ทุนเก่า-ใหม่ผุดอสังหาฯสงขลา ภาคธุรกิจท่องเที่ยวหนุนกำลังซื้อบ้านโต
นายวรัชญ์ ปริสุทธิ์กุล นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดสงขลา เปิดเผย กับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาวะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จังหวัดสงขลาปี 2566 ยังเติบโตต่อเนื่องจากปี 2565 โดยมีโครงการลงทุนใหม่จากทั้งนักลงทุนรายใหม่และรายเก่าจะขยายตัวเติบโตใกล้เคียงกับปี 2565 ประมาณ 1,000 ยูนิต หรืออาจจะต่ำกว่าปี 2565 เล็กน้อย คิดเป็น มูลค่ารวมประมาณ 3,000 ล้านบาท (ไม่ได้รวมตลาดบ้านนอกสมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดสงขลา) ถือว่าอยู่ในระดับทรงตัว ส่วนตลาดคอนโดมิเนียมในปี 2566 ยังไม่มีการลงทุนเพิ่ม โดยคอนโดมิเนียมขนาดใหญ่หลายโครงการอยู่ระหว่างดำเนินการส่งมอบโครงการในปลายปี 2566 แนวโน้มการลงทุนคอนโดฯใหม่จะเกิดขึ้นในปี 2567
ธนาคารแห่งประเทศไทย สาขาภาคใต้ ธนาคารพาณิชย์ ผู้ประกอบการอสังหา ริมทรัพย์มองไปในทิศทางเดียวกันว่าจังหวัดสงขลา มีข้อดีคือธุรกิจภาคการท่องเที่ยว ยังขยายตัวเติบโตในทิศทางที่ดี เข้ามาช่วยสนับสนุนกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้ ภาคอสังหาริมทรัพย์ยังมีการปรับตัวเติบโตต่อเนื่องท่ามกลางปัจจัยเสี่ยง แต่หันมา ทางภาคเกษตรการเติบโตติดลบ เพราะราคาสินค้าเกษตรตกต่ำทั้งกุ้ง ปาล์มน้ำมัน โดยเฉพาะยางพาราราคาตกต่ำมานาน ส่งผลต่อกำลังซื้อในกลุ่มนี้ แต่ภาคการเกษตร ไม่ใช่ลูกค้าหลักของภาคอสังหาฯ
โดยลูกค้าหลัก ๆ เป็นกลุ่มผู้มีรายได้ประจำ ทั้งพนักงานของรัฐและเอกชน บุคลากรทางการแพทย์ กลุ่มวิชาชีพขั้นสูง กลุ่มย้ายฐาน กลุ่มย้ายอาชีพ กลุ่มนักเรียนนักศึกษา ซึ่งต้องการหาซื้อที่อยู่อาศัย จากการวิเคราะห์ข้อมูลต้นปี 2566 ระบุว่า ผู้ซื้อบ้านส่วนใหญ่เป็นคนภายในจังหวัดสงขลาประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ อีกประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ เป็นคนต่างจังหวัดที่โยกย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่ใน จ.สงขลา และผู้ที่มีบุตรหลานเข้ามาศึกษา และทำงานใน จ.สงขลา ทั้งจากจังหวัดใกล้เคียง โดยเฉพาะจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส โดยบ้านระดับราคาประมาณ 3 ล้านบาทเป็นที่ต้องการของตลาด
“สำหรับราคาบ้านยังไม่มีท่าทีจะปรับตัว เพราะกำลังซื้อยังไม่มา จากปัจจัยเสี่ยงเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเข้ามากระทบ และยังส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ทำให้ต้นทุนการประกอบธุรกิจปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่สถาบันการเงินระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อให้ผู้ซื้อบ้านและผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ดังนั้นในเชิงการตลาดขายได้ก็ต้องขายออกไปก่อน บ้านยอดนิยมอันดับต้น ๆ คือราคาประมาณ 3 ล้านบาทบวกลบ” นายวรัชญ์กล่าว
นายวรัชญ์กล่าวต่อไปว่า ทำเลที่ได้รับความนิยมจากลงทุนอสังหาริมทรัพย์ อันดับ 1 ตั้งแต่โซนย่านบ้านท่าข้าม บ้านควนหิน แยกน้ำกระจาย ถนนลพบุรีราเมศว์ เป็นพื้นที่รอยต่อ อ.บางกล่ำ อ.เมือง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และรองลงมาอันดับ 2 พื้นที่รอยต่อเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ กับเทศบาลเมืองบ้านพรุ เส้นทางสนามบินหาดใหญ่เทศบาลเมืองควนลัง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
นายวรัชญ์กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันมีการบอกขายที่ดินในหลายพื้นที่ แต่ ผู้ประกอบการค้าที่ดิน และผู้ประกอบการ อสังหาริมทรัพย์หลายรายยังมีที่ดินอยู่ในมือ และไม่มีแนวโน้มว่าจะซื้อที่ดินเพื่อมาเก็บไว้ เพราะเกรงจะเสียภาษีที่ดิน ตาม พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ปี พ.ศ. 2562 ซึ่งกำหนดอัตราภาษีที่ดินรกร้างว่างเปล่า แบ่งตามมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ต้องจ่ายภาษีที่ดินเปล่า 0.3-0.7% ดังนั้นธุรกิจการซื้อขายที่ดินจึงหดหายไปจากตลาดนานพอควร
รายงานข่าวจากคลังจังหวัดสงขลา ถึงภาวะเศรษฐกิจจังหวัดสงขลาในเดือนพฤษภาคม 2566 ระบุว่า เศรษฐกิจขยายตัวเติบโตขึ้นโดย supply ได้ขยายตัว +5.4% ด้วยสาเหตุจากภาคบริการขยายตัว +10.7% ทั้งนี้จากภาษีมูลค่าเพิ่มและนักท่องเที่ยวที่มากขึ้น ส่วนภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเติบโต +0.1% และภาคเกษตรกรรม ขยายตัว +0.2% ทางด้าน demand ได้ขยายตัว +5.4% ทั้งนี้มาจากการลงทุนของเอกชนที่ขยายตัว +10.3% และการใช้จ่ายของภาครัฐขยายตัว +7.0% ส่วนการบริโภคภาคเอกชนขยายตัว +4.2% แต่ในส่วน การค้าชายแดนได้หดตัวไป -0.2%
ทางด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจนั้น ดัชนีของผู้บริโภคได้หดตัว -0.5 โดยจากการลดลงของหมวดที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม แต่การจ้างงานได้เพิ่มขึ้น +0.9% ที่สำคัญคือรายได้ของเกษตรกรได้หดตัวถึง -32.4% ทั้งนี้สาเหตุจากราคายางพาราที่ปรับตัวลดลงเนื่องจากความกังวลของเศรษฐกิจโลก ส่วนทางด้านการเงินนั้น ได้มีเงินฝากรวมเพิ่มขึ้น +3.4% สินเชื่อรวมได้ลดลง -3.0% ด้านการคลัง รายจ่ายผลการเบิกจ่าย เพิ่มขึ้น +7.0% รายได้ผลการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้น +11.7% โดยมาจากภาษีบุคคลธรรมดา
ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ