ยืดเก็บภาษีบ้าน-ที่ดินรอบสอง ปี'64ปรับราคาประเมินยกแผง

01 ก.ย. 2563 724 0

           ภาษีที่ดินฯยังอลหม่าน มท.วาง 2 แนวทางรับมือ “ขยายเวลา-ผ่อนชำระ” เปิดคัดค้าน 30 วัน เทศบาลรายได้วูบ ใบประเมินถูกตีกลับ ป่าตอง ภูเก็ตไม่มีเงินจ่าย กทม.แจงมีที่ดิน 2.8 ล้านโฉนด คอนโดฯ 1 ล้าน ยูนิต บ้าน 3 ล้านหลัง จ่ายได้ถึง 31 ต.ค. คนกลัวเสียค่าปรับ แห่ติดต่อทะลัก คลังย้ำจ่ายช้าไม่เสียเพิ่ม ธนารักษ์เร่งปรับราคาประเมินทุนทรัพย์ใหม่ยกแผง

          รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2563 นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ทำหนังสือเวียนด่วนที่สุดถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เรื่องแนวทางปฏิบัติขยายกำหนดเวลาการชำระภาษีและการคัดค้านการประเมินภาษีตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 หลังกำหนดให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีชำระภาษีตามแบบแจ้งการประเมินภาษีภายในเดือน ส.ค. 2563 และผ่อนชำระ 3 งวดได้ในเดือน ส.ค.-ต.ค. 2563

          วาง 2 แนวทางรับมือ

          เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดเก็บภาษีได้ครบถ้วนในเวลาที่กำหนด จึงขอให้จังหวัดแจ้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ดำเนินการ 2 แนวทาง

          1.กรณีมีเหตุจำเป็น ทำให้ อปท.ดำเนินการจัดเก็บภาษีไม่ทันภายในเดือน ส.ค. 2563 ผู้บริหารท้องถิ่นสามารถพิจารณาขยายเวลาการชำระภาษีของประชาชนออกไปได้ รวมถึงระยะเวลาผ่อนชำระภาษีตามความจำเป็น กรณีนี้ต้องดำเนินการก่อน 31 ส.ค. 2563

          2.กรณีผู้เสียภาษีเห็นว่าการประเมินภาษีของ อปท.ไม่ถูกต้อง แต่ไม่สามารถใช้สิทธิยื่นคำร้องคัดค้าน จึงขอให้ ผู้บริหารท้องถิ่นพิจารณาทบทวนการประเมินได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมินภาษี และผู้เสียภาษีได้ยื่นคำร้องขอขยายเวลาการคัดค้านการประเมินภาษีก่อนกำหนดเวลา 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน

          ซึ่งผู้บริหารท้องถิ่นสามารถพิจารณาขยายเวลาคัดค้านการประเมินภาษีออกไปได้แล้วแต่กรณี แต่หากยื่นเกินเวลาที่กำหนดหรือที่ขยายเวลาออกไป ผู้เสียภาษีย่อมเสียสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคัดค้านการประเมินภาษี และผู้บริหารท้องถิ่นย่อมไม่มีอำนาจรับคำร้องคัดค้านการประเมินภาษีดังกล่าว

          อย่างไรก็ดี ในมาตรา 53 กำหนดว่า การที่ อปท.พบว่ามีการประเมินภาษี ผิดพลาดหรือไม่ครบถ้วน ให้ทบทวนการประเมินภาษีให้ถูกต้องตามที่ผู้เสียภาษีมีหน้าที่ต้องเสียภายในกำหนด 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งการชำระภาษีตามกฎหมาย ดังนั้น ผู้บริหารท้องถิ่นอาจนำคำคัดค้านที่ยื่นเกินเวลานั้นไว้เพื่อให้เป็นข้อเท็จจริงประกอบการพิจารณาทบทวนการประเมินตามกฎหมาย

          กทม.ยืดถึง 31 ต.ค.

          นางสาวนราทิพย์ ผินประดับ ผู้อำนวยการกองรายได้ สำนักการคลัง กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กทม.ขยายเวลาการยื่นเสียภาษีที่ดินฯจาก 31 ส.ค. เป็นวันที่ 31 ต.ค. 2563 เนื่องจากได้รับรายงานจากฝ่ายรายได้สำนักงานเขต 50 เขต โดยรวมยังมีผู้ที่ไม่ได้รับใบแจ้งให้มาเสียภาษีที่ดินฯดังกล่าว อาจมี การตกสำรวจแต่ผู้เสียภาษีสามารถติดต่อ สำนักงานเขตในพื้นที่ได้

          “กทม.มียอดผู้เสียภาษีที่ดินฯปีนี้แยกเป็นที่ดิน 2.8 ล้านโฉนด คอนโดมิเนียม 1 ล้านยูนิต บ้านและที่อยู่อาศัย 3 ล้านหลัง ล่าสุดมีผู้มาเสียภาษีตั้งแต่วันที่ 1-27 ส.ค.รวมแล้วอยู่ที่ 597 ล้านบาท สูงกว่าที่ตั้งไว้ 500 ล้านบาท”

          พ.ย.ส่งใบเรียกเก็บปีหน้า

          แหล่งข่าวจาก กทม.กล่าวว่า จากหนังสือเวียนของมหาดไทยให้อำนวจท้องถิ่นเลื่อนการยื่นชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้ไม่เกินเดือน ต.ค.นี้ เนื่องจากจะครบรอบการจัดเก็บภาษีปี 2564 ในเดือน พ.ย.นี้ จึงต้องแจ้งบัญชีผู้เสียภาษีรอบใหม่ จากนั้นเดือน ก.พ.ปีหน้าจะแจ้งอัตราที่เรียกเก็บและให้จ่ายภาษีในเดือน มี.ค.-เม.ย. 2564

          “รัฐต้องเก็บภาษีปีหน้าเร็วขึ้น เพราะปีนี้เจอโควิดรัฐบาลจึงขยายเวลาการชำระถึง ส.ค. และขยายอีกครั้งถึง ต.ค.นี้ หากพื้นที่ไหนมีผู้เสียภาษีไม่มาก อาจเลื่อนถึงวันที่ 30 ก.ย.นี้ ส่วน กทม.มี ผู้เสียภาษีจำนวนมากจะเลื่อนถึง ต.ค.นี้”

          ทั้งนี้ เพื่อลดความกังวลของประชาชนเรื่องเบี้ยปรับอัตรา 10-40% ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ล่าช้าและเงินเพิ่มอีก เดือนละ 1% ของยอดภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่มกรณียื่นภาษีเกินกำหนด

          “ทำให้ช่วงใกล้ ๆ สิ้นเดือน ส.ค.มีผู้มาเสียภาษีมากขึ้น จากปกติวันละ 200 ราย/เขต เป็น 500-600 ราย/เขต เพราะกลัวเสียค่าปรับ”

          สำหรับการจัดเก็บภาษีรอบใหม่ปี 2564 จะเก็บเต็มจำนวนตามที่ประเมิน โดยกรมธนารักษ์แจ้งว่าจะปรับราคาประเมินทุนทรัพย์ใหม่ทั้งที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อให้ท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาลจะปรับลดภาษี 90% เหมือนปีนี้หรือไม่

          ส่วนของ กทม.ในปี 2564 ตั้งเป้ารายได้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไว้ 7,000-8,000 ล้านบาท เพิ่มจากปีนี้ที่ตั้งไว้ 500 ล้านบาท

          ไม่ได้ใบแจ้งไม่ต้องเสีย

          นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังกล่าวว่า เนื่องจากการเรียกเก็บและการชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด ได้แก่ การส่งใบประเมินเรียกเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไปยังเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กรณีที่ตรวจสอบใบประเมินแล้วพบว่าถูกต้อง ผู้เสียภาษีค่อยไปชำระภาษีซึ่งทำได้หลายช่องทาง ในพื้นที่ กทม.ชำระที่เคาน์เตอร์ธนาคาร หรือผ่าน QR code ของระบบ online banking ในท้าย ใบประเมิน หรือที่สำนักงานเขตทั้ง 50 แห่ง ส่วนต่างจังหวัดชำระได้ที่สำนักงานของ อปท.หรือตามช่องทางอื่นที่กำหนด

          กรณีที่ประชาชนไม่ได้รับใบประเมินเรียกเก็บภาษี หรือท้องถิ่นขยาย หรือเลื่อน เวลาการชำระออกไป ประชาชนจะไม่เสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ซึ่งมี อปท.จำนวน หนึ่งขยายเวลาชำระออกไปแล้ว และมีอีก หลายแห่งกำลังพิจารณา รวมถึง กทม.ด้วย

          สรรพากรผ่อนชำระ 3 งวด

          นางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ ที่ปรึกษา ด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี (กลุ่มธุรกิจพลังงาน) ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยว่า วันที่ 1 ก.ย. 2563 เป็นต้นไป การชำระภาษีต่าง ๆ จะกลับมาเป็นปกติหลังจากกรมออกมาตรการเลื่อนการยื่นแบบชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลถึง 31 ส.ค. 2563 เพื่อช่วยเหลือประชาชนจากผลกระทบโควิด-19

          น่านเก็บได้น้อย

          นายสุรพล เธียรสูตร นายกเทศมนตรีเมืองน่าน เปิดเผยว่า จากที่เคยจัดเก็บภาษีส่วนนี้ได้ 14 ล้าน/ปี แต่ปีนี้คงเก็บได้ไม่ถึง 1 ล้านบาท เพราะรัฐลดภาษีให้ 90% จากผลกระทบโควิด-19 อีกทั้งยังไม่สามารถประเมินการจัดเก็บภาษีใหม่ในพื้นที่ได้ทั้งหมด โดยเฉพาะตัวอำเภอเมืองระดับเทศบาลนคร เทศบาลเมือง เพราะรูปแบบการประเมินอาคารก่อสร้างล้วนแตกต่างกัน

          โชคดีที่กฎหมายมาตรา 14 วรรคแรก ให้เลื่อนและขยายเวลาได้ถ้าจำเป็น ล่าสุดเทศบาลเมืองน่านได้ประกาศเลื่อน ไปถึง 30 ก.ย. 2563

          “ตอนนี้เจ้าหน้าที่ประเมินงานของเราไม่เพียงพอ ต้องจ้างพนักงานพิเศษเพิ่ม ซึ่งยังไม่มีความชำนาญ ต้องมาเรียนรู้งานใหม่ และกฎหมายลูกที่มีการเปลี่ยนแปลงหลายครั้งต้องมาปรับการประเมินใหม่ ตอนนี้เงินที่รัฐจัดเก็บและแบ่งให้ยังมาไม่ครบ เงินรายได้ที่เราจัดเก็บเองยังไม่เข้ามา รวมแล้วไม่ถึงหลักแสน รายรับไม่พอกับรายจ่าย”

          ขอนแก่นโวยภาษีวูบ

          นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อรัฐประกาศให้ท้องถิ่นเก็บภาษีใหม่ ปัญหาตามมามากมายเรียกว่าได้รับผลกระทบทั้งประเทศ จากที่ตั้งเป้าจะเก็บภาษีได้ 120 ล้านบาทก็หายไปทันที 100 กว่าล้านบาท เหลือส่วนที่เก็บได้ 10% คือ 12 ล้านบาท

          แล้วเมื่อมาเก็บจริง ๆ ก็มีเงื่อนไขผ่อนปรน สรุปจัดเก็บได้แค่ 3-4 ล้านบาท ทำให้โครงการที่ต้องพัฒนาไม่สามารถดำเนินการได้ ต้องชะลอโครงการถึง 80-90% และต้องดึงเงินสะสมมาจ่ายในโครงการเหล่านี้ด้วย รวมแล้วเฉพาะเทศบาลนครขอนแก่นได้รับผลกระทบร่วม 200 ล้านบาท จากการประเมินก็กระทบถึงปี 2564 ด้วย

          นครสวรรค์เงินหมด

          นายจิตตเกษมณ์ นิโรจน์ธนรัฐ นายก เทศบาลนครนครสวรรค์ เปิดเผยว่า นครสวรรค์จะมีผู้เสียภาษีดังกล่าว 40,000 ราย จากที่เคยเก็บได้ 90 ล้านบาท คาดว่าปีนี้เก็บได้ 4 ล้านบาท งานพัฒนาต่าง ๆ คงต้องหยุดโครงการและมีปัญหาเรื่องการจ่ายเงินเดือน คิดว่าเทศบาลทั่วประเทศประสบปัญหาเดียวกัน

          ตอนนี้ได้ส่งจดหมายไปยังผู้เสียภาษีทั้งหมดแล้ว แต่จดหมายบางส่วนถูกตีกลับ 7,000-8,000 ราย เพราะไม่มีคนรับเอกสาร ต้องให้พนักงานลงพื้นที่ ไปส่งเองตามหมู่บ้านต่าง ๆ เพราะแบกภาระ ค่าไปรษณีย์ไม่ไหว ซึ่งจ่ายไปไม่ต่ำกว่า 2 ล้านบาทแล้ว

          ภูเก็ตไม่มีเงินจ่าย

          น.ส.เฉลิมลักษณ์ เก็บทรัพย์ นายกเทศมนตรีป่าตอง เปิดเผยว่า ปีนี้คงจัดเก็บภาษีที่ดินฯได้ไม่เกิน 25 ล้านบาท ซึ่งไม่ถึง 50% เพราะคนที่ต้องเสียภาษียังไม่มีเงินมาชำระ และเมื่อส่งเอกสารไปแล้วก็ถูกตีกลับจำนวนมาก เพราะคนที่ต้องเสียภาษีส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นคนในพื้นที่เมืองป่าตอง

          “เทศบาลทำเรื่องขอความช่วยเหลือไปยังกรมส่งเสริมท้องถิ่น และนำเรื่องส่งถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแล้ว เพื่อให้รัฐบาลช่วยชดเชยจำนวนเงินที่หายไป อย่างหาดป่าตองเคยเก็บได้กว่า 380 ล้านบาท”

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย