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวมอบนโยบายการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 วันนี้ (11 ม.ค.) ว่าแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2565 จะต่อเนื่อง จากงบประมาณประจำปี 2564 โดยเป็น งบประมาณแบบขาดดุลที่จะไม่ส่งผล กระทบต่อวินัยทางการเงินการคลัง แต่การขาดดุลงบประมาณจะทำให้ประเทศก้าวพ้นจากวิกฤติโควิด-19 และฟื้นฟูเศรษฐกิจกลับมาเติบโตได้ตามศักยภาพ โดยให้แต่ละหน่วยงานจัดส่งคำขอให้สำนักงานประมาณภายในวันที่ 15 ม.ค.นี้

          ทั้งนี้ ครม.มีมติวันที่ 5 ม.ค.2564 เห็นชอบ กรอบงบประมาณ 2565 จำนวน 3.1 ล้านล้านบาท ลดลงจากงบประมาณปี 2564 1.859 แสนล้านบาท เนื่องจากข้อจำกัดในการจับเก็บรายได้ของรัฐบาลในปี 2565 ที่คาดว่าจะจัดเก็บได้ 2.4 ล้านล้านบาท ลดลงจากปี 2564 ประมาณ 2.77 แสนล้านบาท เป็นผลมาจากโควิด-19 และการดำเนินการด้านภาษีของรัฐบาล รวมถึงการชะลอมาตรการภาษีบางมาตรการภายใต้แผนการปฏิรูปภาษี ซึ่งส่งผลต่อการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2565 ทำให้การขาดดุลงบประมาณเพิ่มจากปีงบประมาณ 2564 จำนวน 9.1 หมื่นล้านบาท

          นายกฯกำชับใช้งบแบบประหยัด

          นอกจากนี้ งบประมาณรายจ่ายที่มีจำกัดจึงขอความร่วมมือส่วนราชการ 4 เรื่อง คือ 1.บริหารงบประมาณรายจ่ายประจำอย่างประหยัด คุ้มค่า มีประสิทธิภาพและสอดคล้องความจำเป็นในสถานการณ์ปัจจุบัน

          2.ให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุและคนพิการ เพื่อให้มีรายได้เพียงพอ ในการดำรงชีวิต และลดความเสี่ยงจากการได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ไปยังบุคคลอื่นและชุมชน

          3.ส่งเสริมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพิ่มศักยภาพการถ่ายโอนภารกิจ การจัดบริการสาธารณะ ลดความเหลื่อมล้ำ รวมทั้งการพัฒนาประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ และประสิทธิผลของการใช้จ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

          4.จัดทำงบประมาณให้ครอบคลุมทุกแหล่งเงิน โดยหน่วยรับงบประมาณที่มีเงินนอกงบประมาณ ต้องพิจารณานำเงิน ดังกล่าว เช่น เงินรายได้ เงินสะสมคงเหลือ มาใช้ในการดำเนินภารกิจของหน่วยงาน เป็นลำดับแรก ควบคู่กับการพิจารณาทบทวนเพื่อชะลอ ปรับลด หรือยกเลิกการ ดำเนินโครงการที่มีความสำคัญ ในระดับต่ำหรือหมดความจำเป็น รวมทั้งต้องพิจารณาแหล่งเงินอื่นในการดำเนินโครงการลงทุน เช่น การร่วมลงทุน ระหว่างภาครัฐและ ภาคเอกชน (PPP) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน เพื่ออนาคตประเทศไทย (TFF) เพื่อลดภาระงบประมาณ

          เร่งฟื้นฟูประเทศให้ปกติ

          สำหรับประเด็นสำคัญในการจัดทำ คำของบประมาณปี 2565 รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกกับประเด็นการพัฒนาตามแผนแม่บทเฉพาะกิจฯ 4 ประเด็น ที่ต้องเร่งดำเนินการ เพื่อให้สามารถรับมือและเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือเยียวยา ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 รวมถึงฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมให้กลับสู่ปกติโดยเร็ว ประกอบด้วย

          1.การเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากภายในประเทศ (Local Economy)โดยส่งเสริมการจ้างงาน ทั้งการจ้างงานใหม่ในพื้นที่ กลุ่มบัณฑิต จบใหม่ รักษาการจ้างงานในสาขา ที่ได้รับผล กระทบ และการสร้างงานที่สอดคล้องกับภาคเศรษฐกิจในอนาคต -การช่วยเหลือและพัฒนาศักยภาพเอสเอ็มอี

          2.การยกระดับขีดความสามารถของประเทศเพื่อรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว (Future Growth) โดยการส่งเสริมอุตสาหกรรมและบริการทางการแพทย์ครบวงจร โดยขยายช่องทางการตลาด แพทย์แผนไทย/ปัจจุบัน ยกระดับคุณภาพสินค้า บริการ ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และเน้นคุณภาพ

          3.การพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของคนให้เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ (Human Capital)โดยการยกระดับ ปรับทักษะ และส่งเสริมการเรียนรู้โดยส่งเสริมแรงงานให้ได้รับการฝึกอบรมทักษะ

          4.การปรับปรุงและพัฒนาปัจจัยพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูและพัฒนาประเทศ (Enabling Factors)โดย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ โดยพัฒนาโครงสร้าง พื้นฐานดิจิทัล และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชิงระบบบริหารจัดการโลจิสติกส์

          มั่นใจงบประมาณเพียงพอ

          นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า การออกมาตรการดูแลเศรษฐกิจรอบใหม่เข้าใจว่า รัฐบาลยังไม่ใช้วงเงินจากงบประมาณรายจ่ายปี 2564 ที่กันไว้สำหรับดูแลภัยพิบัติรวมถึงโควิด-19 แต่จะใช้วงเงินจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่ยังคงเหลือกว่า 4 แสนล้านบาทก่อน โดยปีงบประมาณ 2564 รัฐบาลจัดสรรงบประมาณดูแลโควิด-19 ไว้ 4 หมื่นล้านบาท และจัดสรรไว้กรณีเกิดภัยพิบัติที่รวมถึงโควิด-19 ด้วยอีก 9 หมื่นล้านบาท รวมเป็น 1.3 แสนล้านบาท

          ทั้งนี้ ขณะนี้ เริ่มมีภัยพิบัติจากเหตุการณ์น้ำท่วมบางพื้นที่และอาจจะมีภัยแล้ง ในปีนี้ ดังนั้นงบประมาณที่เตรียมไว้ต้องกันสำหรับดูแลภัยพิบัติด้วย แต่เชื่อว่าการระบาดจะดีขึ้น แม้ขณะนี้ ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะสูงเมื่อเทียบกับการระบาดระยะแรก แต่จำกัดวงอยู่ใน 28 จังหวัด ทำให้คุมสถานการณ์ได้ดีกว่าระยะแรกที่ไม่รู้ว่าจะระบาดพื้นที่ใดบ้าง

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย