แบงก์รัฐ ธงนำ สู้โควิด-19

08 เม.ย. 2563 691 0

          ในสถานการณ์ที่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังมองไม่เห็นจุดสิ้นสุด ขณะที่รัฐบาลยกระดับการควบคุมการระบาดมากขึ้น ส่งผลให้คนจำนวนไม่น้อยต้องเผชิญกับภาวะการขาดรายได้ เนื่องจากต้องหยุดงานลงไป ในขณะที่ยังต้องคงมีรายจ่ายและหนี้สินต่าง ๆ ที่ต้องแบกอยู่ ภาวะเช่นนี้ส่อนำไปสู่การเกิดหนี้เสียตามมา โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พยายามกระตุ้นให้สถาบันการเงินเร่งปรับโครงสร้างหนี้เพื่อช่วยลูกค้าออกมาตั้งแต่ต้นปี แต่ผ่านมาแล้ว 1 ไตรมาส ดูเหมือนยังคืบหน้าไปได้ช้า ธนาคารของรัฐและสถาบันการเงินเฉพาะกิจจึงเข้ามามีบทบาทเป็น “ธงนำ” ผลักดันให้กลไกการช่วยเหลือให้เกิดผลโดยเร็ว

          โดยเริ่มต้นรัฐบาลใช้ธนาคารออมสินเป็น “แหล่งเงิน” ในการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) วงเงินรวม 150,000 ล้านบาท เพื่อให้สถาบันการเงินอื่นกู้ได้ในต้นทุนต่ำ อัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี สำหรับนำไปปล่อยต่อเพื่อช่วยเหลือลูกค้าในอัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี วงเงินต่อรายได้ไม่เกิน 20 ล้านบาท ระยะเวลากู้ 2 ปี

          “พักต้น-พักดอก” อัตโนมัติ

          ต่อมาเมื่อแบงก์ต่างออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้า ทว่า ส่วนใหญ่จะเน้น “พักเงินต้น” แต่ “ไม่พักดอกเบี้ย” หรือบางแห่งอาจจะพักทั้ง “ต้นและดอก” แต่ก็เรียกเอกสารมากมาย ซึ่งไม่ค่อยตอบโจทย์ในการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ “ขาดรายได้อย่างฉับพลัน” อย่างทันท่วงที จึงได้เห็นธนาคารออมสินเป็น “ตัวนำ” ออกมาตรการ “พักต้น-พักดอก” แบบ “อัตโนมัติ” เป็นเวลา 3 เดือน จากนั้นก็มีแบงก์รัฐอื่น ๆ ขยับตามมา

          “ชาติชาย พยุหนาวีชัย” ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวจะพักหนี้ให้แก่ลูกค้า   ทั้งที่ยังชำระสินเชื่อเป็นปกติไปจนถึงผู้ที่ค้างชำระยังไม่เกิน 3 เดือน (ณ 31 มี.ค. 2563) โดยลูกค้าจะไปจ่ายตอนชำระงวดสุดท้าย ซึ่งไม่ได้เป็นภาระมาก ขณะที่มาตรการที่ออกมานี้จะทำให้รายได้ของธนาคารออมสินหายไปกว่า 1 หมื่นล้านบาทในรอบปี 2563 นี้

          “เพื่อช่วยเหลือลูกค้าทั้งรายย่อยและเอสเอ็มอีให้พ้นช่วงที่ยากลำบากไปได้ ธนาคารก็ยินดี วันนี้เราช่วยให้เขาหายใจได้สัก 3 เดือนไปก่อน แล้วพอทุกอย่างกลับมาดีก็จะทำให้ทุกคน ตั้งหลักได้และสามารถเริ่มต้นให้ได้” นายชาติชายกล่าว

          อีกแบงก์ที่มีมาตรการแบบเดียวกัน ก็คือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยจะพักต้นพักดอกอัตโนมัติให้กับลูกค้าที่มีงวดชำระเป็นรายเดือน และมีสถานะเป็นหนี้ปกติหรือค้างชำระไม่เกิน 3 เดือนจนถึง 30 มิ.ย. 2563

          ส่วนธนาคารกรุงไทยก็ประกาศพักชำระหนี้ทั้งต้นทั้งดอกให้กับลูกค้า ทั้งรายย่อยและลูกค้าธุรกิจที่มีสถานะชำระปกติเป็นเวลา 3 เดือนเช่นเดียวกัน เพียงแต่ลูกค้าต้องยื่นความประสงค์ผ่านทางเว็บไซต์ www.krungthai.com/covid19 จนถึงวันที่ 30 มิ.ย.2563

          เอสเอ็มอีแบงก์ “ลดดอกเบี้ย 1%”

          ขณะที่ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ ก็มีมาตรการพักชำระหนี้ “เงินต้น” แบบ “อัตโนมัติ” ให้แก่ลูกค้าเอสเอ็มอี “ทุกราย” ที่มีสถานะชำระปกติจนถึงที่มีหนี้ค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน ณ วันที่ 1 มี.ค. 2563 ซึ่งจะพักให้เป็นเวลา 3 เดือน โดยลูกค้าไม่ต้องเดินทางมาที่ทำการสาขา รวมถึงยังลดดอกเบี้ย 1% นาน 1 ปี ให้ลูกค้ากลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวใน 22 จังหวัดหลักที่ได้รับผลกระทบรุนแรง

          “นารถนารี รัฐปัตย์” กรรมการผู้จัดการ ธพว. กล่าวว่า ความช่วยเหลือดังกล่าวไม่ถือเป็นการปรับโครงสร้างหนี้ และไม่ถือเป็นเหตุแห่งการผิดสัญญาเงื่อนไขการชำระหนี้แต่อย่างใด และไม่มีผลต่อข้อมูลเครดิตด้วยเช่นกัน

          จัด “เงินกู้ฉุกเฉิน” ดอกต่ำ 0.1% ต่อเดือน

          นอกจากนี้ กระทรวงการคลังได้สั่งการให้ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส.เตรียมวงเงินไว้อีกแบงก์ละ 20,000 ล้านบาท จัดทำ “โครงการสินเชื่อฉุกเฉิน” เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มี “อาชีพอิสระ” ที่มีรายได้เดือนละไม่เกิน 30,000 บาท ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่น พ่อค้าแม่ค้า คนขับรถโดยสาร แท็กซี่ สามล้อ มัคคุเทศก์ เป็นต้น โดยคิดดอกเบี้ยต่ำแค่ 0.1% ต่อเดือน ให้กู้ต่อรายสูงสุด 10,000 บาท เป็นเวลา 2 ปี ปลอดชำระเงินกู้ 6 เดือนแรก และไม่ต้องใช้หลักประกัน เพียงแต่ผู้กู้ต้องมีสัญชาติไทย อายุ 20 ปีขึ้นไป มีถิ่นที่อยู่อาศัยแน่นอน สามารถติดต่อได้

          ทั้งนี้ ทั้งสองธนาคารจะเปิดให้เริ่มลงทะเบียนสมัครใช้สินเชื่อฉุกเฉิน ตั้งแต่วันที่ 15 เม.ย. 2563 เป็นต้นไป โดยลูกค้าธนาคารออมสินลงผ่านเว็บไซต์ www.gsb.or.th ส่วนลูกค้า ธ.ก.ส.ลงผ่านทาง LINE “BAAC Family” ซึ่งสินเชื่อ ดังกล่าวจะให้บริการถึงวันที่ 30 ธ.ค. 2563

          นอกจากนี้ ธนาคารออมสินยังมี “โครงการสินเชื่อพิเศษ” วงเงิน 20,000 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับ “ผู้มีรายได้ประจำ” ที่ได้รับผลกระทบ วงเงินกู้ต่อรายสูงสุด 50,000 บาท ดอกเบี้ย 0.35% ต่อเดือน ผ่อนชำระนาน 3 ปี ในส่วนนี้ผู้กู้ต้องมีหลักประกัน โดยแบงก์จะเปิดให้ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.gsb.or.th ตั้งแต่วันที่ 15 เม.ย.นี้เป็นต้นไปเช่นเดียวกัน

          ธอส.ผ่อนภาระสินเชื่อบ้าน 3 ระดับ

          ฟากธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ก็มีมาตรการผ่อนภาระสินเชื่อบ้าน 3 มาตรการ ได้แก่ 1.พักชำระเงินต้น นาน 3 เดือน, 2.พักชำระเงินต้น นาน 1 ปี เมื่อครบกำหนดแล้ว สามารถแจ้งความประสงค์ขยายระยะเวลาการผ่อนชำระเพิ่มได้นานสูงสุดอีก 10 ปี และ 3.พักชำระเงินต้น นาน 6 เดือน พร้อมลดดอกเบี้ยเหลือ 3.90% ต่อปี ซึ่งล่าสุด ได้ขยายความช่วยเหลือครอบคลุมถึงลูกค้าที่อยู่ระหว่างใช้อัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระให้ได้ลดดอกเบี้ยลงเหลือ 3.90% ต่อปี และจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยรายเดือน เป็นเวลา 6 เดือนด้วย ทั้งนี้ เปิดให้ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ผ่านแอปพลิเคชั่น GHB ALL และ www.ghbank.co.th จนถึงวันที่ 30 เม.ย. 2563 หรือจนกว่าจะเต็มกรอบวงเงิน 50,000 ล้านบาท

          ธสน.อุ้มสภาพคล่องผู้ส่งออก

          ส่วนผู้ส่งออกโดยเฉพาะเอสเอ็มอี ทางธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) ก็มีมาตรการพักหนี้และดอกเบี้ย 6 เดือน พร้อมให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 2% ต่อปี เป็นสินเชื่อระยะยาว 7 ปี วงเงินสูงสุด 20-100 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยพิเศษ 2% ต่อปี ในปีที่ 1-2 เพื่อใช้หมุนเวียนในกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออก พร้อมปรับปรุงมาตรการช่วยเหลือลูกค้าปัจจุบัน โดยขยายระยะเวลาการชำระเงินที่ให้ความคุ้มครองภายใต้ประกันการส่งออกสูงสุด 270 วัน สำหรับการส่งออกไปยังผู้ซื้อในจีนและประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ด้วย

          ทั้งหมดนี้เป็นกลไกส่วนหนึ่งที่รัฐใช้ในการช่วยเหลือประชาชนและธุรกิจที่กำลังประสบภาวะวิกฤต ประคองให้ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากไปให้ได้ก่อน เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จบก็คงจะมีมาตรการฟื้นฟูตามมาอีกที

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย