บิ๊กอสังหาฯฟื้นวิกฤตศรัทธา หุ้นกู้ โชว์โครงการขายดี-จูงใจดบ. รับแผนระดมทุนล็อตใหม่

23 ม.ค. 2567 266 0

 

     ประเด็นหุ้นกู้ผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทมหาชน กลายเป็นเรื่องร้อน “ทะลุปรอทแตก” ที่ทำให้บรรยากาศของการลงทุนตั้งแต่ปลายปี 2566 ต่อเนื่องข้ามมาถึงปี 2567 ดูไม่สดใส ซึ่งอาจเป็นด้วยจากสภาพเศรษฐกิจ การบริหารองค์กรที่ไม่มีประสิทธิภาพ เรื่องของปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่นอกเหนือการควบคุม ล้วนทำให้ 'สุขภาพ' ทางการเงิน ของบริษัทมหาชน ประสบปัญหา ซึ่งแต่ละเคส ของการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ ก็แตกต่างกัน อย่างเช่น เคสของบริษัทรับเหมารายใหญ่ของประเทศไทย “บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์  หรือ ITD” ที่น่าจะเกิดจากเรื่องเกี่ยวกับสัมปทาน

      ขณะที่ ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ในช่วงที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์มีมาตรฐานในการปล่อยสินเชื่อพัฒนาโครงการที่สูงขึ้น ทำให้ผู้ภาคอสังหาฯในระยะที่ผ่านมา ระดมทุนผ่าน 'หุ้นกู้' ในจังหวะที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดยังอยู่ในระดับที่ต่ำ ต่างจากปัจจุบัน ที่เทรนด์อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่สูงขึ้น รวมถึงความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ส่งผลให้ตัวเลขปฏิเสธสินเชื่อ (รีเจกต์เรต) ของบมจ.อสังหาฯอยู่ในสัดส่วนที่ มากขึ้น บางโครงการตัวเลขเกินกว่า 30-40% เป็นต้น ส่งผลให้โครงการ ต้องนำที่อยู่อาศัย หรือ ห้องชุดในโครงการคอนโดมิเนียมาทำการตลาด 2-3 รอบ

     ทั้งนี้ จาก DATA ของสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ณ เดือนพฤศจิกายน 2566 หุ้นกู้ที่ผิดนัดชำระหนี้ (Default Payment) มี ทั้งสิ้น 7 บริษัท วงเงินรวม 22,065 ล้านบาท ส่องดูแล้ว ก็มีบริษัทอสังหาฯ อยู่ในกลุ่มนี้ เช่น หุ้นกู้ บมจ.ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ มูลหนี้รวม 2,334.2 ล้านบาท,หุ้นกู้ บจก.เดซติเนชั่น รีสอร์ทส์ มูลหนี้รวม 1,210 ล้านบาท และหุ้นกู้ บมจ.เอเพ็กซ์ ดีเวลลอปเม้นท์ มูลค่าหนี้รวม 765 ล้านบาท เป็นต้น

     แลนด์ฯ ถัวเฉลี่ยต้นทุนออกหุ้นกู้ 1.6 หมื่น ล.

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บมจ.อสังหาฯ หลายแห่ง ที่มี 'ดีล' ครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ ได้ประกาศเตรียม สภาพคล่องไว้รองรับการไถ่ถอนหุ้นกู้ที่ครบในปี 2567 ซึ่งมีครบกำหนดตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นไป

     นายวิทย์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการสายงานสนับสนุน บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า LH มีแผนที่จะออกหุ้นกู้เพื่อรองรับการไถ่ถอน มูลค่า 16,000 ล้านบาท (ปัจจุบันบริษัทมีหุ้นกู้รวม 46,000-48,000 ล้านบาท) จะมีการถัวเฉลี่ยอัตราดอกเบี้ยในเช่นอายุ 2 ปี 2 ปีครึ่ง และ 3 ปี เพื่อบริหารต้นทุน คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนจะยังคงอยู่ในระดับใกล้เคียง 1 ซึ่งลดลงจาก ณ สิ้นปี 2566

     โดยบริษัทได้เตรียมงบลงทุนไว้ทั้งหมดประมาณ 11,500 ล้านบาท ประกอบด้วย งบสำหรับการซื้อที่ดินเพื่อการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย 5,000 ล้านบาท งบลงทุนด้านอสังหาฯ เพื่อการให้เช่า 6,500 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังได้เตรียมขอวงเงินในการพัฒนาโครงการกับธนาคาร วงเงิน 5,000-6,000 ล้านบาท

     “ภาพรวมอสังหาฯ เพื่อเช่าปี 2566 คาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 70 และร้อยละ 100 ตามลำดับจากปีก่อน เนื่องมาจากการกลับมาของนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลดีต่อธุรกิจอสังหาฯ เพื่อเช่าของบริษัทโดยตรง”

     ANAN ปิดครบดีลแรก มูลค่า 3,826 ลบ.

     นายชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ANAN กล่าวว่า ในปีนี้ บริษัทต้องชำระคืนหุ้นกู้รวม 2 ดีล เป็นเงิน 7,057 ล้านบาท ซึ่งงวดแรกในวันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา ชำระได้ครบ 100% มูลค่า 3,826 ล้านบาท และในเดือนกรกฎาคม มูลค่า 3,231 ล้านบาท ซึ่งบริษัทมีความมั่นใจชำระครบทั้งหมด

     จะเห็นได้ว่า ผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา สามารถบรรลุเป้าหมายตามแผนงานที่วางไว้ ทั้งในเรื่องยอดขาย (Pre-Sales) ที่เติบโตขึ้น 11% หรือ 19,535 ล้านบาท ยอดโอนที่สามารถเติบโตขึ้น 10% หรือ 13,186 ล้านบาท และยอดขายตลาดต่างประเทศ (INTER MARKET) เติบโตขึ้น 102% หรือ 6,989 ล้านบาท

      LPN ขยับจ่ายผลตอบแทน 5.10 -5.40% ต่อปี

     นายโอภาส ศรีพยัคฆ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ LPN กล่าวถึงสถานการณ์ที่เป็นอยู่ใน ขณะนี้ว่า “LPN มั่นใจว่าการออกหุ้นกู้ของบริษัทในครั้งนี้ จะได้รับความสนใจจากผู้ลงทุน ซึ่งการระดมทุนด้วยการออกหุ้นกู้ของบริษัทฯ ไม่ได้ออกเสนอขายบ่อยนักในแต่ละปี ถือเป็นโอกาสในการลงทุน และเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับ ผู้ลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนคงที่ในอัตราที่เหมาะสม ในองค์กรที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับที่ลงทุนได้”

     โดยรายละเอียดหุ้นกู้ใหม่ที่ออกมาจำนวน 2 ชุด โดยเป็นการออก และเสนอขายหุ้นกู้ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ให้แก่ผู้ลงทุนทั่วไป และ/หรือ ผู้ลงทุนสถาบัน โดยหุ้นกู้ชุดที่ 1 อายุ 2 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 5.10% ต่อปี และหุ้นกู้ชุดที่ 2 อายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 5.40% ต่อปี หุ้นกู้ทั้ง 2 ชุด กำหนดจ่ายดอกเบี้ยทุกๆ 3 เดือน ตลอดอายุหุ้นกู้ โดยมีมูลค่าจองซื้อขั้นต่ำ 100,000 บาท และทวีคูณ 100,000 บาท คาดว่าเสนอขายวันที่ 23-25 ม.ค.นี้ โดยมีวัตถุประสงค์ในการออกหุ้นกู้ครั้งนี้เพื่อนำไปชำระคืนหุ้นกู้ และ/หรือ เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน ในกิจการภายในปี 2567

     อนึ่ง ตามงบการเงินรวมของบริษัท ณ วันที่ 30 ก.ย. 66 บริษัทมีหุ้นกู้รวม 3,400 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นการออกหุ้นกู้ตั้งแต่ปี 2564 เช่น ออกหุ้นกู้ที่ออกวันที่ 13 พ.ค. 64 และ 17 ก.ย.64 ครบกำหนดในปี 67 อัตราดอกเบี้ยคงที่ 3.95% ยกเว้น หุ้นกู้ที่บริษัทออกเมื่อวันที่ 13 พ.ค. 65 จะครบกำหนดในปี 2568 ให้ผลตอบแทนคงที่ 4.10% เป็นต้น

    ORI ล็อกต้นทุน ดบ.หุ้นกู้

    นายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORI กล่าวว่า เตรียมเสนอขายหุ้นกู้ครั้งที่ 1/2567 เป็นหุ้นกู้ชนิดระบุชื่อผู้ถือ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ต่อผู้ลงทุนทั่วไปและ/หรือลงทุนสถาบัน โดยมีรุ่นอายุ 1 ปี 7 เดือน 16 วัน อัตราดอกเบี้ย4.25% ต่อปี และ 3 ปี อัตราดอกเบี้ย 4.85% ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือนตลอดอายุหุ้นกู้ จองซื้อขั้นต่ำ 100,000 บาท และทวีคูณครั้งละ 100,000 บาท โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่นี้ไปซื้อที่ดินเพิ่มเติมเพื่อพัฒนาโครงการใหม่ ชำระคืนหุ้นกู้ที่ครบกำหนด และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการขยายกิจการของบริษัทต่อไปในปี 2567 หรือปีมังกรนี้

    ทั้งนี้ หุ้นกู้ทั้ง 2 ชุดดังกล่าว ทาง บริษัทฯได้เสนอขายไประหว่างวันที่ 11-12 และ 15 มกราคม 2567 ผ่านสถาบันการเงินซึ่งเป็นผู้จัดการการจำหน่ายทั้ง 7 แห่ง โดยมีแผนเสนอขายวงเงินไม่เกิน 1,500 ล้านบาท และมีหุ้นกู้สำรองเพื่อการเสนอขายเพิ่มเติมอีกไม่เกิน 500 ล้านบาท เพื่อรองรับความต้องการจากนักลงทุนในกรณีที่มีผู้ลงทุนแสดงความสนใจเข้ามามากกว่าที่บริษัทตั้งเป้าไว้

   ขณะเดียวกัน หุ้นกู้ดังกล่าวได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือจากบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2566 ที่ระดับ “BBB+” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” ซึ่งเป็นระดับลงทุนได้หรือ Investment Grade

    อนึ่ง หากตรวจสอบในงบการเงินรวม ณ 30 ก.ย. 66 บริษัทมีมูลค่าหุ้นกู้รวม 7,487 ล้านบาท ส่วนใหญ่จะเป็นหุ้นกู้จะครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2568-2570 อัตราดอกเบี้ยเกิน 4% ยกเว้นในปี 67 ระบุในงบการเงิน จะมี 2 รุ่นที่ครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนส.ค.และ ก.ย. 67

    ผู้สื่อข่าวรายงาน ขณะที่ บริษัทอสังหาฯรายอื่น ได้เตรียมสภาพคล่องรองรับการครบกำหนด เช่น บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค (PF) เตรียมความพร้อมเพื่อชำระหุ้นกู้ตามกำหนด โดยไตรมาสแรกของปี 2567 บริษัทมีหุ้นกู้ครบกำหนดชำระคืนจำนวน 2 ชุด รวม 2,679.1 ล้านบาท เป็นหุ้นกู้ที่ครบกำหนดชำระในวันที่ 22 ม.ค.และวันที่ 23 ก.พ.ซึ่งบริษัทได้จัดเตรียมเงินเพื่อชำระหุ้นกู้ทั้ง 2 ชุดไว้เรียบร้อยแล้ว

    “บริษัทมีทั้งรายได้จากการดำเนินงาน การขายที่ดิน และได้เตรียมวงเงินสนับสนุนจากสถาบันการเงิน ซึ่งสามารถที่จะชำระคืนหุ้นกู้ที่ถึงกำหนดได้ทั้งหมด ในไตรมาสแรกของปีนี้ บริษัทยังมี Backlog รวมทั้งสิ้น 1,870 ล้านบาท ตั้งเป้าปิดการขายโครงการคอนโดฯในประเทศญี่ปุ่นซึ่งเหลือ 3 ยูนิตสุดท้าย และมีแผนการขายที่ดินในทำเลแจ้งวัฒนะ มีรายได้เข้ามาอีกรวม 800 ล้านบาท“ 

    ก่อนหน้านี้ สมาคมตราสารหนี้ไทย เปิดเผยออกมาว่า ปี 2566 ที่ผ่านมา มีหุ้นกู้ออกมาระดมทุนใหม่ไม่ถึง 1,018,690 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อนหน้านี้ และ 91% เป็นหุ้นกู้ Investment grade โดยหุ้นกู้ที่ออกขายใหม่ในปี 66 ในแต่ละกลุ่มหรือระดับความน่าเชื่อถือมีมูลค่าลดลงทั้งหมด เช่น อันดับ เรตติ้ง A มีมูลค่าออกขายใหม่ในปี 66 ที่ 525,695 ล้านบาท ลดลงจากปี 65 ซึ่งออกมาที่ 657,849 ล้านบาท

 

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย