หนี้เสียทุบกำไรธนาคารพาณิชย์ เร่งตั้งสำรองสูงรับNPLทะลักปลายปี

24 ก.ย. 2563 653 0

          “หนี้เสีย” ทุบกำไรแบงก์ โบรกฯ ประเมินช่วงที่เหลือของปีนี้กำไรกลุ่มแบงก์ยังแย่ เหตุต้องตั้งสำรองสูงรับมือหนี้เสียหลังจบมาตรการ “พักหนี้” เดือน ต.ค.นี้ “บล.เอเซีย พลัส” คาดการณ์กำไรสุทธิปี’63 ฮวบ 5.4 หมื่นล้านบาท ฟาก “บล.ฟินันเซียฯ” ประเมินหนี้เสียส่อพีกทะลุ 7% ในสิ้นปีหน้า

          นายภาสกร หวังวิวัฒน์เจริญ ผู้จัดการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด เปิดเผยว่า แนวโน้มผลประกอบการกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในช่วงที่เหลือของปี 2563 นี้ฝ่ายวิจัยคาดการณ์กำไรสุทธิจะออกมาแย่กว่าครึ่งปีแรก แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจและธุรกิจจะฟื้นตัวเล็กน้อย เนื่องจากธนาคารยังจำเป็นต้องตั้งสำรองหนี้ในระดับที่ค่อนข้างสูง เพื่อรับมือกับมาตรการพักชำระหนี้ที่จะครบกำหนด ในเดือน ต.ค.นี้ ซึ่งแบงก์ที่มีความเสี่ยงต้องตั้งสำรองเพิ่มตามแผนที่ประกาศเอาไว้ ได้แก่ ธนาคารทหารไทย (TMB) และธนาคารกรุงศรี (BAY)

          นอกจากนี้ ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ย (NIM) ยังอ่อนตัวลงจากการที่ธนาคารปรับเงื่อนไขการผ่อนชำระเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ขณะที่ภาพรวมของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) แม้ว่าในไตรมาส 3 จะยังไม่เห็นสัญญาณเร่งตัวขึ้น เนื่องจากมาตรการพักชำระหนี้ยังไม่จบนั้น แต่มีความเสี่ยงที่ NPL ไตรมาส 4 จะกลับมาเร่งตัวขึ้นหลังจบมาตรการ

          ทั้งนี้ กลยุทธ์การลงทุนหุ้นกลุ่มธนาคาร บล.เอเซีย พลัส คงน้ำหนัก “น้อยกว่าตลาด” แม้ว่าราคาหุ้นจะปรับฐานลงมาค่อนข้างต่ำ โดยปัจจุบันซื้อขายอยู่บนราคาต่อมูลค่าทางบัญชี (P/BV) ที่ 0.55 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ในอดีต อย่างไรก็ดี แนะนำทยอยสะสมเพื่อลงทุนระยะยาวได้หลังการประกาศผลทดสอบภาวะวิกฤต (stress test) ของธนาคารในเดือน ต.ค.

          อย่างไรก็ดี ยังแนะนำ “ซื้อ” ธนาคารกรุงเทพ (BBL) เพียงแห่งเดียว ที่ราคาเป้าหมาย 122.00 บาท เนื่องจาก P/BV ที่ 0.46 เท่า ประกอบกับธนาคารกรุงเทพมีโครงสร้างสินเชื่อรายใหญ่ราว 41% มากสุดในกลุ่ม ซึ่งแข็งแรงกว่า สินเชื่อเอสเอ็มอีจากช่องทางการระดมทุนของลูกค้ารายใหญ่ที่มากกว่ารายย่อย ทั้งนี้ แนะนำนักลงทุนไม่ต้องรีบเข้าซื้อ โดยให้รอผล stress test ออกมาก่อน

          นายภาสกรกล่าวว่า บล.เอเซีย พลัสคาดการณ์กำไรสุทธิกลุ่มธนาคารทั้งปี 2563 ที่ 1.47 แสนล้านบาท ลดลง 5.4 หมื่นล้านบาท หรือลดลง 26.7% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

          ด้านนายวีระวัฒน์ วิโรจน์โภคา ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส จำกัดกล่าวว่า แนวโน้มช่วงที่เหลือของปีจะยังไม่ใช่ช่วงที่ดีของกลุ่มธนาคาร เนื่องจากแนวโน้มดอกเบี้ยที่ยังต่ำจะกระทบรายได้ดอกเบี้ยรับ ประกอบกับการตั้งสำรองที่ธนาคารใช้เกณฑ์การตั้งสำรองตามมาตรฐานบัญชีใหม่ ซึ่งในภาวะที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนทั้งจากสถานการณ์เศรษฐกิจและโควิด-19 เชื่อว่า การตั้งสำรองจะยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง

          นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยง NPL ที่คาดว่า จะค่อย ๆ เร่งตัวขึ้น หลังหมดมาตรการพักชำระหนี้ โดยฝ่ายวิจัยคาดการณ์ว่า NPL ในระบบธนาคารพาณิชย์จะปรับขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ 7.1% ในไตรมาส 4 ปี 2564 จาก ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2563 อยู่ที่ 4.2% โดยเฉพาะในกรณีที่โควิด-19 ลากยาว คาดว่าจะส่งผลให้ผู้ประกอบการ รายย่อยอาจถึงขั้นล้มหายตายจาก จากปัจจุบันที่มาตรการพักชำระหนี้ยังช่วยเหลือสภาพคล่องของธุรกิจ

          “สังเกตว่า NPL ในไตรมาส 3 ตัวเลขจะเท่า ๆ กับไตรมาส 2 เพราะมีมาตรการพักหนี้อยู่ แต่หากจบมาตรการ เราคาดว่าธนาคารที่มีสัดส่วนสินเชื่อธุรกิจขนาดเล็กสูง อย่างธนาคารกสิกรไทย (KBANK) น่าจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบอย่างหนัก” นายวีระวัฒน์กล่าว

          ส่วนกรณีประเด็นทางการเมืองที่มีประชาชนบางส่วนรณรงค์ยกเลิกการใช้บริการธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) นั้น เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของธนาคาร โดยชี้ว่าราคาหุ้น ณ วันที่ 21 ก.ย.ของ SCB ปรับลดลงเล็กน้อยเพียง 0.74% ซึ่งคาดว่าเป็นการปรับลดลงตามตลาดหุ้นมากกว่า

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย