ธปท.หั่นจีดีพีปีหน้าโต3.2% จับตาโควิดรอบใหม่ฉุดศก.

24 ธ.ค. 2563 597 0

          ธปท.หั่นจีดีพีปีหน้า โตเหลือ 3.2% หลังโควิด-19 ระบาดใหม่ หนุนความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยเพิ่ม กระทบนักท่องเที่ยวเข้าไทยแค่ 5.5 ล้านคน ขณะที่กนง.คงดอกเบี้ยที่ 0.5% เอื้อการขยายตัวเศรษฐกิจ “พาณิชย์” คาดปีหน้าส่งออกโต 4% ด้าน“ศุภชัย"เตือน โควิดลากยาว แนะตั้งรับซัพพลายโลก สั้นลง

          นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วย ผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวในการแถลงผลการประชุมนโยบายการเงิน วันที่ 23 ธ.ค. ครั้งสุดท้ายของปี 2563 ว่าธปท.ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทย ทั้งปี 2563 และปี 2564 โดยคาดว่าปีนี้เศรษฐกิจหดตัวที่ 6.6% ดีกว่าที่ประเมินไว้ จากเดิมที่ 7.8% หลัง การบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกฟื้นตัว ดีกว่าคาด ซึ่งส่วนหนึ่งเพราะมีมาตรการภาครัฐมาช่วยประคองเศรษฐกิจต่อเนื่อง

          ขณะเดียวกันจีดีพีปี 2564  ได้ปรับลดลง มาขยายตัวอยู่ที่ 3.2% จากประมาณการเดิมที่คาดไว้ 3.6% จากผลกระทบของ โควิด-19 ที่ลากยาวและระบาดใหม่ซึ่งมีผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยว ต่างประเทศที่เข้ามาได้น้อยลงในปีหน้า เหลือเพียง 5.5ล้านคนจากเดิมที่คาด 9 ล้านคนโดยคาดว่านักท่องเที่ยวทยอยเข้ามาได้ในช่วงครึ่งปีหลัง 2564หลัง นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เป็นนักท่องเที่ยว หลักของไทยได้รับรับการฉีดวัคซีนราว 30% ในช่วงไตรมาส 3 ปีหน้าส่วนคนไทยคาดว่ามีโอกาสได้ฉีดวัคซีนได้ราว 20% ในไตรมาส 4 ปีหน้า

          ธปท.ยังคาดการณ์การขยายตัวเศรษฐกิจปี 2565 ขยายตัวที่ 4.8% หลังคาดเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัว และนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาไทยได้มากขึ้นระดับ 23ล้านคน โดยคาดว่า เศรษฐกิจไทยมีโอกาสกลับมาขยายตัว ใกล้เคียงกับก่อนเกิดโควิด-19 ราวไตรมาส 3 ปี 2565

          โควิด-19รอบใหม่กระทบวงจำกัด

          ทั้งนี้การปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจปี 2564 บางส่วนมีการรวมผลกระทบจากโควิด-19รอบใหม่ไปแล้วแต่ผลกระทบจากโควิด-19 รอบใหม่ ทำให้ความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจ เพิ่มขึ้นเบื้องต้นสมมุติฐานว่า ไทยจะใช้ เวลาคุมการระบาดไม่นาน และการ กระจายตัวของการระบาดจะจำกัด โดยใช้เวลาไม่นานผลกระทบอยู่ที่ 1-2 เดือน ซึ่งกระทบเศรษฐกิจบ้างจากล็อกดาวน์บางพื้นที่แต่ไม่รุนแรง เท่าเดือน เม.ย.2563

          ดังนั้นถือว่าช่วงนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ และต้องหารือและคิดเหมือนกันว่า มาตรการต่างๆที่เกี่ยวข้องต้อง เตรียมอย่างไรบ้าง ซึ่งได้ให้ทีมงาน กลับไปทำการบ้านเพิ่มขึ้นว่ากรณีไหนที่ผลกระทบมากน้อย แต่ยอมรับว่าความเสี่ยงจากโควิด-19 รอบใหม่ทำให้ ความเสี่ยงต่อระบบเสถียรภาพด้านการเงินสูงขึ้น ดังนั้นต้องประเมินความเพียงพอของมาตรการและเตรียมมาตรการต่างๆให้พร้อม

          ทั้งนี้หากผลกระทบโควิด-19 รอบใหม่ รุนแรงกว่าที่ประเมินไว้ อาจมีผลกระทบต่อภาพเศรษฐกิจไทย ปี 2563 แต่ไม่มากนักแต่หากสถานการณ์ลากยาวและรุนแรงขึ้นจะยิ่งมีผลกระทบ ต่อเศรษฐกิจปี 2564 มากกว่าประเมินไว้ ดังนั้นขอดูผลกระทบก่อนประเมินภาพเศรษฐกิจอีกครั้ง

          “ความเสี่ยงจากโควิด-19 รอบใหม่ ถือว่าเป็นความเสี่ยงที่สูงขึ้น ดังนั้นระยะสั้นต้องดูการควบคุมการระบาดว่าทำได้เข้มข้นขนาดไหน และยังมีความไม่แน่นอนในระยะถัดไป จากแนวโน้ม การฟื้นตัวจากท่องเที่ยว รวมถึงผล กระทบจากการกระจายวัคซีนใน ครึ่งหลังปี 2564 ด้วยที่ต้องจับตาใกล้ชิด”

          กนง.คงดอกเบี้ย 0.5%

          สำหรับผลประชุมคณะกรรมการ กนง.มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยที่ 0.50% ต่อปีเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เปราะบางและไม่แน่นอนสูง โดยเศรษฐกิจไทยระยะ ข้างหน้าฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่มีความเสี่ยง ด้านต่ำ จึงต้องการแรงสนับสนุนจาก อัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำต่อเนื่อง จึงคงดอกเบี้ยและรักษาขีดความสามารถ การดำเนินนโยบายการเงินที่มีจำกัด

          “ยอมรับว่า การดำเนินนโยบายการเงินหรือขีดความสามารถด้านการลดดอกเบี้ย ถือว่ามีค่อนข้างจำกัด แต่พร้อมใช้ และใช้ในจังหวะที่เหมาะสมหากจำเป็น ดังนั้นก็มียังรูมพอที่ยัง อยู่บ้าง แต่ทั้งนี้ต้องรอดูสถานการณ์ และประเมินกันใหม่ในครั้งถัดไป“จับตาประชุมกนง.ฉุกเฉิน

          นายอมรเทพ  จาวะลา  ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สำนักวิจัยธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า หากช่วง ไตรมาสแรกปีหน้า การระบาดของโควิด มีผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจมากขึ้น ทาง กนง.อาจประชุมฉุกเฉินเพื่อออกมาตรการดูแลเศรษฐกิจ โดยไม่รอถึงรอบประชุมปกติรอบหน้าเพื่อบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจและลดความรุนแรงต่อปัญหาการว่างงานและสภาพคล่องในธุรกิจขนาดเล็กและครัวเรือนที่มี รายได้น้อย เช่น ลดเงินที่จัดเก็บเข้ากองทุน ฟื้นฟูลง 0.23% เหลือ 0 เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ลดภาระหนี้ให้ลูกค้า

          ผ่อนคลายเกณฑ์อัดฉีดสภาพคล่อง (Soft loan)ช่วยเอสเอ็มอี การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหลือ 0.25% เพื่อลดผลกระทบการล็อกดาวน์ ลดภาระดอกเบี้ย เพิ่มสภาพคล่อง การขยายมาตรการพักชำระหนี้ครัวเรือน และเอสเอ็มอีเพื่อให้ลูกค้ามีเวลา ในการปรับโครงสร้างหนี้ และช่วยบรรเทาปัญหาทางการเงินในช่วงที่ขาดรายได้ และธปท.เตรียมอัดฉีดคิวอีเข้าระบบ และทำมากกว่าการซื้อหุ้นกู้เอกชน เพื่อเสริมสภาพคล่อง ให้เอสเอ็มอี และอาจซื้อพันธบัตร รัฐบาลเพื่อให้คลังกู้เงินมากระตุ้น เศรษฐกิจ อีกทั้งช่วยชะลอเงินบาทแข็งค่าปีหน้า

          ลุ้น ศบค.ประกาศล็อคดาวน์

          นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า วันนี้ตลาดหุ้นจะจับตาการประชุมของ ศบค. ซึ่งหากประกาศล็อกดาวน์กรุงเทพ และปริมณฑล ซึ่งจะกดดันให้ดัชนีปรับตัว ลดลง แต่เชื่อว่าจะไม่หลุด 1,400 จุด หรือ หากหลุดจะอยู่ที่ 1,380-1,390 จุด

          ทั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย เพราะจีดีพีกรุงเทพฯและปริมณฑลคิดเป็น 47% ของจีดีพีไทย โดยบริษัทประเมินว่า หากมีการล็อกดาวน์ 1 เดือน จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ 0.9% หรือ 1.6 แสนล้านบาท และหาก ล็อกดาวน์ 14 วัน กระทบจีดีพีไม่เกิน 0.5% ซึ่งส่วนตัวมองว่าหากมีการล็อกดาวน์จะแค่ 14 วัน

          พาณิชย์คาดปีหน้าส่งออกบวก4%

          นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)กล่าวว่า การส่งออกเดือน พ.ย.2563 มีมูลค่า 18,932ล้านดอลลาร์เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วลดลง3.65% แต่ดีกว่าที่คาดไว้ว่าจะส่งออกได้เพียง 18,500 ล้าน ดอลลาร์ ส่วนการนำเข้าเดือน พ.ย.มูลค่า 18,880ล้านดอลลาร์ลดลง0.99%

          ขณะที่การส่งออก 11 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ย.) มีมูลค่า 211,385 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 6.92% และการนำเข้ามีมูลค่า 187,872 ล้านดอลลาร์ติดลบ 13.74% ทำให้เกินดุลการค้า 23,512 ล้านดอลลาร์และคาดว่าทั้งปี 2563 การส่งออกจะติดลบ 7%

          สำหรับการส่งออกปี 2564 มีปัจจัยบวกคือสินค้าสุขภาพและ สินค้าที่เกี่ยวกับการทำงานที่บ้าน การป้องกันโควิด-19 สินค้าเกษตรอาหาร มีแนวโน้มดี

          รวมถึงการมีวัคซีนป้องกันโควิด-19 และราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมันที่ไทย มีสัดส่วนการส่งออกสูงกลับมาขยายตัว แต่ต้องเฝ้าระวังการระบาดที่อาจ ยืดเยื้อ และกระทบกำลังซื้อทั่วโลกและนโยบายการค้าของนายโจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ โดยเฉพาะมาตรการกีดกันทางการค้าด้านสังคม สิ่งแวดล้อมและค่าเงินบาทแข็ง

          “ศุภชัย"เตือนโควิดลากยาว

          นายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีต ผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO)ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “ก้าวทัน เศรษฐกิจวิถีใหม่ สู่โอกาสภาคการเกษตรไทยที่ท้าทาย” จัดโดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ว่าโลกเกิดวิกฤติจากโควิด-19 ที่ยาวนานและยืดเยื้อกว่าสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้จะมีวัคซีนแต่ต้องเก็บในอุณหภูมิลบ 70 องศาเซลเซียล จึงยากนำมาใช้และหากไทยต้องใช้อาจเป็นวัคซีนที่คุณภาพต่ำลงที่ไม่แน่ว่าจะได้ผลหรือไม่ อีกทั้งไวรัสโคโรนาเป็นสายพันธุ์ใหญ่จะเปลี่ยนไปเรื่อยทำให้ต้องคิดค้นต่อเนื่อง

          ทั้งนี้ในวิกฤติเต็มไปด้วยโอกาส อันตรายและความเสี่ยง ซึ่งการระบาดที่ผ่านมาส่งผลให้การเชื่อมโยงเศรษฐกิจโลกหยุดชะงัก แต่ปัจจุบันเมื่อบางประเทศควบคุมโควิดได้ทำให้การเชื่อมโยงเศรษฐกิจกลับมาอีกครั้ง แต่เป็นการเชื่อมโยงเศรษฐกิจในห่วงโซ่ ที่สั้นลง เกิดการสะสม สต็อกและสร้างข้อกีดกันทางการค้า

          รวมทั้งเศรษฐกิจเอเชียต้องปรับตัวเพื่อให้ถึงจุดนั้น โดยต้องหันมาพึ่งตนเองและประเทศใกล้เคียงมากขึ้น โดยหลังโควิดจะทำให้สินค้าโภคภัณฑ์และอาหารดีขึ้น รวมทั้งประเทศที่มีแสนยานุภาพด้านอาหารจะครองอำนาจการผลิตและเป็นประเทศมหาอำนาจที่แท้จริง ซึ่งไทยอยู่กลุ่มนี้และมีโอกาสจะ เป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารโลก

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย