อสังหาฯ ฟันธงปี67ฟื้น! เกาะจีดีพีโต4% แนะรีบซื้อก่อนราคาขยับขั้นต่ำ5%
บุษกร ภู่แส
กรุงเทพธุรกิจ
“การมีรัฐบาลใหม่เข้ามาช่วยกระตุ้นตลาดเชิงจิตวิทยาหวังว่าไตรมาส 4 จะดีขึ้น เพราะเป็นไฮซีซัน คาดส่งผลดียาวไปถึงปี 2567”
เปิดมุมมอง 3 สมาคมอสังหาริมทรัพย์ ฟันธงตลาดปี 2567 ฟื้นตัวตามจีดีพีโต 4% จากปีนี้อยู่ในภาวะ “ทรงตัว” จับตาสงคราม “อิสราเอล-ฮามาส” หวั่นยืดเยื้อกระทบต้นทุน เงินเฟ้อ แนะรีบซื้อก่อนราคาขึ้นปีหน้าขั้นต่ำ 5%
วสันต์ เคียงศิริ นายกสมาคมธุรกิจ บ้านจัดสรร กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ปี 2567 แนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามจีดีพีคาดการณ์ขยายตัว 4% เป็นแรงหนุนต่อเนื่องจากไตรมาส 4 ปีนี้ที่มีการกระตุ้นตลาดจากดีเวลลอปเปอร์และธนาคารให้ได้ยอดขายตามเป้าหมาย หลังจาก ไตรมาส 2 และ 3 ตลาดชะลอตัวจากภาวะสุญญากาศ ช่วงเลือกตั้งจนกระทั่งได้รัฐบาลใหม่
เมื่อเทียบภาพรวมอสังหาฯ ปี 2566 กับปี 2565 พบว่า ตลาดหดตัวลง เฉพาะตลาดบ้านติดลบ 10% สังเกตจากตัวเลขโอนกรรมสิทธิ์ การขออนุญาตจัดสรรลดลงต่อเนื่องตามจีดีพีที่เหลือ 2.8% เทียบกับปี2565
“การที่มีรัฐบาลช้าทำให้กำลังซื้อหายไป เพราะคนขาดความเชื่อมั่น แต่ไตรมาส 4 ดีมานด์ที่ค้างในไตรมาส 2 และ 3 เข้ามา บวกกับ แรงกระตุ้นจากแคมเปญโปรโมชั่นจะช่วยสร้างแรงกระเพื่อมในตลาดขึ้น ทำให้ไฮซีซั่นนี้ ตลาดน่าจะดีขึ้น”
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันดอกเบี้ยเริ่ม “ทรงตัว"ทำให้ความเชื่อมั่นกลับมา ขณะที่ผู้ประกอบการ อสังหาฯ และสถาบันการเงินจัดโปรโมชั่นพิเศษกระตุ้นยอดขายปลายปีสร้างบรรยากาศดีขึ้น
วสันต์ กล่าวต่อว่า อยากให้รัฐบาลสนับสนุน ตลาดอสังหาฯ ให้คึกคักมากขึ้น เพราะเป็นกลไกกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยปลดล็อกมาตรการที่ไม่เอื้อ เช่น LTV ลดหย่อนภาษีที่ดินและ สิ่งปลูกสร้าง 50% ในปีหน้า รวมทั้งทบทวนภาษีที่ดินและราคาประเมินที่ดินใหม่ อย่าเพิ่งปรับขึ้น เพราะเศรษฐกิจยังไม่ดี ทำให้ตลาดหยุดชะงัก!
อาภา อรรถบูรณ์วงศ์ นายกกิตติมศักดิ์และที่ปรึกษาสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า ก่อนโควิดตลาดอสังหาฯ มีมูลค่า 9 แสนล้านบาทแต่หลังเกิดโควิด ผู้บริโภคกลุ่มกลาง-ล่าง ติดกับดักรายได้ลดลง ภาระหนี้เพิ่มขึ้น เนื่องจากได้ใช้เงินในอนาคตผ่านบัตรเครดิต สินเชื่อ ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนพุ่งสูง การอนุมัติสินเชื่อลดลง เพราะสถาบันการเงินเข้มงวดขึ้นกว่าเดิม ส่งผลให้ตลาดคอนโดมิเนียมปี 2566 “ทรงตัว"หลังจากดีมานด์ชะลอตัวในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ขณะที่อัตราดูดซับ “ลดลง” โดยเฉพาะตลาดระดับกลาง-ล่าง รวมทั้งกลุ่มคนต่างชาติที่มีสัดส่วน 10% ของตลาดยังไม่กลับมา ส่งผลให้การซื้อขายลดลง!
“การมีรัฐบาลใหม่เข้ามาช่วยกระตุ้นตลาดเชิงจิตวิทยาหวังว่าไตรมาส 4 จะดีขึ้น เพราะเป็นไฮซีซัน คาดส่งผลดียาวไปถึงปี 2567”
ทั้งนี้ แนวโน้มตลาดอสังหาฯ ปี 2567 ต้นทุนการก่อสร้างเพิ่มขึ้น รวมทั้งวัสดุ ค่าแรงงาน จากปัจจัยภายนอก สงคราม “อิสราเอล-ฮามาส” ส่งผลต่อต้นทุนน้ำมันและราคาบ้านในอนาคต หากยืดเยื้อ ส่งผลต่อภาวะเงินเฟ้อ ทำให้ปีหน้าราคาบ้านและคอนโดปรับเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 5% ดังนั้นผู้บริโภคที่ต้องการที่อยู่อาศัยและมีกำลังซื้อ ควรรีบตัดสินซื้อช่วงปลายปีนี้ เพราะสินค้าส่วนใหญ่เป็นสต็อกเก่าราคาเดิม ตอบโจทย์ทั้งกลุ่มเรียลดีมานด์และนักลงทุน
พรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า แม้ปีนี้ตลาดอสังหาฯ ราคาแพงจะขายดี แต่มีจำนวนน้อยและอยู่ในโซนจำกัด!
“ภาพรวมอสังหาฯ ไม่ดีอย่างคาดการณ์ไว้ ตั้งแต่ต้นปี โดยเฉพาะคอนโดยอดปฏิเสธสินเชื่อสูง 30-50% ส่วนหนึ่งเกิดจากความผันผวน ของเศรษฐกิจภายนอกที่อยู่เหนือการควบคุม เช่น เงินเฟ้อ สงครามอิสราเอล-ฮามาส กระทบต่อการดำเนินธุรกิจ”
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยบวกเริ่มเห็นในโซนอีอีซี พบอัตราการเช่าโรงงานเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อโครงการอสังหาฯ โซนอีอีซี ครอบคลุม 3 จังหวัดภาคตะวันออก ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง เนื่องมีแรงงานแฝงเข้าไปทำงานในพื้นที่เพิ่มขึ้น รวมถึงโรงแรมมีอัตราการเข้าพักเต็ม
“หากนายกฯ สามารถดึงผู้ประกอบการยานยนต์ไฟฟ้ามาลงทุนในไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าของอาเซียนได้จะช่วยกระตุ้นตลาดอสังหาฯ โซนนั้นเติบโตมากขึ้น”
ล่าสุด สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร สมาคมอาคารชุดไทย และสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ร่วมกัน จัดงาน “มหกรรมบ้านและคอนโด ครั้งที่ 44” วันที่ 2-5 พ.ย.นี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อกระตุ้นยอดขายปลายปี โดยมีผู้ประกอบการเข้าร่วม 150 บริษัท ที่อยู่อาศัยมากกว่า 1,000 โครงการ ทั่วประเทศ เป็นคอนโด 35% ทาวน์เฮาส์ 30% บ้านเดี่ยว 20% บ้านแฝด 10% และอื่นๆ เช่น ที่ดิน บ้านมือสอง 5% หรือคิดเป็นสัดส่วนโครงการในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 70% อีก 30% จากเมืองเศรษฐกิจ เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต ชลบุรี คาดสร้างยอดขายในงาน 3,000 ล้านบาท จากผู้เข้าชมงาน 1 แสนคน
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ