เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮม ลุยปีหน้าเปิด 24 โครงการใหม่
เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮม (ประเทศไทย) พร้อมเดินหน้าปี 2564 เปิด 24 โครงการใหม่มูลค่ารวมกว่า 29,800 ล้านบาท ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าครบทุกเซ็กเมนต์ ตอกย้ำผู้นำนวัตกรรมบ้าน สวย ครบ คุ้ม ตั้งเป้ารายได้ 3 ปี ขึ้นแท่นท็อป 3
นายแสนผิน สุขี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮม (ประเทศไทย) กล่าวว่า จากการที่ บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ “FPT” เข้าซื้อกิจการของ บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ “GOLD” หรือ “GOLDENLAND” ปัจจุบัน กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัย โกลเด้นแลนด์ จึงได้เปลี่ยนมาเป็น “เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮม” และยังคงเป็นผู้นำอันดับ Top 5 ของประเทศสำหรับกลุ่มธุรกิจเพื่อที่อยู่อาศัย มีโครงการที่พักอาศัยรวม 60 โครงการ
โดยมีผลการดำเนินงานเฉพาะกลุ่มพัฒนาที่อยู่อาศัย ม.ค.-ก.ย. ปีนี้ มียอดรับรู้รายได้ 10,894 ล้านบาท ซึ่งถือว่ายังเป็นที่น่าพอใจ สำหรับช่วงวิกฤติเศรษฐกิจในสถานการณ์โควิด-19 เช่นนี้และคาดว่า จะมียอดรับรู้รายได้ในปีนี้ประมาณ 15,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ในไตรมาสที่ 4 (ต.ค.-ธ.ค. 2563) บริษัทได้เปิดโครงการใหม่ไปแล้ว 3 โครงการ เป็น นีโอ โฮม บ้านแฝด 2 โครงการ และทาวน์โฮม 1 โครงการ มูลค่ารวม 3,050 ล้านบาท
ทั้งนี้ เป้าหมายก้าวขึ้นเป็นอันดับ 3 ด้านรายได้ ใน 3 ปีที่บริษัท ได้วางไว้ (พ.ศ. 2564-2566) คือ 1.ผู้นำตลาดอสังหาฯ ด้านรายได้ 2.เป็นทางเลือกอันดับที่ 1 ในใจลูกค้า สำหรับคนที่มองหาทาวน์โฮม ทำเลในเมือง 3.เป็นอันดับที่ 1 ในการ ทำบ้านแฝด (นีโอ โฮม)และ 4.เป็นผู้นำตลาดต่างจังหวัดด้านยอดขายสูงสุด เช่น ที่นครราชสีมา, เชียงใหม่, เชียงราย และพัทยา ฯลฯ
สำหรับแผนธุรกิจในปี 2564 ตั้ง เป้ารายได้ 16,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับปีนี้ มีสัดส่วนรายได้จากทาวน์โฮม 42%, นีโอ โฮม บ้านแฝด 23%, บ้านเดี่ยว 21% และโครงการต่างจังหวัด 14% โดยมีแผนจัดซื้อที่ดินประมาณ 20 แปลง ในงบประมาณ 10,720 ล้านบาท พร้อมวางแผนเปิดโครงการใหม่ 24 โครงการ มูลค่า 29,800 ล้านบาท แบ่งเป็น โครงการทาวน์โฮม 9 โครงการ มูลค่า 9,700 ล้านบาท, โครงการนีโอ โฮม บ้านแฝด 5 โครงการ มูลค่า 7,000 ล้านบาท, โครงการบ้านเดี่ยว 7 โครงการ มูลค่า 11,000 ล้านบาท และโครงการต่างจังหวัด 3 โครงการ มูลค่า 2,100 ล้านบาท
นายแสนผิน กล่าวอีกว่า ในปีหน้า 2564 มองว่าเศรษฐกิจจะเติบโตกว่า ปีนี้ แต่ตลาดยังมีการแข่งขันสูง โปรโมชั่นยังคงดุเดือด เพราะทุกบริษัทต้องการเติบโต ดอกเบี้ยเงินกู้ที่ต่ำก็เป็นตัวส่ง เสริมความต้องการซื้ออย่างต่อเนื่อง ขณะที่หนี้สินครัวเรือนยังคงสูง นอกจากนี้สถานการณ์ COVID-19 ยังทำให้เกิด ความไม่แน่นอน ทำให้เกิดการชะลอซื้อ สภาวะแบบนี้ผู้ประกอบการจึงต้องมี ความรอบคอบและแม่นยำในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ต้องปรับตัวและตอบรับให้ทันกับทุกสถานการณ์
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามธุรกิจ