ที่ดินหมอชิตคืนชีพ เวนคืน วิภาวดี 5 ทะลุพหลฯ
ที่ดินหมอชิตฟื้นคืนชีพ หลังเอกชนรายเดิมเตรียมเข้าพื้นที่ พร้อมดันแผนบขส.มาอยู่ที่เดิม เวนคืนสร้างทางยกระดับ จากวิภาวดี 5-พหลโยธิน 18/1 คมนาคม เบรกสนข.ทบทวนแผนย้ายขนส่งหมอชิต 2 หลังชาวบ้านบุกกระทรวงฯ ยื่นหนังสือค้านเวนคืนสร้างทางยกระดับ
ที่ดินหมอชิตที่ราชพัสดุเนื้อที่ 63 ไร่เศษ พลิกฟื้นคืนชีพ บริษัท บางกอกเทอร์มินอล จำกัด ได้รับสัมปทานระยะยาว 30 ปีมูลค่า 2.7 หมื่นล้านบาท จากกระทรวงการคลัง พัฒนาโครงการรูปแบบมิกซ์ยูส บนที่ดินแปลงงามติดสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงินสถานีจตุจักร เชื่อมต่อบีทีเอสหมอชิตและปอดขนาดใหญ่ สวนจตุจักรสวนรถไฟ ขณะมูลค่าที่ดินโดยรอบซึ่งเป็นของเอกชนขยับสูง ราว 7 แสน-1 ล้านบาท ต่อตารางวา เนื่องจากมีการพัฒนาของเอกชนขึ้นคอนโดมิเนียมสูง อย่างไรก็ตามตามเงื่อนไขสัญญาที่เคยตกลงกันไว้ ภายในที่ดินหมอชิตต้องจัดพื้นที่รองรับการย้ายกลับสถานีขนส่งหมอชิต 2 มาอยู่ที่เดิม แต่ชาวบ้าน คัดค้าน แม้ว่ากรุงเทพมหานครจะออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืน ก่อสร้างทางยกระดับจากถนนวิภาวดี 5 เชื่อมทะลุพหลโยธิน 18/1 หรือบริเวณซอยจอมพลโดยประชาชนเกรงว่า จะได้รับความเดือดร้อนจากปริมาณจราจรติดขัด
นายวิรัช พิมพะนิต ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังตัวแทนประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนหลังหมอชิตเก่า ได้เดินทางมาที่กระทรวงคมนาคม เพื่อยื่นหนังสือถึงนายศักดิ์สยามชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) คัดค้านการย้ายสถานีขนส่งหมอชิต 2 ของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) กลับมาใช้พื้นที่หมอชิตเก่าในที่ดินของกรมธนารักษ์ ที่ให้สัมปทานกับบริษัทเอกชนพัฒนาเป็นโครงการคอมเพล็กซ์ศูนย์การค้า โรงแรมและเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ ว่าเบื้องต้นทางกระทรวงคมนาคมสั่งการให้สนข.ทบทวนแผนการศึกษาย้ายสถานีขนส่งหมอชิต 2 บนถนนกำแพงเพชรเพื่อสร้างทางยกระดับเชื่อมต่อระหว่างอาคารอู่จอดรถและศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า เนื่องจากประชาชนที่อยู่อาศัยบริเวณซอยวิภาวดี 5-ซอยพหลโยธิน 18/1 ได้รับความเดือดร้อน รวมทั้งการนำรถโดยสารเข้าไปให้บริการบริเวณกลางเมืองเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะจะทำให้เกิดมลพิษทางสิ่งแวดล้อมจากการใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิง
“เราจะให้สถานีหมอชิต 2 อยู่ที่เดิม บริเวณถนนกำแพงเพชรโดยจะเจรจากับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในการต่อสัญญาเช่าพื้นที่ดังกล่าวไปเรื่อยๆ ส่วนการขอใช้พื้นที่บนที่ดินกรมธนารักษ์ บริเวณสถานีหมอชิตเก่า 1,000 ตารางเมตร จะขอให้สงวนสิทธิ์การใช้พื้นที่ก่อน แต่เรามีแนวคิดจะนำรถร่วมเอกชนเข้ามาให้บริการบริเวณใต้ทางด่วนหน้าสถานีหมอชิต 2 ของบริษัทขนส่ง จำกัด (บขส.) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความจำเป็นของชุมชนที่อยู่อาศัยบริเวณนั้นว่าต้องการหรือไม่ โดยกระทรวงคมนาคมจะนัดประชุมทั้งกรุงเทพฯ (กทม.) กรมธนารักษ์และชุมชนต่างๆ หารือถึงเรื่องดังกล่าวในครั้งถัดไป ให้เร็วที่สุด”
นางสาววินินท์อร ปรีชาพินิจกุล ในนามผู้แทนชุมชนหลังหมอชิตเก่า กล่าวว่า ประชาชนที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ขอคัดค้านพระราชกฤษฎีกาการกำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในท้องที่ แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพฯ พ.ศ.2563 บริเวณซอยวิภาวดี 5-ซอยพหลโยธิน 18/1 เพื่อสร้างขยายทางหลวงท้องถิ่นทางยกระดับเชื่อมระหว่างอาคารอู่จอดและศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า ระยะทาง 530 เมตร โดยใช้งบประมาณของรัฐบาลไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท ที่มาจากภาษีประชาชนมาจ่ายค่าเวนคืนที่ดินและก่อสร้างทางยกระดับ โดยอ้างว่าเพื่อใช้เป็นทางเข้า-ออกให้กับรถบขส.เพราะถือเป็นบริการสาธารณะ ปัจจุบันมีที่ดินถูกเวนคืน 35 แปลง โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 21 รายการ ส่วนกว้างที่สุด 300 เมตร ส่วนแคบที่สุด 100 เมตร ค่าก่อสร้าง ประมาณ 1,650 ล้านบาท ที่ผ่านมากรุงเทพมหานคร (กทม.) และสนข.มีโครงการย้ายสถานีหมอชิต 2 กลับมาใช้พื้นที่เก่าบนถนนพหลโยธิน โดยอ้างว่าการเจรจากับรฟท. ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่สถานีขนส่งหมอชิต 2 ยังไม่ได้ข้อยุติ ทั้งที่หน่วยงานทั้ง 2 แห่ง อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคม ที่ผ่านมาได้ยื่นหนังสือคัดค้านฯต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) หลังจากนั้นจะยื่นหนังสือคัดค้านเพื่อยกเลิกพระราชกฤษฎีกาการเวนคืนที่ดินฉบับดังกล่าว ต่อกระทรวงการคลังและกรมธนารักษ์ ในฐานะเจ้าของโครงการสัมปทาน และจะยื่นหนังสือคัดค้านฯ ต่อศาลปกครองสูงสุดภายในวันที่ศุกร์ที่ 13 พฤศจิกายนนี้
นางสาววินินท์อร กล่าวต่อว่า สำหรับการเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างทางยกระดับเพื่อเป็นทางเข้า-ออกในโครงการนี้ จะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนผู้ได้รับสัมปทานสร้างคอมเพล็กซ์หรือโครงการมิกซ์ยูสมากกว่า เพราะโครงการพัฒนาที่ดิน โดยสร้างเป็นคอมเพล็กซ์บนที่ดินของกรมธนารักษ์บริเวณหมอชิตเก่านี้ จะมีการใช้พื้นที่เพื่อการพาณิชย์มากกว่า 85% ของพื้นที่ทั้งหมด คือเป็นศูนย์การค้า โรงแรม ศูนย์ประชุม เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ อาคารเช่าจอดรถ เป็นต้น ขณะที่สถานีรับส่งผู้โดยสารและบขส.หรือภาครัฐจะได้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่เพียง 15% เท่านั้น ดังนั้นจึงเป็นการเวนคืนที่ดินชาวบ้าน ที่อาจขัดต่อหลักการพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการให้รัฐได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2562 ที่ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ต้องเป็นการเวนคืนเพื่อการเป็นสาธารณูปโภค การป้องกันประเทศ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น ซึ่งอาจขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายนี้
“เราไม่ได้คัดค้านโครงการคอมเพล็กช์ที่จะเกิดขึ้นบนพื้นที่หมอชิตเก่า แต่เราคัดค้านการย้ายสถานีรับส่งผู้โดยสารบขส.กลับมาที่หมอชิตเก่า และคัดค้านการใช้งบประมาณจากเงินภาษีของประชาชนมาเวนคืนที่ดินและสร้างทางยกระดับ ที่เอื้อประโยชน์ให้เอกชนมากกว่าเพื่อประโยชน์สาธารณะของรัฐและของประชาชน และเรายังสงสัยถึงความพยายามที่จะผลักดันให้มีการย้ายสถานี บขส.กลับมาที่หมอชิตเก่า เพื่อนำมาใช้เป็นข้ออ้างหรือเป็นเหตุผลสนับสนุน การเวนคืนที่ดินและสร้างทางยกระดับหรือไม่ เพราะหากไม่ย้ายสถานี บขส.กลับมา เหตุผลหรือข้ออ้างในการสร้างถนน เพื่อใช้เป็นทางออกให้รถโดยสาร บขส.ก็จะไม่เกิดขึ้นหรือไม่มีความจำเป็น จึงอาจมีขั้นตอนหรือการดำเนินการที่ไม่ถูกต้อง”
อย่างไรก็ตามปัจจุบันสถานีขนส่งหมอชิต 2 ที่ตั้งอยู่บนถนนกำแพงเพชร เป็นทำเลและพื้นที่ที่มีความเหมาะสมกับการต่อเชื่อมการเดินทางในทุกด้าน ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัด เพิ่มความสะดวก และประหยัดเวลาในการเดินทางได้อย่างมาก โดยไม่จำเป็นต้องย้ายสถานีเข้ามากระจุกตัวบนพื้นที่หมอชิตเก่า ซึ่งจะสร้างความแออัดและสร้างปัญหาการจราจรเพิ่มขึ้นให้กับพื้นที่โดยรอบบริเวณนี้ ทั้งนี้ปัจจุบันประสบปัญหาการจราจรติดขัดอย่างหนักในช่วงเวลาปกติและชั่วโมงเร่งด่วน ทั้งในช่วงเช้าและช่วงเย็น
ที่มา: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ