อสังหาฯลดโครงการสู้โควิด ไอที แนะเสริมแกร่งดิจิทัล
เอกชนปรับแผน รับมือโควิด ฉุดกำลังซื้อ อสังหาฯ ชะลอ เปิดตัวโครงการใหม่ “ศุภาลัย"มั่นใจกระทบ ระยะสั้น หลังสถานการณ์คลี่คลาย เชื่อดีมานด์ฟื้น พร้อมลุยทันทีครึ่งปีหลัง เปลี่ยนช่องทางสื่อสาร เน้นออนไลน์ ชี้เข้าถึงเร็ว เร่งการตัดสินใจลูกค้า ด้านยักษ์ไอทีแนะผู้ประกอบการเร่งปรับตัวรับความท้าทายที่ยังไม่จบในปี 64 ดึงดิจิทัลเสริมความแกร่งทุกมิติ
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น และขยายพื้นที่ในวงกว้าง ทำให้กลุ่มธุรกิจต่างๆ ต้องเร่งปรับแผนงาน ให้สอดคล้องกับสถานการณ์
นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) กล่าวว่า ภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยช่วงไตรมาสแรก และไตรมาส 2 ปีนี้คาดว่า การเปิดตัวโครงการใหม่จะใกล้เคียงกับ ปีที่ผ่านมา จากเดิมที่ประเมินว่าจะเพิ่มขึ้น แต่การระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้ประกอบการชะลอแผนออกไป
ทั้งนี้ไตรมาสแรกปี 2563 มีโครงการ ที่อยู่อาศัยเปิดใหม่ในพื้นที่ กรุงเทพฯปริมณฑล เปิดตัว68 โครงการ ลดลง 40% จากช่วงเดียวปีก่อนหน้า จำนวน 15,932 หน่วย ลดลง 30%แบ่งเป็นโครงการบ้านจัดสรร 45 โครงการลดลง 43.8% รวม 8,821 หน่วยลดลง 13.3% คอนโดฯ 23 โครงการ ลดลง 32.4% จำนวน 7,111 หน่วย ลดลง 42.9% จาก 12,463 หน่วย
โดยในเดือน ม.ค. 2563 มีจำนวน บ้านจัดสรรเปิดใหม่ 6 โครงการ จำนวน 1,151 หน่วย คอนโดเปิดใหม่ 5 โครงการ จำนวน 566 หน่วยเดือนก.พ.บ้านจัดสรร เปิดใหม่ 22 โครงการ จำนวน 3,703 หน่วย และมีคอนโดเปิดใหม่ 10 โครงการ 3,107 หน่วย ส่วนเดือน มี.ค. บ้านจัดสรรเปิดใหม่ 17 โครงการ จำนวน 3,967 หน่วย และมีคอนโดเปิดใหม่ 8 โครงการ จำนวน 3,438 หน่วย
“จากเดิมที่คาดว่าไตรมาสแรกปีนี้จะ เปิดตัวเพิ่มขึ้นบ้าง แต่สถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ ที่กลับมาปะทุอีกรอบทำให้ ดีเวลลอปเปอร์ อาจเลื่อนหรือชะลอการเปิดตัวโครงการใหม่ในครึ่งปีแรกออกไป เพื่อลดความเสี่ยง”
ศุภาลัยเชื่อไม่ลากยาว
นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการ ผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทปรับแผนธุรกิจเพื่อลดความเสี่ยง จากสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ โดยเลื่อน หรือชะลอการเปิดโครงการใหม่ช่วงไตรมาสแรก ออกไปก่อน ซึ่งเป็นแนวทางที่ปฏิบัติเหมือนกับช่วงที่เกิดการะบาดโควิดรอบแรกต้นปี 2563 อย่างไรก็ตามสินค้าแนวราบจะทยอยก่อสร้างไปเรื่อยๆ ทั้งนี้เพราะมองว่าองจากการระบาดระลอกใหม่ จะส่งผลกระทบในระยะสั้นและ หลังจากสถานการณ์คลี่คลายเชื่อว่าความต้องการ ซื้อบ้านจะกลับเข้ามาอีกครั้งเหมือนหลัง การระบาดรอบแรกที่หลังจากคลายมาตรการล็อกดาวน์ พบว่าดีมานด์ที่อั้นไว้เข้ามาช่วยชดเชยยอดขายที่หายไปในช่วงล็อกดาวน์
“จากบทเรียนครั้งก่อน ทำให้รู้ว่าไม่จำเป็น ต้องรีบเปิดตัวโครงการในช่วงแพนิค เพราะเมื่อสถานการณ์คลี่คลายความต้องการซื้อจะกลับมาเอง”
นอกจากนี้ ยังปรับแผนการสื่อสาร โดยจะ ใช้การสื่อสารผ่านทางออนไลน์เพิ่มขึ้น จากเดิม เน้นป้ายโฆษณาเป็นหลัก ซึ่งพบว่าได้ผลการตอบรับที่ดีจากกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเรียล ดีมานด์ ซึ่งนิยมหาซื้อมูลผ่านทางช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้นทุกปี และที่สำคัญช่วยดึงให้คนเข้ามาเยี่ยมชมโครงการและตัดสินใจซื้อได้เร็วขึ้น ตามพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไปหลังจากเกิดโควิด-19 ในปีที่ผ่านมา
ฮาบิแททลุยครึ่งปีหลัง
นายชนินทร์ วานิชวงศ์ ประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฮาบิแทท กรุ๊ป จำกัด ผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์เพื่อลงทุน ระบุว่า จากการประเมินสถานกาณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ตั้งแต่ปลายปี 2563 ที่ผ่านนั้น เชื่อว่าการระบาดจะขยายตัวในวงกว้าง และใช้เวลาพอสมควรกว่าทุกอย่างจะคลี่คลาย บริษัทจึงได้เตรียมการรับมือด้วยการวางแผนที่เปิดตัวโครงการใหม่ในช่วงครึ่งปีหลังของ ปี 2564 ส่วนการทำตลาดในช่วงครึ่งปีแรก จะเน้นการขายสต็อกที่เหลืออยู่ของโครงการเก่าเป็นหลัก
“เรายอมเสียเวลารอเปิดโครงการใหม่ แล้วปังดีกว่ารีบเปิดแล้วแป้ก”
“ฟูจิตสึ"เผยดิจิทัลชี้ชะตาธุรกิจปี 64
นายเกลนน์ ฟิตซ์เจอรัลด์ ประธาน เจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูล กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ประจำภาคพื้นยุโรปของฟูจิตสึ กล่าวว่า ปี 2563 เป็นปีที่เกิดความเปลี่ยนแปลงมากมาย และเป็นจุดเริ่มต้นของความเปลี่ยนแปลง ครั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ โดยปีที่ผ่านมา ชอปปิง ออนไลน์ และออนไลน์ แบงกิ้ง ได้รับ ความนิยมอย่างกว้างขวาง
โควิด-19 ส่งผลให้ผู้คนจำนวนมาก ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และเริ่มต้นใช้บริการธนาคารสั่งซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์ในประเทศ ที่มีการใช้มาตรการล็อกดาวน์ราว 70% ของลูกค้าที่เคยซื้อสินค้าในห้างเปลี่ยนไปใช้ระบบออนไลน์ และหลายๆ คนก็ยังคงมีพฤติกรรมเช่นนี้ต่อไปหลังจากที่การแพร่ระบาดสิ้นสุดลง ส่งผลให้ผู้ค้าปลีกออนไลน์เดินหน้าเสริมทัพกันอย่างจริงจังตั้งแต่ช่วงปี 2563
การปฏิรูปบริการภาครัฐ และการศึกษา เป็นอีกกลุ่ม ที่โควิด-19 ดันให้ปรับเปลี่ยน การดำเนินงานสู่ดิจิทัล เพราะประชาชน ไม่สามารถเดินทางไปขอรับบริการที่หน่วยงาน ได้โดยตรง จึงจำเป็นต้องอาศัยช่องทางออนไลน์ แน่นอนว่า ยังต้องมีการพัฒนาอีกมาก แต่อย่างน้อย ก็นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี
กลุ่มร้านอาหาร ก็เช่นกันซึ่งเป็นธุรกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดมากที่สุด ปีที่ผ่านมา จำเป็นต้องสร้างสรรค์นวัตกรรมหลายต่อหลายครั้ง เช่น เริ่มใช้ระบบสั่งอาหารผ่านโทรศัพท์มือถือ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ลูกค้าส่งต่อใบปลิวเมนูสำหรับการสั่งออเดอร์ทางดิจิทัลและการจัดส่งอาหาร
แนะบริษัทที่ใช้ประโยชน์ดิจิทัลจะ"รอด”
“ผู้ชนะในปี 2563 ได้แก่ บริษัทที่สามารถเสริมสร้างหรือใช้ประโยชน์จากโครงสร้าง พื้นฐานไอที เราเห็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในหลายๆ ด้าน ตั้งแต่โลจิสติกส์ที่ปรับปรุงบริการขนส่งสินค้า ไปจนถึงแพทย์ที่ให้ คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยผ่านทางวิดีโอ การ แพร่ระบาดเกิดแรงสั่นสะเทือนอย่างรุนแรงต่อระบบเก่า”
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าปี 2564 ยังมีแนวโน้ม ที่มาจากปี 2563 และจะมีความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะประชาชนที่ไม่สามารถเข้าถึง อุปกรณ์ดิจิทัลจะสูญเสียโอกาสอย่างมาก กลุ่มผู้ด้อยโอกาสในสังคมเช่นผู้สูงอายุและ คนยากจน จะกลายเป็นผู้สูญเสียประโยชน์ ผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงคอมพิวเตอร์หรือ สมาร์ทโฟนด้วยตนเองหรือไม่รู้วิธีใช้ จะเสียเปรียบเพิ่มมากขึ้นใ และจะส่งผลให้เกิดช่องว่างทางสังคมเพิ่มขึ้น
ขณะที่งานทั่วๆ ไป เช่น การประเมินความเสี่ยงด้านประกันภัย คอลล์เซ็นเตอร์ และ ศูนย์บริการ ระบบอัตโนมัติจะเข้ามาพัฒนาอย่างรวดเร็ว เป็นผลมาจากการขับเคลื่อนของเทคโนโลยีเอไอ และแมชชีนเลิร์นนิ่ง สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือระบบอัตโนมัติจะเข้ามาแทนที่บุคลากรที่ทำงานเหล่านี้ หากไม่ยอมฝึกอบรมเพื่อปรับเปลี่ยนทักษะ
นอกจากนี้ความเร็วอินเทอร์เน็ต จะมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในการกำหนด ราคาบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชนบท ซึ่งในอดีตความพร้อมของบริการขนส่ง สาธารณะคือตัวกำหนดราคาอสังหาฯ ชานเมือง แต่เนื่องจากปรากฏการณ์คนหนีเมือง (De-urbanization) เริ่มขยายตัว ปัจจัยใหม่ ที่ส่งผลต่อราคาบ้านก็คือแบนด์วิธสำหรับการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ด้วยเหตุนี้ ชุมชน ในชนบทที่ลงทุนขยายแบนด์วิธจะมีมูลค่าอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นอย่างสอดคล้องกัน
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ