แบงก์ตั้งรับสิ้นสุดพักหนี้ กสิกรห่วงมนุษย์เงินเดือน

03 ส.ค. 2563 871 0

 

            แบงก์ตั้งรับหลังหมดมาตรการพักหนี้เดือน ต.ค.นี้ “กสิกรไทย” ห่วงมนุษย์เงินเดือน-ภาคท่องเที่ยว-ส่งออก ไปต่อไม่ไหว ชะลอยึดทรัพย์-ขยายเวลาชำระ คาดหนี้เสียโผล่ไตรมาส 4 มั่นใจลูกค้า 70% ไปต่อได้ “ไทยพาณิชย์-กรุงเทพ-ทีเอ็มบี” เฟ้นแนวทางรับมือ ชี้ลูกค้าไม่ได้แย่ทั้งพอร์ต

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ประกาศมาตรการพักหนี้ช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท จะได้รับสิทธิ์เลื่อนจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยนาน 6 เดือน โดยอัตโนมัติ  ซึ่งโครงการจะสิ้นสุดวันที่ 22 ต.ค. 2563

          รับมือหลังหมดพักหนี้

          นางอภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สัญญาณกลุ่มลูกค้าพักชำระหนี้ในส่วนธุรกิจเอสเอ็มอี ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าจะกลับมาชำระคืนได้มากน้อยระดับใด แต่หลังจากที่มีการคลายล็อกดาวน์ ธุรกิจสามารถกลับมาดำเนินการบางส่วน ทำให้ผู้ประกอบการน่าจะเริ่มมีกระแสเงินสด หรือมีความต้องการสินเชื่อเพิ่มเติมในการดำเนินธุรกิจ

          สำหรับลูกค้าที่ยังไม่สามารถกลับชำระหนี้ได้หลังหมดมาตรการพักหนี้เดือน ต.ค.นี้ ธนาคารยังคงให้ความช่วยเหลือลูกค้าต่อ  ทั้งยืดอายุการชำระหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ให้เหมาะสมกับโครงสร้างการเงินของลูกค้า โดยจะขึ้นอยู่กับความสามารถของลูกค้าแต่ละรายและความรุนแรงที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

          “ตอนนี้ยังบอกไม่ได้ว่าลูกค้าจะไปไหวไม่ไหวเท่าไร และเป็นหนี้เสียเท่าไร ภาพจะชัดหลังโครงการพักหนี้จบ แต่เราพร้อมช่วยลูกค้า โดยเราจะดูตามอาการของลูกค้าแต่ละราย ซึ่งระหว่างทาง การพักชำระหนี้ ธนาคารได้มีการพุดคุยให้ความช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลา” นางอภิพันธ์กล่าวและว่า

          สำหรับการให้ความช่วยเหลือลูกค้ารวม  8.4 แสนล้านบาท คิดเป็นประมาณ 40% ของสินเชื่อรวมของธนาคาร แบ่งเป็น กลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ 6.7 หมื่นราย วงเงิน 2.16 แสนล้านบาท กลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีและ SSME จำนวน 1.3 แสนราย วงเงิน 2.17 แสนล้านบาท และกลุ่มลูกค้าบุคคล 1.1 ล้านราย วงเงิน 4.06 แสนล้านบาท

          เคแบงก์ห่วงมนุษย์เงินเดือน

          ด้านนายพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในช่วงไตรมาส 2  อาจจะยังไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก แต่จะเริ่มเห็นทิศทางเพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 3-4 หลังจากมาตรการพักชำระหนี้จบลง อย่างไรก็ดี ในระหว่างทางธนาคารก็พยายามช่วยลูกค้าที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่อง รวมถึงเร่ง การตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มเติมรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

          ทั้งนี้กลุ่มที่มีความน่าเป็นห่วงจะเป็นกลุ่มมนุษย์เงินเดือนมากกว่าเจ้าของธุรกิจ เนื่องจากรายได้ลดลงหรือบางรายตกงาน และไม่ได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการภาครัฐ ซึ่งกลุ่มนี้ยังมีค่าใช้จ่ายคงที่ เมื่อเทียบเจ้าของธุรกิจหรือกลุ่มอาชีพอิสระที่สามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ลงได้ ดังนั้นการช่วยเหลือลูกค้าหลังพักชำระหนี้ครบ 6 เดือน จะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มธุรกิจ ซึ่งยังดำเนินธุรกิจได้ก็พยายามให้สินเชื่อเพิ่มเติมไปดำเนินธุรกิจ ขณะที่กลุ่มมนุษย์เงินเดือนพยายามช่วยเหลือ แต่อาจจะทำยากเนื่องจากไม่มีรายได้

          “หลังพักครบ 6 เดือน ต้องมาดูว่าจะช่วยเหลือยังไงต่อไป เท่าที่ดูในพอร์ตพบว่า ลูกค้าตั้งใจชำระหนี้มาก ๆ ไม่มีรายได้ก็ไปขับแกร็บมาผ่อนหนี้บ้าง วิธีการปรับโครงสร้างหลัก ๆ เราก็คงยืดการพักเงินต้นและดอกเบี้ยออกไปยาว ๆ เพื่อให้ลูกค้ามีกระแสเงินสดไว้ก่อน และไปจ่ายช่วงหลัง ๆ ส่วนการลดมูลหนี้ hair cut อาจจะทำได้ยาก เพราะลูกหนี้ทุกคนอาจจะเข้ามาทั้งหมด ซึ่งธนาคารไม่สามารถทำได้ทั้งหมด”

          “ท่องเที่ยว-ส่งออก” ต้องอุ้มต่อ

          ขณะที่นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ตอนนี้กลุ่มที่พอจะมองออกว่า หลังหมดมาตรการพักชำระหนี้ตามนโยบาย ธปท.แล้วยังต้องการความช่วยเหลือ จากธนาคารต่อเนื่อง จะเป็นกลุ่มภาคการท่องเที่ยว และส่งออกที่อาจจะยังไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ทั้งหมด เพราะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ค่อนข้างหนัก

          สำหรับวิธีการช่วยเหลือ หากกลุ่มที่ธุรกิจยังสามารถไปต่อได้ ธนาคารพยายามยืดเทอมชำระหนี้ออกไปให้ยาวที่สุด หรือการลดดอกเบี้ยให้ และชะลอการตีทรัพย์ชำระหนี้ เพราะเชื่อว่าลูกค้าทุกคนยังมีความหวัง โดยธนาคารเชื่อว่าลูกค้าจะกลับมาได้เกิน 70% เนื่องจากธุรกิจบางอย่างเริ่มกลับมาดำเนินได้

          ทั้งนี้ มีลูกค้าธนาคารขอปรับโครงสร้างหนี้ ณ เดือนมิถุนายน 2563 ทั้งสิ้น 7 แสนราย มูลหนี้ราว 9 แสนล้านบาท เป็นลูกค้าเอสเอ็มอี ประมาณ 1 แสนราย มูลหนี้ 8.3 แสนล้านบาท ขณะเดียวกันมีการปล่อยสินเชื่อใหม่ให้กับลูกค้าเอสเอ็มอีขนาดเล็กราว 7.3-7.4 หมื่นล้านบาท และปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) อีกราว 2 หมื่นล้านบาท

          สินเชื่ออุปโภคบริโภค-วัสดุยังโต

          นายเสนธิป ศรีไพพรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า ลูกค้าธุรกิจเอสเอ็มอี ตอนนี้เข้าโครงการพักชำระหนี้เกือบทั้งหมด อย่างไรก็ดี พอร์ตลูกค้าเอสเอ็มอี ที่พักชำระหนี้ไม่ได้แย่ทั้งหมด มีบางกลุ่มที่ยังสามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ และมีบางกลุ่มที่ขาดสภาพคล่องชั่วขณะ ดังนั้นแม้จะหมดมาตรการพักหนี้เดือน ต.ค.นี้ เชื่อว่าจะไม่ได้ไหลเป็นหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ทั้งหมด แม้ว่าความต้องการสินเชื่อใหม่ชะลอตัว แต่ก็มีบางกลุ่มยังใช้สินเชื่ออยู่ เช่น กลุ่มอุปโภคบริโภค วัสดุก่อสร้างที่ยังมีโอกาสขยายตัว

          ขณะที่แหล่งข่าวจากธนาคารกรุงเทพเปิดเผยว่า ตอนที่มีโครงการพักชำระหนี้ ทุกคนก็เข้าโครงการหมด แต่จากนั้น 1-2 เดือนก็มีลูกค้าบางส่วนขอสละสิทธิ์พักหนี้ และกลับมาชำระตามปกติ เนื่องจากเห็นว่าการพักหนี้ยังมีภาระดอกเบี้ยเกิดขึ้น ขณะที่ตัวเองมีความสามารถการชำระหนี้

          เข้มสินเชื่อท่องเที่ยว-ค้าปลีก

          นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) เปิดเผยว่า ตอนนี้มีลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 เข้าโครงการพักชำระหนี้ราว 40% ของพอร์ตสินเชื่อที่มีอยู่ 2.5 แสนล้านบาท ซึ่งลูกค้าที่เข้าโครงการประมาณ 65-70% ถือว่าเป็นลูกค้า ที่ดี เรียกว่า B score ประเมินว่าเมื่อช่วยให้ผ่านช่วงนี้ไปได้ กลุ่มนี้จะสามารถกลับมาชำระได้ปกติ

          อย่างไรก็ดี หลังหมดมาตรการพักชำระหนี้ในเดือน ต.ค.นี้ ธนาคารได้เตรียมมาตรการช่วยเหลือไว้หลายวิธี เช่น ลูกหนี้ที่ไม่มีความสามารถผ่อนชำระแล้ว กลุ่มนี้ธนาคารอาจต้องเร่งดำเนินการฟ้องร้องยึดทรัพย์ ส่วนกลุ่มที่ยัง มีความสามารถจะปรับโครงสร้างหนี้ต่อ ทั้งยืดหนี้ หรือปรับชำระเป็นแบบบอลลูน เป็นต้น เพื่อไม่ให้กระจุกในเดือน ต.ค. หลังจากนี้ยังมีเรื่องต้องเฝ้าระวังอีกมาก เพราะหากเศรษฐกิจไม่ดีขึ้น มีคนตกงานเพิ่ม อาจทำให้คนดีที่คาดว่าจะกลับมาปกติ 65-70% ก็อาจจะจ่ายหนี้ไม่ได้

          นายฟิลิป เชียง ชอง แทน กรรมการ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารเกียรตินาคิน กล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่แน่นอน ธนาคารได้เพิ่มความระมัดระวังในการพิจารณาสินเชื่อมากขึ้น เพราะไม่อยากปล่อยสินเชื่อใหม่แล้วกลับมาเป็นหนี้เสียใน 6 เดือน

          ทั้งนี้ หลักเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่ออาจจะมีการปรับตามสถานการณ์และการแข่งขัน เช่น การวางดาวน์จากเดิมอยู่ที่ 5% ปรับเพิ่มเป็น 10% ขณะที่ รายได้ลูกค้า หากเป็นกลุ่มอาชีพอิสระ รายได้ไม่แน่นอน และกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว และค้าปลีกจะมีการปรับลดการคำนวณของรายได้ลงถึง 80% ส่วนกลุ่มที่ไม่เกี่ยวข้องจะปรับลดลง 50%

 

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย