เจริญ-เซ็นทรัล-ดุสิต ผุดอุโมงค์ทะลุรถไฟฟ้าเชื่อมมิกซ์ยูส

26 พ.ย. 2563 371 0

          “เจ้าสัวเจริญ-เซ็นทรัล-ดุสิต” เจาะอุโมงค์สร้างเมืองใต้ดินเชื่อมรถไฟฟ้าทะลุ “ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์- วัน แบงค็อก-ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” มิกซ์ยูสแสนล้าน จ่ายค่าต๋ง รฟม. 15 ปี วงเงิน 17-30 ล้าน

          นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2563 ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.ได้อนุมัติโครงการก่อสร้าง ทางเชื่อมต่อกับสถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง

          โดยบริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด ผู้รับสัมปทานพัฒนาที่ดินศูนย์การประชุมแห่งชาติ สิริกิติ์จากกรมธนารักษ์ ได้เสนอโครงการให้ รฟม.พิจารณา  โดยขอสร้างอุโมงค์ใต้ดินความยาวประมาณ 20 เมตร เชื่อมสถานีรถไฟฟ้าเหมือนที่สถานีพระราม 9 ระยะเวลา 15 ปี จ่ายค่าเชื่อมให้ รฟม.วงเงิน 17 ล้านบาท

          “ทางเอกชนได้ลงทุนร่วม 1 หมื่นล้านบาท ปรับปรุงศูนย์การประชุมแห่งชาติ สิริกิติ์ใหม่ ทราบว่าจะแล้วเสร็จในปี 2565 เพื่อเพิ่มความสะดวกคนใช้บริการ จากเดิมจะต้องเดินออกจากสถานี ต่อไปจะเดินทะลุไปยังศูนย์การประชุมได้”

          ทั้งนี้ที่ผ่านมามีเอกชนขอสร้างอุโมงค์ใต้ดินเชื่อมกับ 2 สถานีของสายสีน้ำเงิน อยู่ระหว่างออกแบบ ได้แก่ สถานีลุมพินี เชื่อมกับโครงการ “วัน แบงค็อก” ระยะเวลา 15 ปี มีค่าธรรมเนียม 30 ล้านบาท และสถานีสีลมเชื่อมโครงการ “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” ระยะเวลา 15 ปี ค่าธรรมเนียม 30 ล้านบาท

          ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงการศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และวัน แบงค็อก เป็นธุรกิจในเครือของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี โดยศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ทางกรมธนารักษ์ได้ต่อสัญญาเช่าให้อีก 50 ปี มูลค่าการลงทุนกว่า 6 พันล้านบาท ในขณะที่ ให้ผลตอบแทนกรมธนารักษ์ จำนวน 18,998.60 ล้านบาท

          ส่วนโครงการ วัน แบงค็อก ดำเนินการโดยบริษัท ทีซีซี แอสเซ็ทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ทำสัญญาเช่าที่ดินจากสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เนื้อที่ 104 ไร่ หัวมุมถนนพระราม 4 และถนนสุขุมวิท (โรงเรียนเตรียมทหารเดิม) ระยะเวลา 30 ปี ต่อได้อีก 30 ปี รวม 60 ปี ซึ่งเป็นการร่วมทุนกับกลุ่มเฟรเซอร์ส พัฒนา โครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่พื้นที่ก่อสร้างอาคารรวมกว่า 1.83 ล้าน ตร.ม. มูลค่าการลงทุนกว่า 1.2 แสนล้านบาท จะเปิดเฟสแรกในปี 2565

          ส่วนโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค เป็นโครงการมิกซ์ยูสของกลุ่มเซ็นทรัลของตระกูลจิราธิวัฒน์ ร่วมลงทุนกับโรงแรมดุสิตธานี มูลค่า 36,700 ล้านบาท ประกอบด้วย โรงแรม ที่พักอาศัย ศูนย์การค้า และอาคารสำนักงาน พื้นที่รวม 440,000 ตร.ม. บนที่ดินกว่า 23 ไร่ ตรงมุมถนนสีลม-พระราม 4

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย