ซีพีย้ายสถานีไฮสปีดพัทยาวุ่นรื้อแผนโมโนเรล
เมืองพัทยา รีไวท์แผนลงทุนโมโนเรล รับกลุ่มซีพี เปลี่ยนแนวไฮสปีดเทรน 3 สนามบิน ย้ายที่ตั้งสถานีพัทยาออกไปอยู่นอกเขตเมือง ตั้งงบ 60 ล้านบาทศึกษาออกแบบเพิ่มเติม ปรับปรุงแผนแม่บท ส่อเค้าอาจปรับแผนลงทุนใหม่จากเดิมเฟส 1 สายสีเขียว 3 หมื่นล้านบาท มาเป็นสายสีแดงก่อน ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีเอกชน 6 รายสนใจร่วมลงทุน PPP
จากกรณีที่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ไฮสปีดเทรน) ที่ทาง กลุ่มซีพี มีแผนเปลี่ยนแนวเส้นทางเดินรถ และจะย้ายสถานีรถไฟฟ้าพัทยา จากในเมืองพัทยา ออกไปอยู่บริเวณสถานีรถไฟบ้านห้วยขวาง ต.ห้วยใหญ่ อ.บางละมุง (ใกล้ตลาดน้ำ 4 ภาคและสวนนงนุช) ห่างจากที่ตั้งสถานีเดิมที่เคยวางไว้ราว 15 กิโลเมตร
ส่งผลกระทบต่อโครงการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเมืองพัทยาในรูปแบบรถไฟฟ้า หรือ โมโนเรล ที่จะต้องมีการศึกษาแผนแม่บทในโครงการนี้เพิ่มเติม จากเงื่อนไขสถานีหลักของกลุ่มซีพีที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวอยู่นอกเขตเมืองพัทยา
อีกทั้งยังอาจจะส่งผลให้ต้องมีการปรับแผนลงทุนโมโนเรล พัทยาใหม่ จากก่อนหน้านี้ที่ได้ข้อสรุปไปแล้วจะผลักดันรถไฟฟ้าโมโนเรล พัทยา เส้นทางสายสีเขียว (สถานีรถไฟความเร็วสูงพัทยา-แหลมบาลีฮาย) ก่อนเป็นเฟสแรก
นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าการพัฒนาโครงการระบบขนส่งมวลชนสาธารณะแบบโมโนเรล เชื่อมระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูง และรถไฟรางคู่ 3 สายทาง ระยะทาง 34 กิโลเมตร วงเงินประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ในรูปแบบโครงการร่วมลงทุนPPP เป็น 1 ใน 7 โครงการของการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของเมืองพัทยา ตามยุทธศาสตร์ “นีโอ พัทยา”
โครงการดังกล่าวจะมีทั้งหมด 4 เส้นทาง ซึ่งเป็นในส่วนของโมโนเรล 3 สาย คือ สายสีเขียว(สถานีรถไฟความเร็วสูงพัทยา-แหลมบาลีฮาย), สายสีแดง (วงเวียนปลาโลมา พัทยาเหนือ-แยกทัพพระยา (ทับกับสายสีเขียว)-จอมเทียน ,สายสีม่วง (แยกทัพพระยา-หนองปรือ) ส่วนสายสีเหลือง จะเป็นโครงการรถไฟชานเมืองของรฟท. เชื่อมศรีราชา-พัทยา-อู่ตะเภา โดยโครงการเหล่านี้จะเป็นโครงการร่วมลงทุนPPP
ทั้งนี้จากการประชุมรับฟังความคิดเห็นของหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนที่มีส่วนได้เสีย (มาร์เก็ตซาวด์ดิ้ง)ทั้ง 3 ครั้ง ได้ข้อสรุปว่าจะผลักดันโครงการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเมืองพัทยาในรูปแบบรถไฟฟ้าหรือรถไฟฟ้าโมโนเรล พัทยา เส้นทางสายสีเขียว เป็นการลงทุนในเฟสแรกที่จะเกิดขึ้น มูลค่าการลงทุนราว 3 หมื่นล้านบาท(ลงทุน+เวoคืนที่ดิน) สัญญา 30 ปี
โดยโมโนเรลสายสีเขียวมีเอกชนทั้งของไทยและต่างประเทศแสดงความสนใจที่จะเข้าร่วมลงทุนและก่อสร้างกว่า 6 ราย อาทิ บีทีเอส,ช.การช่าง,บริษัท CRSC Railway Vehicle (จีน),สถาบันวิจัยThe Korea instate of Machinery and Materials ร่วมกับบริษัทRETD จำกัด,บริษัทพาวเวอร์ 21 จำกัด,บริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย)
แต่ล่าสุดเมื่อกลุ่มซีพี มีแผนจะย้ายสถานีไฮสปีดเทรน ไปยังพื้นที่สถานีรถไฟบ้านห้วยขวาง ซึ่งอยู่นอกเขตเมืองพัทยา ทำให้เมืองพัทยาต้องศึกษาแผนลงทุนโมโนเรล เพิ่มเติมจากการย้ายสถานีหลัก ในพื้นที่ดังกล่าว เข้ามาเมืองพัทยา เพื่อรองรับการเชื่อมโยงกับโมโนเรล สายสีเขียว รวมถึงการศึกษาจัดทำแผนแม่บทใหม่จากการเปลี่ยนแปลงสถานีหลักของซีพี โดยใช้งบศึกษาเพิ่มเติมอีก 60 ล้านบาท จากเดิมที่ดำเนินการศึกษาสำรวจ ออกแบบ เบื้องต้นแล้วเสร็จเรียบร้อยใช้งบศึกษาไปกว่า 70 ล้านบาท
เนื่องจากพื้นที่สถานีไฮสปีดพัทยา ที่จะย้ายไปอยู่บริเวณพื้นที่สถานีรถไฟบ้านห้วยขวาง จะอยู่ใกล้กับโมโนเรล สายสีแดง มากกว่า เพราะต่อจากถนนเทพประสิทธิ เข้ามาเชื่อมโมโนเรล สายสีแดง ได้ ก็อาจจะปรับจากการลงทุนเฟส 1 จากสายสีเขียว มาเป็นสายสีแดง ก็ได้ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับผลการศึกษาเพิ่มเติมที่จะเกิดขึ้น
“การย้ายพื้นที่สร้างสถานี ก็เป็นสิทธิของผู้ลงทุน เราคงไปบอกไม่ให้เขาย้ายไม่ได้ เมืองพัทยาทำได้แค่ปรับเปลี่ยนแผนการพัฒนาโมโนเรล ให้เหมาะสม เพราะการพัฒนาดังกล่าวไม่เพียงแก้ปัญหาเรื่องการจราจร ยังส่งเสริมให้เกิดการเข้าลงทุนในพื้นที่เมืองพัทยาเพิ่มขึ้น
ล่าสุดก็มีกลุ่มทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มทุนจีน ก็มองหาพื้นที่รัศมี 10 กิโลเมตร จากสถานีรถไฟฟ้าเมืองพัทยา เพื่อเข้ามาลงทุนในลักษณะมิกซ์ยูส โดยที่สนใจเข้ามาก่อน ก็จะเป็นจากจีน ที่มองหาพื้นที่เน้นการพัฒนาอาคารสำนักงาน (ออฟฟิศ บิวดิ้ง )เพื่อรองรับการพัฒนาในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) เพราะปัจจุบันเมืองพัทยาไม่มีออฟฟิศ บิวดิ้ง มีเพียงแต่ทาวน์โฮม ให้เช่าเท่านั้น” นายสนธยา กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ