คลังผนึกธปท.สกัดเก็ง บาท

17 พ.ย. 2563 543 0

          ไทยพาณิชย์คาดปีหน้า บาททะลุ29ต่อดอลลาร์

          “อาคม” ชี้ต่างชาติเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยดันเงินบาทแข็งค่า   ถกแบงก์ชาติ ออกมาตรการดูแลสกัดเก็งกำไร เผยครึ่งเดือน เงินทุนไหลเข้าทะลัก“หุ้น-บอนด์” 7.2 หมื่นล้าน โดยเฉพาะตราสารหนี้อายุต่ำกว่า 1 ปียอดพุ่ง  4.6 หมื่นล้าน บลจ.ไทยพาณิชย์คาดปีหน้า ต่างชาติโหมซื้อพันธบัตร 3-6 แสนล้าน ดันค่าเงินทะลุ 29 บาทต่อดอลลาร์

          ค่าเงินบาทปิดตลาด วานนี้(16 พ.ย.) ที่ 30.22 บาทต่อดอลลาร์ แม้จะอ่อนค่าจากเปิดตลาดในช่วงเช้าที่ระดับ 30.16 บาท ต่อดอลลาร์ แต่นักค้าเงินระบุว่า ค่าเงินบาทในช่วงนี้แข็งค่าขึ้นมาเร็ว ทำให้มีแรงขายทำกำไร ระยะสั้นออกมา โดยเงินบาทวานนี้เคลื่อนไหวในกรอบ 30.14-30.23 บาท/ดอลลาร์

          นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา ระบุว่า แรงขายทำกำไรในค่าเงินบาทส่วนหนึ่ง เป็นผลมาจากนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาแสดง ความเห็นว่า จะให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)มาช่วยดูแลค่าเงินบาทด้วย

          ด้านนายอาคม แสดงความเป็นห่วง ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องมาจาก สัปดาห์ที่แล้ว ล่าสุดให้สัมภาษณ์ย้ำ อีกครั้งว่า “ได้หารือกับธปท.แล้ว ซึ่งคงมี หลายๆ มาตรการมาดูแล”

          นายอาคม กล่าวว่า สาเหตุที่เงินบาทแข็งค่านั้น เป็นเพราะช่วงนี้ตลาดหุ้นของไทยดี ส่วนหนึ่งเพราะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่ผ่านไปด้วยดี และพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่ ต่างชาติยังให้ความเชื่อมั่นเรื่องของเศรษฐกิจของไทยทำให้ต่างชาตินำเงินเข้ามาลงทุนในไทย

          อย่างไรก็ตามการดูแลค่าเงินบาทนโยบายการเงินและนโยบายการคลังจะต้องทำงานประสานกัน โดยในส่วนของนโยบายการคลังนั้น นอกจากจะมีเรื่องของการนำเข้าสินค้าในช่วงที่เงินบาทแข็งค่าแล้ว ยังมีเรื่องของการชำระหนี้ต่างประเทศ เพื่อจ่ายเงินดอลลาร์ออกไป และการเบิกเงินกู้ต่างประเทศที่จะต้องทยอยเบิก  ซึ่งตรงนี้อาจจะช่วยผ่อนคลายได้ แต่สิ่งที่ต้องระวัง ในเรื่องของเงินทุนที่ไหลเข้ามาในช่วงที่ตลาดดีคือเรื่องของการเก็งกำไร ฉะนั้นจะต้องบริหารหลายด้าน

          “แม้เราจะมีแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ แต่ยังไม่ถึงเวลาเรื่องการนำสินค้าเข้า โดยเฉพาะเรื่องของโครงการรถไฟต่างๆ เรื่องขบวนรถไฟความเร็วสูงก็ยังใช้เวลาอีกหลายปี  แต่ที่ผ่านมาก็มีเพียงรถไฟฟ้าสายสีชมพู สีเหลือง ที่ตัวรถนำเข้ามา ก็จ่ายเงินดอลลาร์ออกไป เราคงต้องดูเงินกู้ครบเวลาชำระหรือไม่ ก็อาจจะช่วยผ่อนคลายได้บ้าง แต่การเบิกจ่ายเงินกู้ต่างประเทศไม่ได้เบิกจ่ายทีเดียวทั้งก้อน เราต้องดูคงช่วยกันทั้งมาตรการเงินแบงก์ชาติและมาตรการทางการคลังของเราด้วย”

          “บาทแข็ง“โอกาสเอกชนลงทุน

          นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า สถานการณ์เงินบาทแข็งค่าขึ้นเป็นเรื่องปกติ เพราะมีกระแสเงินทุนไหลเข้ามาในประเทศ โดยเมื่อไทยส่งออกได้มากขึ้น แต่มีการนำเข้าสินค้าทุนน้อยก็มีส่วนที่เกินดุลบัญชี เดินสะพัดทำให้เงินบาทแข็งแต่ค่าเงินบาท ที่แข็งขึ้นมา

          ทั้งนี้ถือเป็นโอกาสของภาคเอกชนที่จะลงทุนเพิ่มเพื่อปรับโครงสร้างและประสิทธิภาพการผลิตโดยนำเอาเครื่องจักรเครื่องมือที่สามารถลดต้นทุนการผลิตเข้ามาช่วยส่งเสริมศักยภาพการผลิตให้แข่งขันได้ โดยเฉพาะบางสินค้าที่มีการผลิตคล้ายกับไทยแต่เขาได้ประโยชน์จากค่าแรงที่ต่ำกว่าไทย

          สำหรับอัตราการนำเข้าสินค้าในไตรมาส 2 ปีนี้ ลดลง 23.4% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับ ปีที่แล้ว ในขณะที่การนำเข้าในไตรมาส 3 มีมูลค่า 45,294 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 17.8% สอดคล้องกับ ระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อน แต่ถือว่ามีการนำเข้าดีขึ้นจากไตรมาส 2 ปีนี้

          ทั้งนี้การลดลงในทุกหมวดสินค้าทั้งหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค วัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง และสินค้าทุน โดยเฉพาะสินค้าทุนลดลงมากที่สุด 17.6%

          เงินร้อนทะลักหุ้น-บอนด์

          นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ธนาคารทหารไทย หรือ TMB Analytics กล่าวว่า หากดูการเคลื่อนไหว ของค่าเงินบาท ในช่วง 16 วันของเดือนพ.ย. 2563 พบว่า ค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง โดยล่าสุด แข็งค่าขึ้น 3.24% หากเทียบกับปลายเดือนต.ค. และแข็งค่าขึ้นเป็นอันดับ 2 ของภูมิภาค โดยแข็งค่า อันดับหนึ่งคือรูเปี๊ยะห์ อินโดนีเซีย แข็งค่าขึ้น 3.65%

          นายนริศ กล่าวว่า ค่าเงินบาทแข็งค่ารวดเร็ว ในช่วงระยะเวลาอันสั้น ส่วนหนึ่งจากเงินทุนไหลเข้าของนักลงทุนต่างชาติ ที่พบว่า ในรอบ 16 วันที่ผ่านมา (1-16พ.ย.) ไหลเข้าถึง 72,334 ล้านบาท เป็นเงินทุนไหลเข้าที่สูงที่สุดของปี หลังก่อนหน้าเงินทุนต่างชาติไหลออกแรง โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ที่เงินต่างชาติไหลออกถึง 1.7 แสนล้านบาท

          หากพิจารณาเงินทุนไหลเข้าของต่างชาติ พบว่าแบ่งเป็นเงินทุนที่ไหลเข้าตลาดตราสารหนี้ (บอนด์)ระยะสั้น ไม่เกิน 1 ปี กว่า 4.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบอนด์ระยะสั้นของธปท. ขณะที่ไหลเข้าตลาดหุ้น ถึงวันที่ 13 พ.ย.ที่ 2.5 หมื่นล้านบาท โดยเงินร้อนที่ไหลเข้าสะท้อนมุมมองบวกของต่างชาติ เกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยที่มีทิศทางปรับตัวดีขึ้น หลังมีการปรับจีดีพี เพิ่มขึ้น และมีความมั่นใจมากขึ้น หลังการเลือกตั้ง สหรัฐมีความชัดเจน

          “เงินทุนที่ไหลเข้าเดือนนี้ ถือว่าเป็นเงินร้อนจริงๆ ที่เข้ามา เพราะส่วนใหญ่เป็นการเข้ามา ลงทุนระยะสั้นๆ โดยเฉพาะบอนด์ที่ไม่เกิน 1 ปี ทำให้ค่าเงินบาทเราแข็งค่าเกือบอันดับหนึ่งของภูมิภาค และแข็งค่ากว่าเงินหยวนที่เราค้าขายด้วยมาก ซึ่งที่ผ่านมาเราก็เห็นว่าแบงก์ชาติ มีการเข้ามาดูแลค่าเงินบาทอยู่แล้ว แต่หาก แข็งค่าขึ้นอีกก็คงเห็นการดูแลมากขึ้นอีก“หนุนออกมาตรการดูแล

          อย่างไรก็ตาม มาตรการป้องกันเงินทุน ไหลเข้ามาเก็งกำไรระยะสั้นๆ เพื่อลดการแข็งค่าของค่าเงินบาท เชื่อว่าสามารถทำได้ตั้งแต่มาตรการระดับเบาไปหนัก โดยมาตรตการระยะสั้น เช่นการลดการออกบอนด์ธปท. เพื่อลดการเข้ามา เก็งกำไรบอนด์ธปท. และมาตรการหนักคือ บังค้บให้ต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในตลาดเงิน ตลาดทุน ต้องซื้อประกันความเสี่ยงค่าเงิน เหล่านี้จะลดความผันผวนค่าเงินบาทได้ ซึ่งจะ คุมเงินร้อนได้ทันที แต่มาตรการนี้ต้องระมัดระวัง เพราะมีผลกระทบต่อตลาดค่อนข้างมาก

          จับตา"กนง.“ถกบาทแข็ง

          ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า การแข็งค่า อย่างรวดเร็วของเงินบาทนับตั้งแต่ต้นเดือนพ.ย.2563 จะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) จะต้องให้ความสำคัญ มากขึ้นในการประชุมรอบนี้ เพราะอาจมีผลกระทบ ต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

          ทั้งนี้สัญญาณจากงานประชุมนักวิเคราะห์ล่าสุด เมื่อ 14 ต.ค.2563 สะท้อนว่า ธปท. ตระหนัก ถึงแรงกดดันด้านแข็งค่าของเงินบาทซึ่งเป็น แนวโน้มที่ยากจะหลีกเลี่ยงและอยู่ระหว่างเตรียมหลายมาตรการเพื่อสร้างความสมดุลให้กับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย โดยเฉพาะการเพิ่มความยืดหยุ่นในการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ และการผ่อนคลายเกณฑ์การเปิดบัญชีที่เป็นเงินตราต่างประเทศให้มีความคล่องตัวมากขึ้น ซึ่งมาตรการเหล่านี้คงจะดำเนินการควบคู่ไปกับการดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาทเพื่อลดความผันผวน และศึกษาความเหมาะสมของมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นในระยะต่อไป

          ขายหุ้น-บอนด์ทำกำไร

          การอ่อนค่าเล็กน้อยของเงินบาทในช่วง ปิดตลาดวานนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากแรงขายทำกำไรระยะสั้นในตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติ โดยในตลาดตราสารหนี้ มีมูลค่าการซื้อขายเบาบางเพียง 36,958 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติ ขายสุทธิ 87 ล้านบาท

          นอจากนี้นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยวานนี้จำนวน 1,225 ล้านบาท ถือว่าเป็นการขายครั้งแรกหลังจากที่ซื้อติดต่อมา 3 วันในสัปดาห์ที่แล้ว ด้วยยอดรวมซื้อสุทธิเกือบ 3 หมื่นล้านบาท โดยหุ้นไทยปิดตลาดวานนี้ ที่ 1,351.06 จุด เพิ่มขึ้น 4.59 จุด มูลค่าการซื้อขาย 78,504 ล้านบาท มีแรงขายออกมาในท้ายตลาด กังวลม็อบจะไปปิดล้อมสภาฯวันนี้(17 พ.ย.)

          ต่างชาติโหมลงทุนบอนด์

          นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส Chief Investment Office บลจ. ไทยพาณิชย์ จำกัด กล่าวว่า จากกระแสการเปลี่ยน กลุ่มการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ จากที่เน้นแต่หุ้นเติบโตมาตลอดปีไปเป็นหุ้นพื้นฐาน และวัฏจักร เชื่อว่านักลงทุนต่างชาติจะกลับ เข้าลงทุนในตราสารหนี้ไทยในปี 2564 ราว 1-2 หมื่นล้านดอลลาร์หรือราว 3-6 แสนล้านบาท

          ทั้งนี้ตลาดตราสารหนี้ไทย ยังสามารถกดดันให้เงินบาทแข็งค่าได้อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากเป็นกระแสเงินทุนที่เข้ามาอยู่เรื่อยๆ โดยในช่วง 10ปีที่ผ่านมา เดือนที่มีเงินทุนไหลเข้า ในตลาดบอนด์เกิน 2 พันล้านดอลลาร์ เงินบาทจะแข็งค่าขึ้น 1.0% เช่นกัน

          “ถ้านักลงทุนซื้อตราสารหนี้ระยะยาวของไทยแล้วแปลงกลับไปเป็นดอลลาร์ จะมียิลด์ที่สูงกว่าบอนด์สหรัฐที่ระดับอายุเท่ากันราว 50bps จึงมองว่าจะมีนักลงทุนต่างชาติกลับเข้าซื้อบอนด์ไทยในปี 2564 ที่ระดับ 1-2 หมื่นล้านดอลลาร์ ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในช่วงปี 2559-2562”

          คาดปีหน้าค่าเงินแข็งทะลุ 29 บาท

          ส่วนหุ้นไทย นายจิติพล คาดว่า จะยังมีแรงขายปรับสัดส่วนการลงทุนใน Emerging Markets เป็นปัจจัยกดดัน จึงอาจเห็นเงินทุนไหลออกเล็กน้อย โดยปัจจุบันเริ่มเห็นเงินทุนต่างชาติลดลง อาจจะเป็นแค่ช่วงนี้เท่านั้นและยังมีโอกาสกลับมาอีก จุดที่สำคัญคือสถานการณ์ โควิด-19 และยาต้านไวรัส ถ้าดีขึ้นหรือมาพร้อมกัน มีโอกาสเงินไหลเข้าอีกรอบ

          ดังนั้นแนวโน้มค่าเงินบาทในปี 2564 คาดว่า เงินบาทจะแข็งค่าสู่ระดับ 29.70 บาทต่อดอลลาร์ เมื่อเทียบสิ้นปีนี้ที่ระดับ 30.80 บาทต่อดอลลาร์

          สำหรับนักธุรกิจและนักลงทุนไทย แนะนำว่า ควรจับตากระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายและทิศทางของค่าเงินทั่วโลกให้ดี เนื่องจากเป็นแนวโน้มหลักของโลกที่ไม่มีใครสามารถควบคุมได้ เชื่อว่าเงินบาทที่แข็งจะเป็นประโยชน์กับผู้นำเข้า และประชาชนทั่วไป ทำให้สามารถซื้อสินค้าจาก ต่างประเทศได้ถูกลง และมีกำลังลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศมากขึ้น

          ส่วนผู้ส่งออกควรใช้จังหวะเงินบาทแข็งนำเข้าสินค้าทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ การผลิต หรือเลือกใช้สกุลเงินท้องถิ่นของประเทศคู่ค้าเพื่อลดความเสี่ยง โดยอาจ ทำประกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มเติมได้ด้วย

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย