โควิด-19เปลี่ยนดีมานด์ผู้ซื้อคอนโดชี้3ปีจากนี้ลูกค้า49%ไม่สนห้องชุด
“ไนท์แฟรงค์” เผยผลสำรวจความต้องการที่อยู่อาศัย หลังการระบาดโควิด-19 พบลูกค้าต้อง การพื้นที่ผ่อนคลายเพิ่ม 43% มุมทำงาน 28% ที่ครัวกว้างขึ้น 19% ส่วนความต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกในโครงการเพิ่มขึ้น 92% ระบุโครงการที่มีร้านสะดวกซื้อพื้นที่สีเขียว มุมทำงานในสวนได้รับความสนใจมากสุด ด้านคอนโดฯ พบความต้องการซื้อจริงมากขึ้น การเก็งกำไรลดลง แนวโน้มความต้องการซื้อระยะ 3 ปีพบ 51% อีก 49% ไม่สนใจซื้อ
รายงานข่าวจากบริษัท ไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า จากการสำรวจความต้องการเลือกที่อยู่อาศัยของกลุ่มลูกค้า พบว่าในช่วงวิกฤตโควิด-19 ผลจากมาตรการป้องกันต่างๆ และสังคมเริ่มทำงานจากบ้าน Work From Home พบว่ามีความต้องการพื้นที่ผ่อนคลาย 43% มุมทำงาน 28% และพื้นที่ครัวกว้างขึ้น 19% ส่วนความต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกภายในโครงการ 92% ให้ความสนใจเรื่องร้านสะดวกซื้อและพื้นที่สีเขียวหรือบางคนต้องการมุมทำงานในสวนด้วย เพราะหาของกินง่าย เป็นที่ผ่อนคลายและพักสายตา ส่วนความปลอดภัยในเรื่องการคัดกรอกไวรัสโควิด-19 เป็นอันดับรองลงมาอยู่ที่ 85%
ส่วนตลาดคอนโดฯ หลัง โควิด-19 มีการปรับสมดุล สะท้อนถึงความต้องการซื้อที่อาศัยจริงมากขึ้น การเก็งกำไรลดลง จากการสำรวจกลุ่มผู้ซื้อคอนโดฯ มีแนวโน้มที่จะซื้อคอนโดฯ เพิ่มเติมในระยะ 3 ปีนี้ 51% และ 49% ไม่สนใจซื้อ โดยส่วนใหญ่ของกลุ่มผู้ที่สนใจซื้อเพื่ออยู่อาศัย 45% เป็นการซื้อเพื่อลงทุน 35% และเป็นสินทรัพย์ 17% ซึ่งกลุ่มคอนโดฯ ที่ได้รับความสนใจมากที่สุดคือคอนโดฯ ไม่เกิน 3 ล้านบาท คิดเป็น 60% เพราะเป็นระดับราคาที่ส่วนใหญ่รับได้และเป็นเรียลดีมานด์ที่ต้องการอยู่อาศัย รองลงมาคือคอนโดฯ ระดับราคาตั้งแต่ 3-5 ล้านบาท 28% และคอนโดฯ ระดับราคาตั้งแต่ 5 ล้านขึ้นไปได้รับความสนใจน้อยที่สุด
ส่วนทำเลที่ตั้งของคอนโดฯที่อยู่ใจกลางเมือง เช่น อโศก สุขุมวิท พระราม 9 รัชดา พระราม 4 ฯลฯ ยังคงได้รับความสนใจอย่างดี คิดเป็น 50.4% เนื่องจากสะดวกในการเดินทาง ใกล้กับ BTS และ MRT ส่วนคอนโดฯ ที่ตั้งอยู่รอบเมือง เช่น รามคำแหง ท่าพระ แบริ่ง ฯลฯ ได้รับความสนใจไม่น้อยอยู่ที่ 49.6% อาจเป็นเพราะผู้ซื้อต้องการพื้นที่ใช้สอยที่มากขึ้น แม้อยู่ไกลจากเมือง และใช้เวลาการเดินทางเข้าเมือง ไม่นาน
นายแฟรงค์ ข่าน กรรมการบริหารและหัวหน้าฝ่ายที่ปรึกษาโครงการที่พักอาศัย ไนท์แฟรงค์ กล่าวว่า ภาพรวมตลาดคอนโดฯยังคงชะลอตัว เนื่องจากกำลังซื้อจากต่างชาติหายไป และกำลังซื้อภายในประเทศหยุดชะงัก เนื่องจากผู้ซื้อระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ส่งผลให้นักพัฒนาโครงการหลายๆ แห่งชะลอการเปิดโครงการใหม่ในปีนี้ โดยมุ่งไปที่การระบายยูนิตที่มีอยู่ก่อน แนวโน้มนี้อาจลากยาวไปจนถึงไตรมาสที่ 1/64 และหากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สิ้นสุดลง เศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว
เนื่องจากคนที่ได้รับผล กระทบจากวิกฤตครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็น ผู้ใช้แรงงานและคนทำงานกับเจ้าของกิจการ ในขณะที่สถาบันการเงินและการใช้จ่ายจากภาครัฐยังคงมีเสถียรภาพและยังคงไม่กระทบมากนัก ส่วนผู้ซื้อที่ไม่ได้รับผลกระทบและมีแผนในการซื้อคอนโดฯ พร้อมจะใช้โอกาสนี้ในการซื้อ หากมีข้อเสนอส่วนลด 10-30%
นางสาวพจมาน วรกิจ โภคาทร หัวหน้าฝ่ายงานบริหารงานขายและการตลาด กล่าวว่า ผลกระทบการระบาดโควิด-19 ทำให้เกิด “ความปกติใหม่” ที่เข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตและเต็มไปด้วยข้อจำกัดมากมาย เราสามารถให้คำปรึกษาการพัฒนาโครงการที่พักอาศัยได้อย่างดี เนื่องจากเราศึกษาและรู้ถึงความต้องการของผู้บริโภคอย่างแท้จริง รวมไปถึงสิ่งที่นักพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ควรปรับตัวหรือเปลี่ยนแปลงหลังจากโควิด-19 สิ้นสุดลง
การเปลี่ยนแปลงจากผล กระทบโควิด-19 ในครั้งนี้ ไม่ได้เปลี่ยนเฉพาะพฤติกรรมผู้บริโภค แต่เราจะเห็นการปรับเปลี่ยน ฟังก์ชันการใช้และการปรับตัวของผู้ประกอบการอย่างแน่นอน โดยเน้นไปที่พื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่ใช้สอยภายในห้อง เช่น ห้องนอน ห้องครัว รวมถึงพื้นที่ส่วนกลาง เพื่อให้เหมาะกับการทำงานที่บ้านและตอบโจทย์ความต้องการในยุคหลังโควิด-19 ยิ่งขึ้น
ที่มา: ผู้จัดการรายวัน 360 องศา