ตลาดบ้านหรูฟื้นตัวแรง!
7 เดือนแรกโครงการใหม่ทะลุ 1 แสนล้าน
เอสซีบีเจาะลึกตลาดบ้านหรู 20 ล้านบาทขึ้นไป เริ่มฟื้นตัวหลังรูดม่านโควิด 7 เดือนแรก โครงการใหม่ผุดเป็นดอกเห็ด มีมูลค่าถึง 1.39 แสนล้าน ทำเลยอดนิยมซื้อยอดขายมากสุด โซนสุขาภิบาล 2-3 นำโด่ง ตามด้วยตลิ่งชัน ขณะที่ศรีนครินทร์-อุดมสุข คว้าแชมป์ขายดี ส่วน “ราชพฤกษ์” แนวโน้มสดใส
นายณัฐกฤต พ้นภัยพาล นักวิเคราะห์ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB เปิดเผยว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิดการเปิดขายบ้านหรูซึ่งประกอบไปด้วยบ้านเดี่ยวและบ้านแฝดราคา 20 ล้านบาทขึ้นไป มีการชะลอตัวในปี 2564 แต่กลับมาเพิ่มขึ้นมากในปี 2565 โดยในปีนี้ประเมินว่า จะมีอัตราการเติบโต 10% และขยายตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป ผู้ประกอบการจะเปิดโครงการอย่างระมัดระวังมากขึ้น จากการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้น
“ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ บ้านหรูที่เป็นบ้านเดี่ยวและบ้านแฝดราคา 20 ล้านบาทขึ้นไป เปิดตัวออกมาแล้วมีมูลค่ารวม 139,936 ล้านบาท ขยายตัวสูงจากในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่เปิดตัวรวมกัน 17,246 ล้านบาท”
สำหรับตลาดบ้านหรูในทำเลยอดนิยมในปี 2565 ทำเลที่มีการซื้อขายสูงสุด ได้แก่ สุขาภิบาล 2 และสุขาภิบาล 3 คิดเป็น 15% ของหน่วยขายได้ของตลาดบ้านหรูทั้งหมด รองลงมาเป็นตลิ่งชัน คิดเป็น 11% ลำดับถัดมาเป็นพัฒนาการที่รวมกรุงเทพกรีฑาเข้าไปในพื้นที่ คิดเป็น 10% ศรีนครินทร์-อุดมสุข คิดเป็น 7% และบางนา-ตราด คิดเป็น 5% ในส่วนของทำเลที่มีอัตราการขยายตัวของหน่วยขายได้โดยเฉลี่ย ตั้งแต่ปี 2562-2565 สูงที่สุด ได้แก่ ศรีนครินทร์-อุดมสุข อยู่ที่ 82% รองลงมา ได้แก่ สุขาภิบาล 2 และสุขาภิบาล 3 อยู่ที่ 75% และพัฒนาการ (กรุงเทพกรีฑา) อยู่ที่ 23%
อย่างไรก็ตามทำเลยอดนิยมส่วนใหญ่อยู่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นทำเลที่ไม่ไกลจากใจกลางเมืองมากนัก สามารถเดินทางเข้าถึงได้สะดวกด้วยรถไฟฟ้า และทางด่วน นอกจากนั้น ยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกค่อนข้างมาก ทั้งสนามบินนานาชาติ โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ รวมถึงโรงเรียนนานาชาติชั้นนำ
ขณะที่ทำเลฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ โดยเฉพาะพื้นที่ตลิ่งชัน รวมถึงพื้นที่คาบเกี่ยวโซนราชพฤกษ์เริ่มส่งสัญญาณการขยายตัวมากขึ้น ในระยะต่อไป โดยมีทางด่วนและถนนวงแหวนรอบนอกเชื่อมต่อเขตเมืองรวมถึงมีการขยายตัวของห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ และโรงเรียนนานาชาติในพื้นที่มากขึ้น
นายณัฐกฤต กล่าวอีกว่า ข้อเสนอแนะสำหรับผู้ซื้อ ในช่วงปัจจุบันยังเป็นโอกาสที่ดีในการตัดสินใจซื้อ จากระดับราคาที่ยังปรับตัวเพิ่มขึ้นไม่มากนักและควรพิจารณาเลือกผู้พัฒนาโครงการจากประสบการณ์และผลงานที่ผ่านมา เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้อยู่อาศัย
ส่วนข้อเสนอแนะสำหรับผู้ประกอบการนั้น จากต้นทุนก่อสร้างที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ผู้พัฒนาโครงการควรบริหารจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อรักษาอัตรากำไร รวมถึงพิจารณาการแข่งขันในบางพื้นที่ที่อาจมีความเข้มข้นเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งการนำเสนอไอเดียใหม่ๆ ที่คำนึงถึงการอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมและนำเทคโนโลยี Smart home ใหม่ๆมาปรับใช้
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ